เสียงเอกฉันท์ ชี้ชัดปฏิรูปการศึกษาดีที่สุดต้องให้ “จังหวัดจัดการตัวเอง”
เสียงเอกฉันท์ ชี้ชัด การปฏิรูปการศึกษาดีที่สุดต้องให้ “จังหวัดจัดการตัวเอง” ย้ำปฏิรูปการเรียนรู้ต้องเริ่มจากเล็กไปใหญ่
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 30 “จังหวัดจัดการตัวเอง :การปฏิรูปการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน” ที่ห้องวีนัส โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยนำ 2 จังหวัดจัดการตัวเอง จ.เชียงใหม่ “ล้านนาสไตล์” เน้นสร้างจิตสำนึกและอัตลักษณ์ของคนเชียงใหม่ พัฒนาหลักสูตรทางเลือกที่หลากหลายให้เหมาะสมกับความถนัดและความต้องของเด็ก พร้อมเดินหน้าจัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อชาวเชียงใหม่ทุกคน และ จ.นครราชสีมา “ย่าโมสไตล์” ดึงภาคธุรกิจร่วมหลักสูตรสหกิจศึกษาปฏิรูปการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยเหตุที่มีเด็กยากจนสูงถึงร้อยละ 60 ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา กลายเป็นเด็กเร่ร่อน
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานที่ประชุม กล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องร่วมกันพัฒนาเชื่อมโยงกันเช่นเดียวกับร่างกายของมนุษย์ เมื่อทุกอย่างครบจะมีชีวิต แต่การศึกษาที่ผ่านมาถูกชำแหละออกเป็นส่วนๆ ทำให้ไม่มีชีวิต ในต่างประเทศการศึกษาเป็นเรื่องของท้องถิ่น รัฐบาลกลางมีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณ ทรัพยากรเท่านั้น
กรณีศึกษาทั้ง 2 จังหวัดได้ดึงเครือข่ายมาทำงานร่วมกันเป็นคุณค่าที่ขับเคลื่อนตนเองและเป็นการปฏิรูปการศึกษาจริงๆ ที่ไปเปลี่ยนโครงสร้างทางราบ ไม่ใช่ทางดิ่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้สะท้อนให้เห็นบทบาทของการทำงานถักทอระดับจังหวัด (Social Weaving) ร่วมกันทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และ จ.นครราชสีมาจัดการศึกษาแบบสหกิจศึกษาทำงานร่วมกับหอการค้าซึ่งมีทุกจังหวัดพัฒนาแผนการศึกษาร่วมกัน รวมถึงสำรวจและการสร้างเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ในระดับจังหวัด เพราะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์คือการใช้เหตุผล หลักฐาน ความรู้อยู่ในทุกเรื่องของชีวิต แตกต่างจากวิทยาศาสตร์จะแคบกว่า เพื่อสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและศีลธรรม
“การพัฒนาประเทศต่อไปต้องพัฒนาพลังพลเมืองที่มีจิตสำนึกใช้ความรู้ใช้เหตุผล ดังนั้น กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต้องเข้าไปสู่ทุกเรื่องของมนุษย์ ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำสูง คนเพียง 10% ถือครองทรัพยากร 90% ของประเทศ แต่คนอีก 90% ถือครองทรัพยากรเพียง 10% ซึ่งต้องมีการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เรื่องดีๆ เหล่านี้จากพื้นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศในการเข้าสู่ยุคใหม่แท้จริง” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การสร้างอัตลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วม ความเป็นเอกฉันท์และการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่ กรณี จ.เชียงใหม่ที่นำอัตลักษณ์ของคนเชียงใหม่ คือ “กระบวนการวัฒนธรรม” มาเป็นประเด็นร่วมทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นจุดมัดใจจากทุกภาคส่วน และการจัดตั้งภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ประกอบด้วยองค์กร หน่วยงานสำคัญทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมทั้งจังหวัด เมื่อมีมติเอกฉันท์จึงทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้เร็ว หรือกรณี จ.นครราชสีมา ให้ความสำคัญเรื่องโอกาสและคุณภาพการศึกษา เพื่อตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และการมีงานทำ บทบาทมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์ทางสังคม กลับไปทำสัมมาชีพจัดหลักสูตรสหกิจศึกษา ทวิภาคี ถือเป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ดังนั้น จังหวัดจัดการตนเองกำลังต่อสู้กับแนวดิ่งเป็นบทพิสูจน์เรื่องของอำนาจ อัตลักษณ์ความเป็นจังหวัดของคนในพื้นที่ที่เข้าใจวิถีชีวิตตนเองคือเรื่องที่ดีที่สุด
ขณะที่ ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส.กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาขณะนี้เจาะลงมาแค่การปฏิรูปการเรียนรู้เป็นปัญหาที่พูดไม่รู้จบเรื่องการศึกษา จึงเกิดการปฏิรูปนี้ ล้านนาสไตล์ ปฏิรูปการศึกษาโดยใช้ วัฒนธรรม ศีลธรรมหนุนเนื่องเป็นการสร้างอัตลักษณ์ที่ถูกต้องที่สุด เช่น สมัยก่อนที่เด็กผู้หญิงล้านนาทุกคนจะถูกสอนให้รักศักดิ์ศรีของตนเอง ฉะนั้น การสร้างจิตสำนึกของคนเชียงใหม่เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างยิ่ง แต่เมื่อใดที่ปฏิรูปการเรียนรู้โดยพยายามให้เชียงใหม่เป็น กทม. อย่าเป็นอันขาดเพราะแต่ละที่มีความแตกต่างกัน ส่วน จ.นครราชสีมา จัดการศึกษารูปแบบย่าโมสไตล์ ใช้หลักสูตรสหกิจศึกษา ทวิภาคี โดยการแบ่งกลุ่มเด็กของจังหวัดกลุ่มเด็กเก่งใครอยากเรียนอยากแข่งขันจัดไป แต่จะมีหนทางที่กว้างขึ้นจัดให้ ด้วยบริบทของจังหวัดเป็นเมืองกว้างแต่ทางแคบ จึงมีทางเลือก 2 ทางเท่านั้น คือ เข้ามหาวิทยาลัยกับการหางานทำ ฉะนั้น สัมมาชีพคือทางออกที่ทำให้ทางแคบขยายกว้างออกไป
“การปฏิรูปการศึกษาร่มใหญ่ มี 3 ขั้นตอน คือ 1)เรื่องที่น่าทำ 2)เรื่องที่ควรทำ และ 3)เรื่องที่ต้องทำ การที่ให้จังหวัดปฏิรูปตนเอง ทำให้จังหวัดต้องลงไปสู่เรื่องที่ต้องทำ ตอนนี้ต้องคิดว่าเรื่องใดที่น่าทำพักไว้ก่อน ส่วนเรื่องที่ควรทำต้องคิดเตรียมไว้ เพราะตอนนี้ทุกคนต้องทำเรื่องที่ต้องทำ โดยเริ่มจากใจที่อยากมาทำ ส่วนประเด็นเรื่องการนำเด็กไปเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ที่ต่างๆ ตนเคยต่อสู้มานานในเรื่องการประกันภัย จนแต้มเรื่องนี้ เพราะการเปิดกว้างพาเด็กออกไปเรียนรู้ มีรายละเอียดเยอะมาก ทั้งการเตรียมการก่อนเรียนรู้ การเดินทางที่ต้องมีระบบประกันภัยให้เด็ก จึงต้องเห็นใจครู เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดคนที่รับผิดชอบคือครูเท่านั้น ฉะนั้น การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ต้องเริ่มจากเรื่องเล็กไปสู่เรื่องใหญ่ คือการให้จังหวัดจัดการปฏิรูปตนเอง เพราะแต่ละจังหวัดมีสไตล์ของตนเอง” ศ.กิตติคุณ สุมน กล่าว