แถลงการณ์มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอให้ คสช.เร่งตรวจสอบข้อกล่าวหาของ “กริชสุดา”
จากกรณีเฟซบุ๊กบีบีซีไทย (BBC Thai) เผยแพร่ข่าว น.ส.กริชสุดา คุณะแสน ขอลี้ภัยในยุโรป ให้ข้อมูลยูเอ็นและองค์กรนิรโทษกรรมสากล โดยเนื้อหาตอนหนึ่ง บีบีซีไทยระบุว่าได้พูดคุยกับ น.ส.กริชสุดาเพิ่มเติม ได้รับการบอกเล่าว่า ระหว่างที่ถูกคุมตัว ทหารมัดมือ ใช้ผ้าปิดตาและใช้สกอตเทปพันทับตลอดเวลาเจ็ดวันแรกของการควบคุม และถูกทำร้ายตั้งแต่วันแรก เจ้าหน้าที่ได้เข้าซักถามเรื่องการทำงานของ น.ส.กริชสุดาที่เป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟ้าสีทองและช่วยเหลือนักโทษที่เป็น กลุ่มคนเสื้อแดง ในระหว่างการซักถามถูกทำร้ายร่างกายเช่นเตะและต่อยไปด้วย รวมทั้งถูกทรมานด้วยการใช้ถุงคลุมศีรษะไม่ให้มีอากาศหายใจ แล้วถูกนำตัวใส่ถุงผ้าห่อในลักษณะเหมือนห่อศพ ซึ่งทำให้หมดสติ แต่เจ้าหน้าที่ได้ใช้น้ำสาดเพื่อให้ฟื้นขึ้นมาตอบคำถาม น.ส.กริชสุดาบอกว่า เนื่องจากถูกมัดมือตลอดเวลา ทุกครั้งที่จะอาบน้ำจะมีผู้เปลื้องผ้าอาบน้ำให้ ถอดกางเกงให้หากต้องการขับถ่าย
บีบีซีไทยรายงานด้วยว่าได้ติดต่อขอความเห็นจาก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่บอกว่ายังไม่เห็นการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว แต่เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นความจริง เจ้าหน้าที่ทหารไม่มีการทำร้ายร่างกายและที่ผ่านมาก็ไม่มีใครถูกทำร้ายร่างกาย ทางกองทัพมีวิดีโอที่สามารถจะเปิดเผยให้สาธารณชนตรวจสอบได้ โดย พ.อ.วินธัยบอกว่าพร้อมที่จะให้สัมภาษณ์ร่วมกับ น.ส.กริชสุดา เพื่อนำความจริงมายืนยัน
ทั้งนี้ หลังรายงานของบีบีซีไทยเผยแพร่สู่สาธารณะ
ล่าสุด มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ ขอให้ คสช.ตรวจสอบข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยเร็ว
ดังรายละเอียดต่อไปนี้
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
เผยแพร่วันที่ 3 สิงหาคม 2557
ขอให้ คสช. ตรวจสอบข้อกล่าวหาของ น.ส. กริชสุดาฯ อย่างเร่งด่วนโดยคณะผู้ตรวจสอบที่เป็นอิสระต่อกรณีถูกทำร้ายร่างกาย การได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะถูกควบคุมตัวโดยคสช.
ตามที่มีคลิปวีดีโอเผยแพร่ภาพเมื่อคืนวันที่ 2 สิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์ของ น.ส. กริชสุดา คุณะแสน ว่าขณะที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่มีการปล่อยตัววันที่ 24 มิถุนายน ปรากฎเป็นข้อกล่าวหาว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวนั้น ตนถูกทำร้ายร่างกายโดยการตบ ชก ตี บริเวณศีรษะและร่างกาย รวมทั้งถูกปิดตา มัดมือ ไม่สามารถเข้าห้องน้ำหรือปฏิบัติภาระกิจส่วนตัวได้รวมทั้งไม่สามารถอาบน้ำได้ มีเจ้าหน้าที่ที่เชื่อว่าเป็นผู้หญิงถอดเสื้อผ้าและอาบน้ำให้ รวมทั้งการบรรยายถึงการใช้ถุงพลาสติกปิดหน้าทำให้หายใจไม่ออกจนสลบและถูกนำ ตัวใส่ในถุงใส่ศพ การกระทำดังกล่าวถูกอ้างว่าเพื่อบังคับให้เธอสารภาพเรื่องช่องทางการได้มา ซึ่งเงินช่วยเหลือครอบครัวนักกิจกรรมเสื้อแดงและบังคับให้กล่าวหาบุคคลอื่น เรื่องการสั่งสมอาวุธ ต่อมา น.ส. กริชสุดาฯ ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 ขณะนี้ น.ส. กริชสุดาฯ ได้เดินทางออกนอกประเทศไทยแล้ว
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความกังวลต่อเนื้อหาในคลิปวีดีโอดังกล่าวของ น.ส.กริชสุดาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ น.ส. กริชสุดาฯ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวไปควบคุมไว้เป็นเวลาเกือบ 1 เดือน โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา เป็นการควบคุมตัวในสถานที่ลับ และไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาติหรือทนายความ อีกทั้งยังเป็นการควบคุมตัวนานกว่าที่กฎอัยการศึกให้อำนาจไว้นั้น ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนสากลพบว่า การทำให้บุคคลสุญเสียอิสรภาพและตกอยู่ในพฤติการณ์การควบคุมตัวที่ไม่สามารถ ตรวจสอบได้และปราศจากหลักประกันทางกฎหมายดังกล่าว ย่อมทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวเสี่ยงต่อการถูกทรมานและการละเมิดสิทธิขึ้นพื้นฐาน อื่น ๆ รวมถึงสิทธิในชีวิต ทั้งนี้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ข้อ 7 ระบุว่า บุคคลจะถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศริมิได้ และอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (International Convention Against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT) ที่ระบุว่า “จะไม่มีใครถูกทรมาน ปฎิบัติหรือลงโทษอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี” ซึ่งประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีจึงมีพันธกรณีต้องนำหลักการห้ามทรมานดังกล่าวมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เพื่อยืนยันในแนวนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามที่ได้เคยประกาศต่อสาธารณะและประชาคมระหว่างประเทศ) ว่าจะเคารพต่อสิทธิมนุษยชน การใช้ควบคุมตัวบุคคลจะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษชน การทำร้าย ทรมาน หรือการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คสช. มีความจำเป็นต้องเปิดให้มีการตรวจสอบกรณีร้องเรียนดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้ความจริงปรากฎต่อสาธารณะโดยเร็ว โดยอาจต้องมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษในการตรวจสอบผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของผู้เสียหายเพื่อพิสูจน์การกล่าวอ้าง และหากมีมูลว่ามีกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่จริงก็จะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง
จากข้อมูลเท่าที่ตรวจสอบได้ ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2557 พบว่านับตั้งแต่มีการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีผู้ถูกเรียกตัว 565 คน และถูกจับกุม 233 คน (โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน: iLAW) โดยการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเพื่อเรียกบุคคลให้รายงานตัว การจับกุม และควบคุมตัวบุคคลยังดำเนินอยู่แม้จะไม่มีการประกาศเรียกบุคคลอย่างเป็นทางการทางสื่อโทรทัศน์ และในขณะนี้ก็ยังมีรายงานการติดตามจับกุมควบคุมตัวบุคคลโดยใช้อำนาจกฎอัยการศึกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการให้หลักประกันว่าบุคคลที่ถูก คสช.เรียกตัว เชิญตัว จับกุม และควบคุมตัวตามอำนาจกฎอัยการศึกจะได้รับการประกันสิทธิที่จะไม่ถูกทรมานและการบังคับให้สูญหาย ตลอดจนเพื่อเป็นการกำกับดูแลการใช้อำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลตามกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ทั่วประเทศ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้ คสช. กำชับและกำกับดูแลให้การปฏิบัติของเจ้าพนักงานทหารเคารพต่อหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานที่ควบคุมตัวที่ต้องไม่ใช่สถานที่ลับตัดขาดจากโลกภายนอก การแจ้งให้ญาติทราบและสิทธิที่จะได้พบญาติและทนายความที่ต้องได้รับการคุ้มครอง และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ จึงต้องมีการทำรายงานการควบคุมตัวและการปล่อยตัวโดย คสช. อย่างเคร่งครัด ตลอดจนการปล่อยตัวบุคคลจะต้องมีญาติหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจรับทราบและรับรอง บันทึกการปล่อยตัวเพื่อป้องกันไม่ให้มีการบังคับให้บุคคลสูญหาย และควรกำหนดสถานที่ควบคุมหรือกักตัวตามกฎอัยการศึกอย่างเป็นทางการและประกาศต่อสาธารณะผ่านสื่อมวลชน รวมทั้งหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมได้ทราบโดยทั่วกัน เนื่องจากข้อร้องเรียนเรื่องการทรมานกระทบต่อภาพลักษณ์และยังทำให้ประชาชน ตลอดจนประชาคมระหว่างประเทศสูญเสียความเชื่อมั่นต่อการใช้อำนาจของ คสช.ไปอย่างสิ้นเชิง
หมายเหตุ: นางสาวกริชสุดาถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 จากจังหวัดชลบุรีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารโดยระหว่างการควบคุมตัวไม่มีบุคคลใดสามารถติดต่อ น.ส. กริชสุดา ได้และไม่ทราบว่า น.ส. กริชสุดา ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 มีการเรียก น.ส. กริชสุดา ให้ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 68/2557 ทั้งที่ยังไม่ปรากฏว่ามีการปล่อยตัว น.ส.กริชสุดา และยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ
จากการเรียกร้องขององค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2557 พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก จึงได้ออกมายอมรับว่ามีการควบคุมตัว น.ส. กริชสุดาจริง จนมีการนำภาพวิดีโอการปล่อยตัว น.ส. กริชสุดามาเผยแพร่ต่อสื่อเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 โดยปรากฎภาพ น.ส. กริชสุดาฯ ให้สัมภาษณ์ว่าตนขออยู่ภายใต้การควบคุมของทหารต่อเองและได้รับการปฏิบัติอย่างดีตลอดมา