ปัญหาใหญ่ คือ ผู้บริโภคไม่เข้าใจเกษตรอินทรย์
เกษตรอินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับกระแสโลก ซึ่งคนตื่นตัวเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประเทศไทยส่งออกข้าวอินทรีย์เป็นส่วนใหญ่ การส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ประเภทอื่นๆ ยังมีน้อยมาก ทั้งๆที่มีศักยภาพไม่แพ้ประเทศอื่นๆ
คุณกานต์ จาก “ไร่ปลูกรัก” เป็นผู้หนึ่งที่ประสบปัญหาตลาดไม่ยอมรับหรือตลาดไม่รู้จักสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ตนเองและภรรยาผลิตขึ้นมาด้วยความยากลำบาก เพราะต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ให้ได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีความรู้ในการจัดการด้วยตนเอง ความยากลำบากนี้สะท้อนออกมาจากประโยคของคุณกานต์ที่ว่า “การทำเกษตรอินทรีย์เผชิญปัญหามากมายทั้งด้านการผลิตและการตลาด แต่ปัญหาใหญ่คือผู้บริโภคไม่เข้าใจเกษตรอินทรีย์”
เริ่มจากผลิตป้อนร้านอาหารตนเอง
ในปี 2543 คุณกานต์ และภรรยาคือ คุณอโณทัย ได้เริ่มทำเกษตรอินทรีย์ในที่ดินของครอบครัว 60 ไร่ ตั้งอยู่ริมทางหลวง ในเขตอำเภอบางแพ ราชบุรี ภายใต้ชื่อ “ไร่ปลูกรัก” จุดมุ่งหมายเริ่มแรกเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนให้กับร้านอาหารมังสวิรัติของครอบครัวคือ “ร้านอโณทัย” ที่กรุงเทพฯ ด้วยความที่คุณกานต์และภรรยาอยากให้ลูกค้าได้บริโภคผักที่ปลอดจากสารพิษและสารเคมีทั้งหลาย เพราะร้านอาหารมังสวิรัติวัตถุดิบสำคัญคือ ผัก ซึ่งคนกินมักจะถามถึงที่มาของผักที่ตนเองทานว่าจะมีความปลอดภัยหรือไม่ แต่เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ผักที่ปลอดภัยยังไม่วางขายอย่างแพร่หลายในซุปเปอร์มาร์เก็ตเช่นในขณะนี้
แม้ทั้งคู่จะมีความรู้การเกษตรเพียงขั้นต้นจากการอบรมหลักสูตรปลูกผักสวนครัวแบบผสมผสานที่ร้านเลมอนฟาร์มเป็นผู้จัดเท่านั้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้ผู้บริโภคได้บริโภคผักที่ถือว่าเป็นระดับสูงสุดของความปลอดภัย จึงตัดสินใจร่วมกันทำการเกษตรในระบบเกษตรอินทรีย์ โดยอาศัยความอดทนและใช้เวลายาวนานผ่านกระบวนการเรียนรู้การเกษตรที่ไม่ใช้เคมีและฮอร์โมนใดๆ ทั้งระบบปุ๋ย และระบบกำจัดศัตรูพืช โดยส่วนใหญ่ต้องทำการศึกษาแบบลองผิดลองถูกด้วยตนเองดังเช่นเกษตรกรก้าวหน้าทั่วไปจากหลักพื้นฐานทางวิชาการ คือ การสร้างระบบนิเวศที่สมดุล
ประสบการณ์ที่ได้มา คือ การทำเกษตรอินทรีย์นั้นยากทั้งการผลิตและการตลาด ในส่วนปัญหาของการผลิตคือผลผลิตมีปริมาณไม่แน่นอนไม่สามารถผลิตออกสู่ท้องตลาดได้ทุกวัน เพราะเกษตรอินทรีย์ต้องอิงกับธรรมชาติเท่านั้น จะใช้สารเคมีหรือฮอร์โมนช่วยควบคุมผลผลิตไม่ได้ เนื่องจากหลักจริงๆ ของเกษตรอินทรีย์คือการสร้างระบบนิเวศที่สมดุลไม่ใช่การเพิ่มปริมาณผลผลิต
คุณกานต์ กฤทธิ์ขจร กล่าวว่า “การผลิตในระบบอินทรีย์ทำได้ค่อนข้างยากเพราะต้องจัดการพืชแบบไม่ใช้สารเคมี เช่น ปุ๋ย หรือสารกำจัดศัตรูพืช สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นเขตร้อนชื้นศัตรูพืชมีมากมาย ดังนั้นจึงไม่สามารถทำการผลิตในปริมาณมากเพื่อลดต้นทุนได้ นอกจากนั้นเกษตรกรยังไม่สมารถควบคุมผลผลิตให้มีป้อนตลาดได้สม่ำเสมออีกด้วย ผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้จึงมีปรากฏให้เห็นน้อยมากในท้องตลาด และมีราคาค่อนข้างสูงทำให้ลูกค้าจำกัดอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูงที่ห่วงใยสุขภาพ เมื่อตลาดแคบก็กลายเป็นปัญหาทางการตลาดที่สำคัญ”
ผู้บริโภคไม่เข้าใจ
ปัญหาส่วนใหญ่สุดของไร่ปลูกรักในความเห็นของคุณกานต์ ได้แก่ การที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าเกษตรอินทรีย์ต่างจากผักอื่นๆอย่างไร ในความหมายทั่วไป “เกษตรอินทรีย์” หมายถึง การผลิตทางการเกษตรที่คำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระดับสูงสุดเหนือกว่าการผลิตทางการเกษตรทั่วไป ซึ่งถ้าไล่เรียงระดับความปลอดภัยในการผลิตทางการเกษตรที่จะมีผลต่อต่อสุขภาพของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมก็อาจเริ่มได้ตั้งแต่ระดับที่หนึ่งที่เรียกว่า ‘ปลอดสารพิษ’ คือการผลิตผักที่ยอมให้มีการใช้สารเคมีได้ในระดับหนึ่งแต่ต้องมีการจัดการที่ดีเพียงพอที่จะทำให้พืชผักนั้นไม่มีสารเคมีหรือเชื้อโรคตกค้างในระดับที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเมื่อออกวางตลาดระดับที่สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งมักจะเรียกกันว่า ‘ผักไร้สาร’ คือ ผักที่ไม่มีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกเลยส่วนใหญ่เป็นการปลูกแบบธรรมชาติที่เรียกว่าเกษตรธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์เข้มงวดเป็นพิเศษในเรื่องระบบนิเวศวิทยา ส่วนระดับที่สามซึ่งนับเป็นระดับที่สูงสุด คือ ‘ผักอินทรีย์’ ซึ่งเป็นการผลิตที่ห้ามใช้สารเคมีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช และฮอร์โมน นอกจากนี้ยังกำหนดว่าต้องมีขั้นตอนทำการเกษตรที่เอาใจใส่และเป็นมิตรกับคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมด้วย
เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ผักมาจากการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ เจ้าของฟาร์มจึงไม่สามารถกล่าวอ้างเอาเองได้ แต่ต้องผ่านการตรวจสอบรับรองจากหน่วยงานที่ยอมรับจากนานาชาติเสียก่อน สำหรับประเทศไทยหน่วยรับรองดังกล่าว ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (มกท.) ซึ่งได้รับการรับรองจากสถาบันระหว่างประเทศ คือ ไอโฟม (IFOAM-International Federation of Organic Agriculture Movement) ซึ่งตั้งอยู่ในทวีปยุโรปและเป็นสถาบันเกษตรอินทรีย์ระดับโลกที่ได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติให้สามารถรับรองระบบตรวจสอบของหน่วยงาน เพื่อให้หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จากฟาร์มของเกษตรกรอีกทอดหนึ่ง
เมื่อผู้บริโภคไม่เข้าใจข้อจำกัดของการปลุกผักอินทรีย์ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมผักอินทรีย์จึงแพงกว่าผักประเภทอื่นๆ ทำให้ผู้ปลูกเกษตรอินทรีย์ทำตลาดยากเพราะกลุ่มผู้ซื้อมีจำกัด ในที่สุดผู้ปลูกจึงรวมตัวกันในชื่อ สมาคมเกษตรอินทรีย์ไทย โดยมีเป้าหมายที่จะชี้แจงให้ผู้บริโภคเข้าใจ และทำการส่งเสริมการตลาดร่วมกับพันธมิตร เช่น ท๊อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น
คุณกานต์เล่าว่า ความพยายามของสมาคมทำให้ความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีต่อผักอินทรีย์ขณะนี้เริ่มดีขึ้น แต่โอกาสการขยายลูกค้าใหม่ยังจำกัด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่กระเตื้องนักแต่โชคดีที่ลูกค้าเดิมยังมีความเชื่อถือต่อแบรนด์ของไร่ปลูกรักยอดขายจึงไม่มีปัญหา นอกจากสร้างแบรนด์ไร่ปลูกรักยังได้พัฒนาตลาด คือ นอกจากการจำหน่ายผักที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้วทางไร่ปลูกรักยังมีบริการส่งผักตรงให้ลูกค้าตามสำนักงานด้วย โดยลูกค้าสั่งเพียง 3 ถุง ก็จะส่งให้ การผลิตผักของไร่ปลูกรักปัจจุบันได้ขยายไปเต็มพื้นที่ 60 ไร่ โดยปลูกผักหลากหลายกว่า 20 ชนิด ซึ่งเป็นผักที่ตลาดมีความต้องการ
ในเชิงธุรกิจแล้วการทำการตลาดผักสดอินทรีย์ของไร่ในปัจจุบันเริ่มมีสภาพคล่องที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ อย่างไรก็ดี เมื่อมองถึงความจำเป็นที่ต้องมีกำไรสะสมสำหรับใช้ในการลงทุนปรับเปลี่ยนรถขนผักและเครื่องมอบางตัวแล้ว ไร่ปลูกรักยังมีความจำเป็นจะต้องแสวงหารายได้เพิ่ม สิ่งที่ไร่ปลูกรักได้ดำเนินการไปแล้วเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์พวกอาหารไทย ได้แก่ น้ำจิ้มต่างๆ น้ำพริก และน้ำส้มสายชู เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ลูกค้าคือกลุ่มผู้บริโภคอาหารไทย โดยร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับโครงการ ITAP ของสำนักงานพัฒนาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) และเริ่มส่งออกเมื่อปี 2552 ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดี คุณกานต์มองว่าตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปมีแนวโน้มดีกว่าตลาดผักสดในประเทศ ปัจจุบันรายได้จากการส่งออกมีสัดส่วน 30-40% ของรายได้ทั้งหมด
ในภาพรวมของโลกปัจจุบันเกษตรอินทรีย์นับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับกระแสโลก ซึ่งประชาชนมีการตื่นตัวเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ข้อมูลจากสถาบันอาหารพบว่าในช่วง 10 ปีมานี้ ความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ของโลกขยายตัวอย่างมาก ในปี 2550 มีมูลค่าการตลาด 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าในปี 2555 จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 66,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นการตลาดใหญ่สุดในบรรดาผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่ค้าขายกันในโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์ผลไม้และผักมีมูลค่าตลาดมากที่สุด ในส่วนของประเทศไทย ในปี 2551 มีมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์อยู่ที่ประมาณ 36 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการส่งออกข้าวอินทรีย์เป็นส่วนใหญ่ การส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ประเภทอื่นๆ ยังมีน้อยมาก ทั้งๆที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ได้ไม่แพ้ประเทศอื่นๆ