ศ.วิทิต มันตาภรณ์ ค้านอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ ยันขัดหลักมนุษยธรรม
กระทรวงพัฒนาการสังคมฯ ส่งร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอุ้มบุญฯ ถึงมือ คสช.กำหนดบทลงโทษพ่อ แม่ และแม่ที่รับอุ้ม ขณะที่อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ แนะแยกให้ออกระหว่างอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ กับด้านมนุษยธรรม
ภาพจาก thaipbs
ศ.วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีชาวต่างชาตินิยมมาว่าจ้างสาวไทย อุ้มบุญ โดยได้รับค่าจ้างเป็นสิ่งตอบแทนว่า กรณีนี้เป็นการอุ้มบุญที่กระทำนอกดินแดน ซึ่งออสเตรเลียมีกฎหมายห้าม แต่คนออสเตรเลียบินมากรุงเทพฯ มาว่าจ้างอุ้มบุญที่ประเทศไทย แต่หากไปสหรัฐฯ ก็จะไม่เกิดเรื่อง ฉะนั้น เรื่องนี้ต้องมองให้ออกว่า เป็นการอุ้มบุญที่ทำในเชิงพาณิชย์ หรือเป็นกรณีของครอบครัวที่ต้องการมีบุตร
“เช่นกรณีที่สหรัฐฯ การอุ้มบุญมีการว่าจ้างเป็นหมื่นดอลล่าร์สหรัฐฯ เห็นกันคาตา อย่างนี้ผมว่า แปลก และไม่เห็นด้วยเพราะสุ่มเสี่ยงต่อการขายเด็กมาก”ศ.วิทิต กล่าว และว่า อยากให้มองการอุ้มบุญควบคู่กับเรื่องมนุษยธรรมด้วย เช่น ให้ความช่วยเหลือบริการนิดหน่อย แต่ไม่ใช่มองเรื่องราคา หรือการขาย ดังนั้น ต้องวัดการอุ้มบุญกับทำในเชิงพาณิชย์หรือไม่
สำหรับร่างกฎหมายอุ้มบุญ ศ.วิทิต กล่าวว่า มีอยู่แล้ว หรืออย่างน้อยที่สุดหากยังไม่มีกฎหมาย ต้องวัดที่หลักมนุษยธรรมห้ามทำในเชิงพาณิชย์ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการขายมนุษย์ ขายอวัยวะ และน่าจะมีคำชี้แนะจากฝ่ายแพทย์ให้แพทย์เข้าใจกัน
“เรื่องนี้ต้องแยกให้ออกระหว่างอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ กับด้านมนุษยธรรม หากมองด้านมนุษยธรรมแม้แต่เรื่องสเต็มเซลล์ หรือโคลนนิ่งเพื่อทางการแพทย์นั้น ยังพอรับได้ ไม่ได้ว่าอะไร แต่หากทำเพื่อธุรกิจก็ไม่สวย เอาส่วนของมนุษย์ไปใช้ทางการค้า ขัดกับหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย” ศ.วิทิต กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ล่าสุดกระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กโดยอาศัยเทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ให้ฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมพิจารณา ซึ่งเนื้อหาในกฎหมายเน้นคุ้มครองผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก มีบทลงโทษพ่อแม่ และแม่ที่รับอุ้มบุญ เนื่องจากขณะนี้สามารถเอาผิดได้เพียงแค่แพทย์และสถานพยาบาลเท่านั้น ด้วยยังไม่มีกฎหมายรองรับ