ย้อนรอยเบื้องหลังคดี "สนธิ ลิ้มฯ” ก่อนศาลอุทธรณ์ยืนโทษจำคุก 20 ปี
"..คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เห็นว่าที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าไม่มีเจตนาทุจริต และไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จึงขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษนั้น เห็นว่าการกระทำของจำเลย เป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นถือว่าเป็นโทษต่ำสุดแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากษายืน.."
พลันที่ ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษา ยืนโทษจำคุก 20 ปี นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตผู้บริหารกลุ่มแมเนอร์เจอร์ มีเดีย ในคดีที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ร่วมกับ นายสุรเดช มุขยางกูร ,นางสาวเสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ และ นางสาวยุพิน จันทนาอดีตผู้บริหาร และ กรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.57 ที่ผ่านมา
สปอร์ตไลท์ทุกดวงในสังคมไทย ต้องหันกลับมาให้ความสนใจในตัวของ "เจ้าพ่อสื่อ" ผู้นี้ทันที
เพราะต้องยอมรับกันว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บทบาทและท่าทีของนายสนธิ ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก ในฐานะแกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน
ขณะที่นายสนธิ ก็เคยประกาศลั่นกลางศึกครั้งนั้น ว่าจะสู้ไม่ถอย ชนิด "เจ๊งเป็นเจ๊ง"
มาวันนี้ชะตากรรมของ นายสนธิ กำลังเข้าขั้นวิกฤตเต็มรูปแบบ!
หากจะย้อยกลับไปถึงสาเหตุสำคัญเกี่ยวกับคดีนี้ มีจุดเริ่มต้นจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เผยแพร่ข่าว เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี และปรับ นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทอินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) (“IEC”) จำนวน 1,178.25 ล้าน บาท
กรณีลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อลวงให้ IEC หรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะ ที่เป็นทรัพย์สินของ IEC และกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเอง
ถ้าอ่านผ่านๆ ก็เหมือนคดีทั่วไปที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ฯกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ทำให้บริษัทเสียหายซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ
แต่ถ้าใครที่ติดตามคดีนี้มาตลอด10 ปีจะรู้ว่า คดีนี้โยงถึง(อดีต?)เจ้าพ่อในวงการสื่อสารมวลชนคือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งเครือเอเอสทีวีผู้จัดการและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.)ด้วย
ทั้งนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสุรเดช มุขยางกูร(จำแลยคดี IEC) น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ และ น.ส.ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บมจ. แมเนเจอร์ มีเดียกรุ๊ป (ถูกพิพากษาล้มละลายเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 คดีหมายเลขแดงที่ ลฟ. 5/2541 )เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากนายสนธิ กับพวกซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ร่วมกันลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทแมเนเจอร์ ฯ( MGR) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2539-30 เมษายน 2540 เพื่อ ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน จำนวน 1,078 ล้านบาทให้แก่บริษัทเดอะ เอ็ม. กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ MGR โดยที่คณะกรรมการ MGR ไม่ ได้รับทราบ
ต่อมา เดอะ เอ็ม. กรุ๊ป ได้ผิดนัดชำระเงินกู้ส่งผลให้ MGR ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับภาระเป็นผู้ชำระหนี้ ให้กับธนาคารกรุงไทยฯ เป็นจำนวนเงิน 259 ล้านบาท
การกระทำดังกล่าวของบุคคลทั้ง 4 ราย เป็นการกระทำทุจริตโดยใช้ อำนาจที่ตนได้รับมอบหมาย แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้เพื่อผู้อื่น อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและผลประโยชน์ของ MGR โดยตรง
คดีดังกล่าวเริ่มจากบริษัท IEC ค้ำประกันเงินกู้ให้กับบริษัท เดอะ เอ็มกรุ๊ป(มีนายสนธิ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารและเป็นบริษัทแม่ของ IEC) ซึ่งกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย 1,198 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 แต่ทาง IEC ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทยทราบซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
อย่างไรก็ตาม นายชัยอนันต์ สมุทรวณิช ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ(ในขณะนั้น)และเป็นประธานกรรมการ IEC ในช่วงที่มีการค้ำประกันเงินกู้ออกมาปฏิเสธว่า คณะกรรมการ IEC ไม่เคยอนุมัติให้ค้ำประกันเงินกู้ให้เดอะ เอ็มกรุ๊ป แต่ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งของ IEC ปลอมมติคณะกรรมการ
ขณะที่นายสุรเดช อดีตกรรมการผู้อำนวยการ IEC ยอมรับกับสำนักงาน ก.ล.ต.ว่า IEC ค้ำประกันเงินกู้ให้เดอะ เอ็มกรุ๊ปจริง
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2542 สำนักงาน ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษนายสุรเดช ต่อพนักงานสอบสวนโดยกล่าวหาว่า ปลอมหรือยินยอมให้มีการปลอมสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท IEC เพื่อลวงให้ธนาคารกรุงไทยหลงเชื่อว่า คณะกรรมการบริษัท IEC มีมติให้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ในนามบริษัท IEC เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์มาตรา 312 ระหว่างโทษจำคุก 5-10 ปี และยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานปลอมแผลงเอกสารด้วย
สำนักงาน ก.ล.ต.ตรวจสอบข้อมูลกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม จนกลางเดือนตุลาคม 2543 จึงได้กล่าวโทษ นายสนธิ นายสุรเดช นางสาวเสาวลักษณ์ และนางสาวยุพิน อดีต กรรมการบริษัท MGR ร่วมกันปลอมเอกสารในการทำสัญญาร่วมค้ำประกันการกู้จำนวน 1,073 ล้านบาทให้แก่บริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ปจากธนาคารกรุงไทยโดยคณะกรรมการบริษัท MGR มิได้รับทราบและมิได้มีการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินของบริษัท MGR
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์มาตรา 307, 311 312 ซึ่งแต่ละกระทง ระวางโทษจำคุก 5-10 ปีและยังมีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และ 268
หลังจากนั้นคดีนี้ได้เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลอย่างเต็มรูปแบบ ก่อนที่ศาลชั้นต้น จะพิพากษาจำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยที่ 1 และ นางสาวเสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ จำเลยที่ 3 คนละ 85 ปี และนางสาวยุพิน จันทนา จำเลยที่ 4 จำคุก 65 ปี ส่วนนายสุรเดช มุขยางกูร จำเลยที่ 2 ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี
แต่จำเลยทั้ง 4 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกนายสนธิ จำเลยที่ 1 และ นางเสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 คนละ 42 ปี 6 เดือน และนางสาวยุพิน จำเลยที่ 4 จำคุก 32 ปี 6 เดือน ส่วนนายสุรเดช จำเลยที่ 2 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน
แต่โทษสูงสุดในความผิดฐานดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี จึงลงโทษจำคุก นายสนธิ จำเลยที่ 1 , นางเสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 และ นางสาวยุพิน จำเลยที่ 4 คนละ 20 ปี แต่ต่อมานายสนธิ พร้อมด้วยนางเสาวลักษณ์ และนางสาวยุพิน ยื่นอุทธรณ์
ล่าสุดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เห็นว่าที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าไม่มีเจตนาทุจริต และไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จึงขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษนั้น เห็นว่า
การกระทำของจำเลย เป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นถือว่าเป็นโทษต่ำสุดแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากษายืน
ขณะที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ ให้สัมภาษณต่อสื่อมวลชนว่า จะใช้หลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ ซึ่งเป็นหลักทรัพย์เดิม มูลค่า 10 ล้าน เพื่อขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคำร้องของศาลว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่
ส่วนชะตากรรมของนายสนธิ และผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องไปรอลุ้นในชั้นศาลฏีกา
เป็นคำตอบสุดท้าย!
---------
รายละเอียดคดีจำคุกอดีตผู้บริหาร IEC
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากวันที่ 28 พฤศจิกายน 2542 ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษนายสุรเดช กรณีลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทที่มีข้อความว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของ IEC ได้อนุมัติให้IEC เข้าทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ของบริษัทเดอะ เอ็ม.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของบริษัทเดอะ เอ็ม.กรุ๊ปฯ ต่อธนาคารกรุงไทยฯในนามของ IEC อันเป็นกิจการที่เกินขอบเขตที่คณะกรรมการของ IEC ได้กำหนดไว้และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของ IEC ก่อน ทำให้ IEC มีภาระหนี้ค้ำประกันจำนวน 1,178 ล้านบาท อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 307 311 312(2) ประกอบ 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554 ศาลอาญาฯพิพากษาว่านายสุรเดช มีความผิดตามมาตรา 307 311 312(2) และ 313 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตาม มาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยลงโทษ (1) ฐานเป็นกรรมการลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมเพื่อลวงให้นิติบุคคลหรือผู้ ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ตามมาตรา 312(2) แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 500,000 บาท
และ (2) ฐานเป็นกรรมการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคล
และ (3) ฐานเป็นกรรมการกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นตามมาตรา 307 311 ประกอบ 313 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงลงโทษตามมาตรา 313 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 2,356,000,000 บาท
แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 2 ปี 6 เดือน ปรับกระทงละ 250,000 บาท และ1,178ล้าน บาท ตามลำดับ รวมลงโทษจำคุก 4 ปี 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลจาก prasong.com,รูปประกอบจาก Google