ปธ.มูลนิธิเอสซีจี หนุนสร้างค่านิยมใหม่ เรียนอาชีวะแทนมุ่งจบปริญญาตรี
ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี ชี้ตลาดแรงงานต้องการเด็กสายอาชีพ หวังทุกฝ่ายร่วมกันผลักดัน แนะเลิกสร้างค่านิยมจากใบปริญญา
วันที่ 2 สิงหาคม 2557 มูลนิธิเอสซีจีจัดงาน scg sharing the dream '33 ปี กับการให้โอกาสทางการศึกษาเยาวชน ณ ห้อง แกรนด์ ฮอลล์ อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 10 บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย บางซื่อ กทม. โดยมีนายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
นายกานต์ กล่าวถึงการมอบทุนการศึกษา scg sharing the dream เป็นการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม ตรงจุด และยั่งยืน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและสร้างคนให้มีคุณภาพให้สังคม ตลอด 33 ปีที่ เอสซีจีมอบทุนการศึกษาไปนั้น มีน้องๆที่สำเร็จการศึกษากว่า 60,000 คน มีงานทำและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน โดยเกณฑ์การคัดเลือกในการมอบทุนการศึกษานั้นจะเน้นไปที่เด็กที่ขาดแคลนเป็นหลัก คือรายได้ครอบครัวเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท และปัจจุบันการมอบทุนการศึกษาเราจะเน้นให้กับเด็กที่เรียนไปในทางสายอาชีพ หรืออาชีวะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากในตลาดแรงงานมีความต้องการสูง
"เรื่องการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำพาทุกคนเป็นสู่ความสำเร็จ ถึงแม้ทุกคนจะเกิดมาต่างกัน แม้เราจะเลือกเกิดไม่ได้แต่การศึกษาจะทำให้เราเท่าเทียมกัน"
นายกานต์ กล่าวอีกว่า เมื่อก่อนสัดส่วนในการมอบทุนจะเน้นน้ำหนักไปที่ระดับปริญญาตรีมากกว่า แต่ในขณะนี้แรงงานฝีมือเฉพาะในไทยเรียกว่า ขาดแคลนมีเด็กจบออกมาค่อนข้างน้อย รวมไปถึงค่านิยมในการปลูกฝังที่พ่อแม่มักสอนลูกว่าต้องรับปริญญา ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสร้างค่านิยมใหม่ เลิกให้เด็กมองว่า การจบปริญญาตรีเป็นค่านิยม สร้างให้เด็กเห็นว่าการเรียนอาชีวะสามารถประกอบอาชีพได้เร็วมีทักษะชำนาญงาน เนื่องจากการเรียนสายนี้สามารถทำทุกอย่างเองได้หมด
"เราต้องปูพื้นฐานและผลักดันเรื่องนี้ให้ชัดเจน รวมถึงการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ หากเราทำได้อีกไม่นานเมืองไทยจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนา" ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี กล่าว และเล่าถึงประสบการณ์จากที่เคยไปคุยกับหุ้นส่วนทางธุรกิจหลายคน ไม่ว่าจะเป็นคนญี่ปุ่น หรือจีน ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการลูกจ้างแรงงานที่ตรงสาย แต่เมืองไทยเรียนสายอาชีพกันน้อยมาก รวมถึงค่าแรงในประเทศที่พัฒนาแล้ว ค่าแรงของคนที่จบปริญญาตรีกับวุฒิปวช. ปวส.แทบไม่ต่างกันกันเลย มิหนำซ้ำได้มากกว่าวุฒิปริญญาตรีด้วยซ้ำ