“คสช.”แก้ทำไม ป.วิอาญา ตัด”อำนาจผู้ว่าฯ” หรือหวังคุมอัยการ?
“..อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกา”เล่าให้ฟังว่าตามกฎหมายเดิมก่อนการประกาศฉบับนี้ อำนาจของอัยการที่เด็ดขาดและเป็นที่วิจารณ์มาทุกยุคสมัยคืออำนาจการสั่งไม่ฟ้อง เพราะเมื่ออัยการไม่ฟ้องคดีก็ไม่ไปถึงศาล แต่ระบบกฎหมายจริงๆไม่ได้ต้องการให้อัยการมีอำนาจมากขนาดเช่นนั้น.."
”กระทรวงมหาดไทย” ในยุคนี้ นอกจากไม่ได้อำนาจอะไรมากขึ้นในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แต่อำนาจในมือบางอย่างก็ได้หลุดลอยไปด้วย อันเป็นผลจากประกาศคสช.ฉบับท้ายๆ ก่อนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เมื่อ 22 ก.ค. 57
ประกาศดังกล่าวก็คือ ประกาศคสช.ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา มาตรา145/1 ที่มีการลงนามประกาศใช้โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 21 ก.ค.ก่อนประกาศใช้รธน.ฉบับชั่วคราวหนึ่งวัน โดยเป็นประกาศที่ คสช.ไม่ได้มีการประกาศเผยแพร่ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเหมือนประกาศคสช.ร้อยกว่าฉบับก่อนหน้านี้แต่อย่างใด
ทั้งนี้ สาระสำคัญของประกาศดังกล่าวระบุหลักการเหตุผลและข้อกฎหมายที่มีการแก้ไขดังนี้
“โดยที่เป็นการสมควรในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้วิธีพิจารณาความอาญา ในส่วนที่เกี่ยวกับการสอบสวนมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น คสช.จึงมีประกาศดังต่อไปนี้
ข้อ 1ให้เพิ่มข้อความดังต่อไปนี้เป็นมาตรา 21/3แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“มาตรา 21/3 สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือในกองบัญชาการเดียวกัน ควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนนั้นเป็นผู้ชี้ขาด การรอคำสั่งชี้ขาด ไม่เป็นเหตุให้งดการสอบสวน”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและให้ใช้ข้อความดังต่อไปนี้แทน
“ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกคุมขังอยู่แล้ว หรือผู้ต้องหาที่ถูกแจ้งข้อหาได้หลบหนีไป”
ไฮไลท์สำคัญคือข้อ 3 ของประกาศดังกล่าวที่ระบุว่า ข้อ 3 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นมาตรา 145/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“มาตรา 145/1 สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด ถ้าในกรุงเทมมหานครให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผบ.ตร.หรือผช.ผบ.ตร.
ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่ง เสนอผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่ทั้งนี้มิได้ตัดอำนาจของพนักงานอัยการที่จะจัดการอย่างใดแก่ผู้ต้องหาดังบัญญัติไว้ในมาตรา 143
ในกรณีที่ผบ.ตร. รองผบ.ตร. ผช.ผบ.ตร. ในกรุงเทพมหานคร หรือผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในจังหวัดอื่นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความหรือมีเหตุอย่างอื่นจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของผบ.ตร. –รองผบ.ตร. –ผช.ผบ.ตร. –ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการ ดังกล่าวแล้วแต่กรณีไปก่อน
บทบัญญัตินี้ให้นำมาบังคับ ในการที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์ ฏีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฏีกาโดยอนุโลม “
ให้มีผลตั้งแต่บัดนี้ 21 ก.ค.เป็นต้นไป
สาระสำคัญของประกาศดังกล่าวในข้อ 3 ก็คือ เป็นประกาศที่แก้ไขเพิ่มเติมป.วิอาญาที่ใช้กันมาหลายสิบปี ตั้งแต่ยุคตำรวจยังสังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งที่ผ่านมามีบางหน่วยงานมีแนวคิดจะแก้ไขเรื่องนี้มาตลอดแต่ก็ไม่สบโอกาส จนกระทั่งมาถึงยุคคสช. ที่ทำแบบฉับไวรวดเร็ว จนบางหน่วยงานตั้งตัวไม่ติด
หัวใจสำคัญของประกาศฉบับนี้ก็คือ การเปลี่ยนระบบการสั่งคดีและการถ่วงดุลคดีอาญาในต่างจังหวัด คือจากจากเดิมก่อนวันที่ 21 ก.ค. 57 ในการสอบสวนคดีอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องคดีอาญากับบุคคลใดแล้ว และส่งสำนวนให้อัยการเช่น อัยการจังหวัด หากอัยการ มีความเห็นแย้ง คือ ”เห็นควรสั่งไม่ฟ้อง” ก็จะส่งสำนวนและความเห็นทั้งของตำรวจและอัยการไปที่ “ผู้ว่าราชการจังหวัด”นั้นๆ เพื่อให้ ผู้ว่าฯ มีความเห็นชี้ขาดในคดี ว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งหากผู้ว่าฯ เห็นควรสั่งไม่ฟ้องตามอัยการจังหวัด เรื่องก็จบ แต่หากผู้ว่าฯ เห็นแย้งกับอัยการ คือเห็นควรสั่งฟ้องตามพนักงานสอบสวน ก็จะต้องส่งสำนวนกลับไปให้อัยการสูงสุดชี้ขาด
อย่างไรก็ตาม ประกาศคสช.ฉบับที่ 115/2557 มีการแก้ไข โดยมีสาะสำคัญคือคดีอาญาในต่างจังหวัด หากพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องแต่อัยการเห็นแย้งคือสั่งไม่ฟ้อง ก็ให้เอาสำนวนไปให้ ผู้บัญชาการภาคหรือรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนั้นๆ สังกัดอยู่ ชี้ขาด ซึ่งหากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคหรือรองผู้บัญชาการภาค เห็นด้วยกับอัยการคือสั่งไม่ฟ้อง เรื่องก็จบ แต่หากกลับกันคือ เห็นตามพนักงานสอบสวนคือให้สั่งฟ้อง แบบนี้ ก็ต้องส่งสำนวนไปให้อัยการสูงสุดชี้ขาดเป็นคนสุดท้าย
จะเห็นได้ว่า ประกาศดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นการตัดอำนาจผู้ว่าฯ ในเรื่องการสั่งคดีออกไป แล้วก็ไปเพิ่มอำนาจให้กับตำรวจคือกองบัญชาการภาค(ผบช.-รองผบช.ภาค) ที่เป็นต้นสังกัดใหญ่ของตำรวจในต่างจังหวัดที่อยู่แต่ละกองบังคับการจังหวัดให้มากขึ้น
ประกาศดังกล่าว หากเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ปกติ ที่ไม่ใช่คณะรัฐประหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างเช่นในปัจจุบัน เชื่อได้ว่า ทางก.มหาดไทย-ผู้ว่าฯ และอัยการ คงออกมาแสดงความเห็นคัดค้านกันดังอื้ออึงแล้ว แต่ด้วยเหตุที่ คสช.มีอำนาจเด็ดขาดเช่นนี้ จึงทำให้ไม่มีเสียงคัดค้านประกาศดังกล่าวดังออกมาแม้แต่น้อย ทุกฝ่ายเงียบกริบกันหมดทั้งก.มหาดไทย-สำนักงานอัยการสูงสุด โดยไม่มีการแสดงความเห็นให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า ประกาศฉบับนี้มีผลดี-ผลเสีย อย่างไร ต่อกระบวนการยุติธรรม
ทั้งที่ผู้คนในวงการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ให้ความสนใจอย่างมากกับประกาศฉบับนี้ ที่ต่างก็มีมุมองแตกต่างกันไป บ้างก็เห็นด้วย บ้างก็ไม่เห็นด้วย
ในส่วนของ ก.มหาดไทย ที่ผู้ว่าฯเสียอำนาจส่วนนี้ไปโดยทันที ก็มีแต่ข่าวซึ่งสื่อนำเสนอโดยอ้างอิงว่าเป็น”แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย”ที่ไม่ยอมเปิดเผยตัวตน แต่ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ก่อนหน้าจะมีการออกประกาศดังกล่าว ไม่กี่ชั่วโมง คือในวันที่ 21 ก.ค. ทางนายวิษณุ เครืองาม ที่เป็นทั้งที่ปรึกษากฎหมายคนสำคัญของคสช.และยังเป็นกรรมการกฤษฏีกา ได้มีการประชุมตัวแทน 3 ฝ่ายคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานอัยการสูงสุด ฝ่ายละ 3 คนไปร่วมประชุมกัน ที่ห้องประชุมพระยามานวราชเสวี อาคารสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 21 ก.ค. อันมีนาย วิษณุ เป็นประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องประกาศฉบับที่115/2557 ดังกล่าว
ข่าวระบุว่า ในที่ประชุมทางตัวแทนก.มหาดไทยและอัยการแม้จะคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่คสช.จะออกประกาศฉบับนี้ โดยให้เหตุผลเรื่องการถ่วงดุลกันระหว่าง ตำรวจ-อัยการ-ฝายปกครอง แต่สุดท้าย ก็ไม่สำเร็จ มีการออกประกาศดังกล่าวลงนามโดยหัวหน้าคสช.ออกมาจนได้
โดยคนมหาดไทยทำได้แต่ส่งเสียงไม่เห็นด้วยผ่านสื่อแบบไม่เปิดเผยตัวตนว่าประกาศฉบับนี้ เป็นการไปเพิ่มอำนาจให้ตำรวจมากเกินไป ทำให้เสียสมดุลในเรื่องการสั่งคดี กระนั้นก็พบว่า เสียงไม่เห็นด้วยดังกล่าวจากฝ่ายก.มหาดไทย ถึงตอนนี้ก็พบว่าได้เงียบหายไปกับสายลมแล้ว เพราะคงไม่มีบิ๊กมหาดไทยหรือผู้ว่าฯคนไหนกล้าแย้งประกาศที่ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์แน่ แม้ต่อให้ไม่เห็นด้วยอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ก็มีความเห็นอีกด้านที่น่าสนใจต่อประกาศดังกล่าว ซึ่งเป็นมุมที่ฝ่ายก.มหาดไทย ไม่ได้มีการสื่อสารต่อสังคม
โดยแหล่งข่าวที่เป็น ”อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกา”คนหนึ่งที่ก่อนจะมาเป็นผู้พิพากษาก็เคยเป็นอัยการมาก่อน ให้ความเห็นเรื่องประกาศคสช.ฉบับที่ 115/2557กับ”ทีมข่าวอิศรา”ว่า เห็นด้วยกับประกาศฉบับนี้เพราะที่ผ่านมา การสอบสวนคดีอาญาในต่างจังหวัดมีปัญหามาก อันเป็นเรื่องที่ทั้งตำรวจ-อัยการ-ศาล-ผู้ว่าฯ ต่างก็รู้ถึงปัญหานี้ดีและต้องการให้มีการแก้ไขป.วิอาญามานานแล้วแต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะหากเป็นสถานการณ์ปกติ ไม่มีทางที่ “รมว.มหาดไทย”ที่ก็จะเป็นแกนนำพรรครัฐบาลยอมให้มีการลดอำนาจก.มหาดไทย-ผู้ว่าฯลงแน่นอน แต่ที่คสช.ทำได้เพราะคสช.มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์จึงทำได้รวดเร็วเช่นนี้ หากเป็นสถานการณ์ปกติที่การแก้ไขป.วิอาญาต้องทำผ่านรัฐสภา คงยากจะแก้ได้รวดเร็วแบบประกาศคสช.ฉบับนี้
“อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกา”เล่าให้ฟังว่าตามกฎหมายเดิมก่อนการประกาศฉบับนี้ อำนาจของอัยการที่เด็ดขาดและเป็นที่วิจารณ์มาทุกยุคสมัยคืออำนาจการสั่งไม่ฟ้อง เพราะเมื่ออัยการไม่ฟ้องคดีก็ไม่ไปถึงศาล แต่ระบบกฎหมายจริงๆไม่ได้ต้องการให้อัยการมีอำนาจมากขนาดเช่นนั้น
ซึ่งขั้นตอนการสั่งคดีอาญาในต่างจังหวัด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของเดิมก่อนมีประกาศคสช. ถ้าตำรวจสั่งฟ้อง แล้วอัยการสั่งไม่ฟ้อง กฎหมายเดิมให้ส่งสำนวนและความเห็นไปยังผู้ว่าฯ ในจังหวัดนั้นๆ ถ้าผู้ว่าฯ สั่งไม่ฟ้องตามอัยการก็จบ แต่ถ้าผู้ว่าฯแย้งอัยการคือเห็นควรสั่งฟ้องตามพนักงานสอบสวน ก็ต้องส่งไปให้อัยการสูงสุดชี้ขาด
“ปัญหาที่ผ่านมาก็คือ ผู้ว่าฯ ไม่รู้กฎหมายเท่าอัยการ ไม่รู้เรื่องการสอบสวน อีกทั้งไม่มีคนคอยตรวจสำนวนการสอบสวนให้ทั้งหมด แม้จะมีรองผู้ว่าฯ มีปลัดอำเภอ มีความรู้กฎหมาย แต่พวกนั้นเป็นนักปกครองแล้ว ไม่ได้ทำงานด้านกฎหมายโดยตรง ทำให้คดีส่วนใหญ่ผู้ว่าฯก็จะเห็นตามอัยการเป็นส่วนใหญ่ คือสั่งไม่ฟ้องตามอัยการ ไม่ได้เห็นแย้งกับอัยการ
จุดนี้น่าจะเป็นที่มาของการที่คสช.ออกประกาศฉบับนี้เพราะเห็นปัญหา เลยแก้เป็นหากอัยการเห็นแย้งสั่งไม่ฟ้อง ก็ให้ส่งสำนวนไปผู้บัญชาการภูธรภาคตรวจ ที่เขาต้องคุมลูกน้องอีกที ซึ่งหากคดีไหน อัยการสั่งไม่ฟ้อง ที่ก็มีไม่มากก็แสดงว่าตำรวจที่ทำคดีมันต้องมีอะไรแล้ว ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ก็ต้องไปดูแล้วว่าลูกน้องทำอะไรทำไมอัยการสั่งไม่ฟ้องมีอะไรผิดปกติไหม มันก็จะเกิดระบบเช็คกันเองทั้งตำรวจและอัยการ”
ประกาศดังกล่าว “อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกา”ชี้ว่า ดูแล้วเป็นการแก้ประกาศเพื่อให้มีการคานอำนาจ ไม่ต้องการให้อัยการใช้อำนาจพร่ำเพรื่อโดยขาดการตรวจสอบ ไม่ใช่ประกาศที่มุ่งหวังจะไปแตะเรื่องอำนาจการสอบสวน แต่ไปแตะเรื่องอำนาจการชี้ขาด ที่แม้ทำให้ฝ่ายปกครองเสียอำนาจไป ก.มหาดไทยอาจไม่พอใจบ้าง แต่ภาพรวมหลังจากนี้จะทำให้เกิดการควบคุมการสั่งคดีองอัยการได้ดีกว่าของเดิม
นี้คือข้อมูลอีกด้านหนึ่งในทัศนะของอดีตผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ในศาลฏีกา ที่วิเคราะห์ประกาศดังกล่าวของคสช.ด้วยความเห็นที่คนก.มหาดไทยคงเห็นแย้งแน่นอน
ล่าสุด “ทีมข่าวอิศรา” ได้รับทราบมาว่า สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือ”ด่วนที่สุด”เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสำนวนคดีอาญาตามประกาศ คสช. อันเป็นหนังสือของสำนักงานอัยการสูงสุด ลงวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งส่งถึง ข้าราชการอัยการทุกระดับตั้งแต่ระดับรองอัยการสูงสุด อัยการจังหวัด จนถึงผู้อำนวยการสำนักงานในสำนักงานอัยการฯ ที่มีนาย มนัส สุขสวัสดิ์ รองอัยการสูงสุด เป็นผู้ลงนาม
หนังสือดังกล่าว มีใจความโดยสรุปว่า ด้วยประกาศคสช.ฉบับที่ 115/2557เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น
“สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าประกาศคสช.ฉบับดังกล่าว มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการเกี่ยวกับสำนวนคดีอาญา ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการในการอำนวยความยุติธรรม ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน”
หนังสือดังกล่าว พูดถึงประกาศคสช.ข้อที่ 3 ที่ให้ส่งสำนวนไปให้ผู้บัญชากาตำรวจภูธรภาค หากอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง จากเดิมส่งให้ผู้ว่าฯ ไว้ดังนี้
“ ในสำนวนคดีอาญาในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่กรุงเทพมหานคร สำนวนคดีอาญาที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฏีกา ตั้งแต่ 21 ก.ค.เป็นต้นไปให้เสนอสำนวนคดีต่อผู้บัญชาการตำรวจหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบพิจารณา”
อันหมายถึงว่า อัยการก็ไม่ได้”เห็นแย้ง-ไม่เห็นด้วย”และพร้อมปฏิบัติตามประกาศคสช.แต่โดยดี แต่ในใจลึกๆ เป็นยังไง ไม่มีใครล่วงรู้ได้?