เครือข่ายภาคปชช.จ่อร่วมวงถก คสช. ค้านรื้อระบบประกันสุขภาพ
เครือข่ายภาคประชาชนค้านรื้อระบบประกันสุขภาพกลับไปรวมศูนย์ เตรียมส่งคนร่วมวงถกปฏิรูประบบสุขภาพกับ คสช. 'สารี' เผยรัฐต้องกล้าหาญรับฟังความเห็นปชช.
วันที่ 30 ก.ค. 2557 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพเเห่งชาติ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง แถลงกรณีที่คณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายสังคมจิตวิทยาได้นัด 3 หน่วยงานคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพเเห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าหารือการปฏิรูประบบสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องการบริหารงบประมาณแบบบูรณาการประจำปี 2558 ในวันที่ 31 ก.ค. 2557 เวลา 13.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพเรือนั้น
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและภาคี เห็นว่าการที่ระบบสุขภาพในประเทศไทยประสบความสำเร็จจนได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก และองค์การสหประชาชาติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นทั้งผู้ร่วมสนับสนุนให้เกิดระบบหลักประกันดังกล่าวตั้งแต่ต้น รวมทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบระบบ มีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพ รวมทั้งการตรวจสอบมาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นการหารือด้านการบูรณาการงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศ จึงควรต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย ให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ ในระยะกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาได้มีความพยายามจากกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล บริษัทยาข้ามชาติ เชื่อมโยงกับข้าราชการจำนวนน้อยที่มีอำนาจในปัจจุบัน ที่ต้องการทำเรื่องนี้มานาน โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขที่มีสัญญาณออกมาอย่างชัดเจนว่าต้องการให้มีการรื้อระบบหลักประกันสุขภาพ โดยการอ้างการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นด้วยการดึงงบประมาณของระบบสุขภาพกลับไปบริหารโดย สธ.เอง ซึ่งก็จะกลับไปสู่ระบบรวบอำนาจรวมศูนย์ สั่งการอยู่ที่สธ. ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูงของสธ.ไม่เคยแสดงเจตน์จำนงว่าจะสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนแต่อย่างใด
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันฯ กล่าวว่า หลักการของระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาโดยมีปรัชญาความเชื่อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างธรรมาภิบาลขององค์กร โดยใช้ประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้นระบบการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างมีศักดิ์ศรี จึงเป็นหัวใจหลักของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า การมีระบบหลักประกันสุขภาพได้ช่วยทำให้ประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาได้เข้าถึงบริการได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตัวอย่างชัดเจนที่เห็นได้จากกรณีของผู้ติดเชื้อเอชไอวี จากเมื่อก่อน การเข้าไปรับการรักษาเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักมากแม้จะป่วยหนัก แต่ก็ต้องคิดว่าจะเอาเงินไหนไปจ่ายให้รพ. ถ้าไปแล้วจะต้องขอร้องรพ.แบบไหน เขาจะด่าเราไหม เพราะระบบมันยังเป็นแบบสงเคราะห์ หลายคนยอมตายดีกว่าไปรพ.แล้วต้องไปกราบไหว้ขอร้อง
นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การตัดสินใจในระบบหลักประกันสุขภาพมีองค์กรประกอบของคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน ถึงแม้ไม่ได้เป็นเสียงข้างมาก แต่ก็ยอมรับ เพราะเป็นระบบที่ดี การจัดสรรเงินใช้กรอบของประชาชนในพื้นที่ เป็นหลักแทนที่จะจัดสรรตามขนาดโรงพยาบาล เหมือนอย่างที่กระทรวงสาธารณสุข กำลังจะย้อนกลับไป อย่างไรก็ตาม ภาคีเครือข่ายจะส่งคนเข้าร่วมกัารประชุมกับคสช.เเน่นอน
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คสช. และกระทรวงสาธารณสุขต้องกล้าหาญที่จะฟังความเห็นของประชาชนทุกฝ่าย และต้องเร่งลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมตามแนวทางของคสช.ที่ต้องการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน
ขณะที่นพ.นราพงศ์ ธีรอัครวิภาส ตัวแทนแพทย์ชนบท กล่าวว่า การจัดสรรเงินต้องทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม และจัดสรรไปถึงหน่วยบริการตรงเพื่อตอบสนองปัญหาสุขภาพ และความต้องการของประชาชนในระดับพื้นที่ หากพบว่างบประมาณไม่เพียงพอจริง การปรับเพิ่มงบประมาณรายหัวก็ควรเป็นบทบาทที่สธ.ในฐานะผู้กำกับและบริการหน่วยบริการต้องต่อรองและร่วมกับสปสช.ในการเสนอต่อสำนักงบประมาณ