เรื่องจริงหรือมโน ข่าวลบต่อการกระจายอำนาจ ความโปร่งใสทุจริต อปท.
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอข่าว “เกือบตก! 15 ปีกระจายอำนาจ นักวิจัยให้เกรดซี เหตุ 'คน-งาน- เงิน' ไม่ไปด้วยกัน” จากเวทีการประชุมวิชาการเพื่อนำเสนอผลวิจัยขั้นสุดท้าย โครงการประเมินผลนโยบายกระจายอำนาจของไทยระยะ 15 ปี โดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกมากมายที่น่าหยิบมานำเสนอ ตอนนี้จะว่าด้วยประเด็น “กระแสสังคมทางลบต่อการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น” หนึ่งในปัจจัยที่เป็นแรง “บั่นทอน” การผลัดดันการกระจายอำนาจ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ขณะเดียวกันส่วนราชการ หรือฝ่ายต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระจายอำนาจ ก็มักหยิบยกประเด็นข่าวทางลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อมาใช้โจมตี หรือไม่สนับสนุนการกระจายอำจาจ
15 ปีกระจายอำนาจของไทย คณะนักวิจัย พบว่า ท้องถิ่นต้องทำงานภายใต้แรงกดดันของสังคมมากมาย โดยเฉพาะกระแสสังคม สื่อมวลชน ข่าวที่นำเสนอเกี่ยวกับท้องถิ่น
งานวิจัยชิ้นนี้ตามไปเก็บข้อมูลย้อนหลัง ไล่ตั้งแต่ต้นปี 2540 -กรกฎาคม 2556 นับจำนวนข่าวหัวหลัก และหัวรองในหน้าหนังสือพิมพ์จำนวน 140 กว่าข่าว ทั้งอ่านเนื้อหา วิเคราะห์เจตนารมณ์ของสื่อ จนพบว่า สังคมกดดันท้องถิ่นมาก และมีข่าวออกมาทางลบค่อนข้างมากด้วยเช่นกัน
65% เป็นข่าวทางลบเกี่ยวกับท้องถิ่น !!
หรือเรียกว่า ตลอดสิบกว่าปี ข่าวทางบวกเกี่ยวกับท้องถิ่นเกิดแบบ “กะปริดกะปรอย” หยุมหยิม 1- 2 ข่าวต่อปีเท่านั้น
ขณะที่ข่าวทางลบ ช่วงปีแรกๆ ของการกระจายอำนาจที่สังคมกำลังตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถาม เช่น ปี 2547 ยุคที่มีการรวมศูนย์และการเกิดใหม่ของภูมิภาค หรือจังหวัดซีอีโอนั้น ข่าวทางลบเกี่ยวกับท้องถิ่นเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่า กระแสข่าวด้านลบต่อความโปร่งใสทุจริตของ อปท. และในการบริหารจัดการต่างๆ เป็นต้น
แต่เมื่อนักวิจัยได้เข้าตรวจสอบกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นความโปร่งใสของอปท. โดยอาศัยข้อมูลการตรวจสอบจากทางราชการ (สตง.) กลับพบว่า กระแสข่าวหรือทัศนคติด้านลบที่มีต่ออปท. นั้น อาจไม่ได้รุนแรงดังเช่นที่เข้าใจหรือเชื่อกันมาแต่เดิม
ข้อมูลการตรวจสอบกลุ่มตัวอย่าง อปท.110 แห่งระหว่างปี 2551-2555 ชี้ว่า แม้จะมีอปท.ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนให้สตง.ดำเนินการตรวจสอบมากถึง 69 แห่ง แต่มีอปท.ที่มีกรณีร้องเรียนนั้น มีมูลสำหรับการสืบสวนต่อไปเพียง 8 แห่ง
หรือ 7.3% ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ เรื่องความโปร่งใสของอปท.จากผลวิจัยครั้งนี้มองว่าอาจไม่ได้มีปัญหารุนแรงมากนัก เหมือนกระแสสังคมทั่วไปคิดกัน
“เรามักมองท้องถิ่นด้านลบ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าไปทำโครงสร้างพื้นฐาน แต่สังคมไม่ได้มองข้อเท็จจริงทางบริบท ท้องถิ่น 10 กว่าปี เริ่มต้นทำโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สร้างถนน แต่ถามรัฐบาลกลางพัฒนาประเทศ ก็เริ่มต้นจากจุดนี้เช่นเดียวกัน ถนน รถไฟ ซึ่งเราก็ไม่ได้โทษรัฐบาลกลาง นี่คือการพัฒนาการของบริการสาธารณะ มีโครงสร้างพื้นฐานก่อนเริ่มต้น เมื่อคนเริ่มมีความสะดวกสบาย งานบริการสังคม คุณภาพชีวิต อย่างอื่นก็จะตามมา
หลายคนในสังคมไปมองภาพแง่ลบ ซึ่งจริงคือความจำเป็น กระแสสังคมมองท้องถิ่นในแง่ลบเยอะ ข่าวที่นักวิจัยรวบรวมมาก็เป็นเช่นนั้น แต่เมื่อเข้าไปดูเนื้อในแท้จริง การเข้าใจที่ติดลบไม่ได้มีหลักฐานยืนยันไปทั้งหมด” ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เปิดผลการวิจัยกระแสสังคมทางลบต่อการกระจายอำนาจ
สอดคล้องกับ ดร.อรทัย ก๊กผล วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า มองว่า การที่หลายคนบอกว่า ท้องถิ่นทำถนนเยอะ แต่สิ่งแรกที่เราอยากได้ เวลาไม่มีอะไรเลย ก็คืออยากมีถนนก่อน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเอง การเข้าถึงบริการสาธารณะ ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเขตชนบทแรกๆ จะทำเรื่องถนนหนทาง โครงสร้างพื้นฐาน และแหล่งน้ำขนาดเล็ก
“วันนี้เราต้องยอมเราสังคมไทยมีทัศนคติ อปท.คือสิ่งชั่วร้าย และเราก็เริ่มจะกำจัดความชั่วร้ายเป็นประจำ จึงไม่เห็นสิ่งสวยงาม หรือสิ่งดีๆ ฉะนั้น อยากให้เปลี่ยนมุมมอง ปรับทัศนคติที่ดีต่อ อปท.ว่า อปท.คือสิ่งสวยงาม และนี่คือทางออกของการปกครองประเทศเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ในอนาคต”
ด้านนายถวิล ไพรสณฑ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า สิ่งที่ท้องถิ่นทำมา และเป็นผลจริงๆ นั้นมีการเผยแพร่ค่อนข้างน้อย และหากสังคมมองท้องถิ่นทุจริตกันมาก ควรยกเลิก ถ้าถือคอนเซ็ปต์นี้ หมายถึง ข้าราชการไทยหมดเลย เพราะทุกกระทรวง ทบวง กรม ทุจริตกันหมดตั้งแต่นายกฯ ลงมา ยันภารโรง
ปชช.ส่วนใหญ่ยังไว้ใจอปท.-ผู้บริหารท้องถิ่น –คะแนนโปร่งใสได้ต่ำ
แม้ข่าวสารเกี่ยวกับ อปท.ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์จะชักจูงสังคมมองท้องถิ่นในแง่ลบก็ตาม แต่เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน และกลุ่มตัวอย่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับอปท.ทั้ง 110 แห่ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความไว้ใจ (Trust) ต่ออปท. และผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างดี 61.8-74.8%
ส่วนในด้านความโปร่งใสตรวจสอบได้ของอปท. (Transparency and Accountability) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า อยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ โดย 55.7% ของกลุ่มตัวอย่างไม่มั่นใจว่า อปท.ของพวกเขาจะมีความโปร่งใส
น่าชื่นใจ...มีอปท.กลุ่มตัวอย่างที่มีผลงานโดดเด่น 33 แห่ง (outstanding case) ที่พบผลการสำรวจความคิดเห็นจากภาคประชาชนแตกต่างไปจาก อปท.ทั่วไป ผลการวิเคราะห์พบว่า อปท.ที่ได่รับรางวัลเหล่านี้มีคุณภาพ มีผลงานที่โดดเด่นสามารถสร้างความไว้ใจ ความโปร่งใส และมีความคุ้มค่ามากกว่าโดยเฉลี่ยในสายตาประชาชน
สรุปแล้ว บริบทแวดล้อมเชิงนโยบายกระจายอำนาจ มีลักษณะของแรง “ต่อต้าน” มากกว่าแรง “หนุนเสริม” จึงไม่แปลกที่เราเห็นการกระจายอำนาจของไทยในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา คณะวิจัยให้คะแนนเกือบตก ได้แค่เกรดซี เพราะว่า พลังขับเคลื่อน และแรงหนุนหยุดนิ่งอยู่กับที่ มีเพียงแค่จุดเริ่มต้นช่วงปี 2542-2544 เท่านั้น แต่การดำเนินการหลังจาก 2544 เป็นต้นมา มีลักษณะหยุดนิ่งและก้าวถอยหลังมาตลอด...