มีเดียมอนิเตอร์ พบ "นสพ.กีฬา"เสนอเนื้อหาพนันบอลโลกมากสุด
มีเดียมอนิเตอร์พบ “หนังสือพิมพ์กีฬา” มีเนื้อหา “การพนันบอลโลก 2014” มากที่สุด เสนอให้มี กลไกการกำกับดูแลสื่อ และสื่อสารการพนันกีฬา ทุกประเภท
ผลการศึกษาเนื้อหาการพนันฟุตบอลโลก 2014 รอบ 32 ทีม และรอบ 8 ทีม แสดงให้เห็นว่า สื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์มีความระมัดระวังในการนำเสนอ ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการพนัน โดยเน้นการนำเสนอข้อมูลทั่วไป(I) เป็นหลัก มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นเนื้อหาประเภทการทำนายผล (P) และไม่ปรากฏข้อมูลที่เกี่ยวกับการพนันและอัตราการต่อรองโดยตรง ในขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์กีฬาพบเนื้อหาที่เกี่ยวกับอัตราต่อรอง (H) รวมทั้ง ข้อมูลสถิติต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การพนันอย่างชัดเจน สอดคล้องกับผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ในรอบฟุตบอลโลก 2006 และฟุตบอลยูโร 2008 จนอาจสรุปได้ว่า สื่อหนังสือพิมพ์กีฬาเป็นสื่อหลักที่ให้ข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการพนัน
หน่วยการศึกษา เนื้อหาการพนันในฟุตบอลโลก 2014 รอบ 32 ทีม และรอบ 8 ทีม ใน 3 สื่อ ได้แก่
1. หนังสือพิมพ์กีฬา 5 ฉบับ ได้แก่ สตาร์ซอคเก้อร์ สปอร์ตพูล สปอร์ตแมน เจาะเกมส์ และ ตลาดลูกหนัง ฉบับวางขายวันที่ 18 มิ.ย. 2557 (รอบ 32 ทีม) และ วันที่ 4-5 ก.ค. 57 (รอบ 8 ทีม )
2. วิทยุกระจายเสียงคลื่นกีฬา จำนวน 3 คลื่น ได้แก่ FM 96 สปอร์ตเรดิโอ FM 97 คลื่นข่าวคุณภาพ และ และ FM 99 แอคทีฟเรดิโอ ออกอากาศวันที่ 18 มิ.ย. 2557 (รอบ 32 ทีม ) และวันที่ 4-5 ก.ค. 57 (รอบ 8 ทีม ) ช่วงเวลา 15.00-23.00 น.
3. โทรทัศน์ แบ่งเป็น
- ช่องลิขสิทธิ์และที่ได้สิทธิในการถ่ายทอดสด จำนวน 3 ช่องได้แก่ ช่อง 5 ช่อง 7 และ ช่อง 8 ในช่วงวันที่ 18-20 มิถุนายน 2557 (รอบ 32 ทีม) ช่วงเวลา 15.00-23.00 น.
- ช่องดิจิตอลที่มีการปรับผังรายการรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลก 4 ช่อง ได้แก่ ช่องไทยรัฐทีวี ช่อง PPTV ช่อง NOW 26 และช่อง MCOT HD และช่องทีวีดาวเทียมกีฬา 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง SMMTV ช่อง T-Sport และช่อง FIFA World Cup ในช่วงวันที่ 4-5 ก.ค. 57 (รอบ 8 ทีม) ช่วงเวลา 15.00-23.00 น.
เกณฑ์การศึกษา ใช้รหัส I P H และ G ในการวิเคราะห์เนื้อหา โดย
I คือ General Information หรือ ข้อมูลทั่วไป เช่น ตารางการแข่งขัน ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน เช่น การวิเคราะห์ตัวผู้เล่น แผนการเล่น
P คือ Prediction เป็นการคาดการณ์ หรือการทำนายผลการแข่งขัน จะชนะ-แพ้ ด้วยการระบุแต้มชัดเจน เช่น ชนะ 2 ต่อ 0
H คือ Handicap หมายถึง การให้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราต่อรอง เปอร์เซ็นต์ความได้เปรียบเสียเปรียบ โอกาสยิงประตู รวมทั้งข้อความในลักษณะชักชวนให้เล่นพนันอย่างชัดเจน
G คือ Gambling หมายถึง ข้อมูลเพื่อการรับพนันบอลโดยตรง เช่น แหล่งรับพนัน หมายเลขบัญชีของแหล่งรับพนัน
ผลการศึกษา “เนื้อหาการพนันในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014” รอบ 32 ทีม และ 8 ทีม พบว่า
- สื่อหนังสือพิมพ์กีฬา ในภาพรวมพบเนื้อหาประเภทการบอกราคาและอัตราต่อรอง (H) เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 38 ในรอบ 32 ทีม เป็น ร้อยละ 49 ในรอบ 8 ทีม โดยพบอัตราต่อรอง (H) มากในหนังสือพิมพ์ ตลาดลูกหนัง และเจาะเกมส์ ในขณะที่เนื้อหาประเภทข้อมูลทั่วไป (I) ในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 51 ในรอบ 32 ทีม เป็นร้อยละ 47 ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ส่วนเนื้อหาประเภทการทำนายผล (P) พบว่ามีสัดส่วนโดยเฉลี่ยทั้งสองรอบใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 4 โดยพบในทุกฉบับ ยกเว้นตลาดลูกหนัง ทั้งนี้ ไม่พบว่ามีเนื้อหาประเภทข้อมูลเพื่อการรับพนันบอล (G) ในหนังสือพิมพ์กีฬา 5 ฉบับที่ศึกษา
- สื่อวิทยุกระจายเสียง ในภาพรวมพบเนื้อหาประเภทข้อมูลทั่วไป (I) เป็นหลัก มีเนื้อหาประเภทการทำนายผล (P) การบอกราคาและอัตราต่อรอง (H) เพียงเล็กน้อย โดยพบในรอบ 32 ทีม มากกว่ารอบ 8 ทีม ในรอบ 32 ทีม พบเนื้อหาประเภทการทำนายผล (P) ใน FM 96 สปอร์ตเรดิโอ (2 รายการ) และ FM 99 แอคทีฟเรดิโอ (4 รายการ) ในรอบ 8 ทีม พบการทำนายผล (P) เฉพาะใน คลื่น 99 แอคทีฟเรดิโอ (5 รายการ) ด้านเนื้อหาประเภทการบอกราคาและอัตราต่อรอง (H) พบในรอบ 32 ทีม เฉพาะคลื่น 99 แอคทีฟเรดิโอ (2 รายการ) ทั้งนี้ ทั้ง 3 คลื่นไม่พบว่ามีเนื้อหาประเภทข้อมูลเพื่อการรับพนันบอล (G)
- สื่อโทรทัศน์ ในภาพรวมพบเนื้อหาประเภทข้อมูลทั่วไป (I) เป็นหลัก และมีเนื้อหาประเภทการทำนายผล (P) เพียงเล็กน้อย รอบ 32 ทีม พบเนื้อหาประเภทการทำนายผล (P) เฉพาะในช่อง 7 (3 รายการ) และ ช่อง 8 (1 รายการ) รอบ 8 ทีม พบในช่องทีวีดาวเทียม 2 ช่อง ได้แก่ ช่อง FIFA World Cup (1 รายการ) และ ช่อง T Sport (1 รายการ) และ ช่องทีวีดิจิตอล 1 ช่อง คือ MCOT HD (1รายการ) ทั้งนี้ ไม่พบเนื้อหาประเภทบอกราคาและอัตราต่อรอง (H) และ ข้อมูลเพื่อการรับพนันบอล (G)ในสื่อโทรทัศน์ที่ศึกษา
ข้อเสนอจากมีเดียมอนิเตอร์
1. ควรมีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการพนัน/ระเบียบเกี่ยวกับสื่อ โดยเพิ่มข้อบังคับในการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับการพนันกีฬาในสื่อมวลชน และสื่อประเภทต่างๆ และห้ามการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับอัตรา/ราคาต่อรองทั้งในเชิงชี้แนะให้พนัน และให้ความรู้เกี่ยวกับการพนันในกีฬา/ การแข่งขันทุกประเภท
2. หน่วยงานกำกับดูแลสื่อและการสื่อสาร ควรสนับสนุนให้องค์กรวิชาชีพสื่อร่วมกันกำหนดแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการรายงาน / การนำเสนอเนื้อหากีฬา เพื่อประโยชน์ในการพัฒนา ความรู้/ ทักษะ ด้านการชม / การเล่นกีฬานั้น ๆ เป็นสำคัญ สื่อต้องไม่สนับสนุนการพนัน การเสี่ยงโชค หรือเป็นช่องทางนำไปสู่อบายมุข
3.หน่วยงานกำกับดูแลสื่อและการสื่อสาร ร่วมกับ องค์กรวิชาชีพ ควรร่วมกันกำหนด กลไกการกำกับดูแลร่วม (Co-Regulation) เพื่อให้สื่อมีจริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม ในการไม่นำเสนอเนื้อหาที่สร้าง / นำไปสู่ / สนับสนุน การพนันทุกรูปแบบ
ขอบคุณภาพจาก -worldcupfigures.com