สำรวจนโยบายดับไฟใต้...รัฐบาลเพื่อไทยจ่อตั้ง กอส.2 -ทหารชู "อภัยโทษ"
พระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทรงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเร่งหาวิธีคืนความสงบสุขให้กับดินแดนปลายสุดด้ามขวานนั้น สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ภาคใต้ ณ ปัจจุบันหนักหน่วงรุนแรงเพียงใด
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าทิศทางการแก้ไขปัญหาจนถึงขณะนี้ยังไม่มี “ยุทธศาสตร์” ที่ดีพอที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ความรุนแรงรายวันเกิดขึ้นซ้ำๆ มานานกว่า 7 ปีแล้ว
ขณะที่ความเป็นเอกภาพของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบก็ดูจะเป็นปัญหาและถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด ยิ่งไปกว่านั้นนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ปรากฏความชัดเจนว่าจะมีทิศทางอย่างไร
แม่ทัพ 4 ชู “อภัยโทษ-ล้างธุรกิจเถื่อน”
ประเด็นที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงมากเป็นพิเศษคือ “เหตุรุนแรงรายวัน” ที่ยังมิอาจหยุดยั้งได้ ทั้งการทำร้ายพระสงฆ์ ประชาชนไทยพุทธ มุสลิม และข้าราชการทุกกลุ่ม โดยเฉพาะครู
แน่นอนว่าการหยุดเหตุร้ายรายวัน เป็นภารกิจโดยตรงของทหาร!
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา" ว่า สถานการณ์ความไม่สงบในขณะนี้ มีสาเหตุจาก “ภัยแทรกซ้อน” คือกลุ่มอิทธิพลมืด ค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน และสินค้าเถื่อน มากถึง 80% ส่วนสาเหตุจากการแบ่งแยกดินแดนจริงๆ มีเพียง 20% เท่านั้น
โดยกลุ่มอิทธิพลเถื่อนใช้เงินจ้างกลุ่มติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีอุดมการณ์ “ญิฮาด” (ต่อสู้และพร้อมพลีชีพเพื่อศาสนา) ให้ก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะลอบวางระเบิด เพื่อให้เจ้าหน้าที่พะวงหรือเทกำลังไปยังจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการเปิดทางหรือเปิดพื้นที่อีกหลายๆ จุดที่เป็นเส้นทางขนถ่ายยาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมาย
“เรามีหลักฐานการโอนเงินจากกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายไปยังบัญชีของกลุ่มที่อยู่ในโครงสร้างของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เมื่อผมได้ข้อมูลตรงนี้ ผมก็สั่งจับหมด ทำให้มีการก่อเหตุระเบิดตอบโต้บ่อยครั้งในระยะหลัง” แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุ
สำหรับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง 20% ที่เป็นระดับปฏิบัติการจริงๆ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า จริงๆ แล้วมีไม่มากนัก ตัวเลขล่าสุดน่าจะไม่เกิน 7 พันคน โดยพื้นที่ก่อเหตุจะวนเวียนอยู่ในราว 12 อำเภอจาก 33 อำเภอ (เฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากรวม 4 อำเภอของ จ.สงขลาด้วยจะเป็น 37 อำเภอ) และหมู่บ้านที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการซึ่งเรียกว่า “หมู่บ้านที่มีอำนาจซ้อนอำนาจรัฐ” มีอยู่ 309 หมู่บ้านจาก 2 พันหมู่บ้าน
จากข้อมูลดังกล่าวนำมาสู่การสังเคราะห์ และกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาของฝ่ายทหารใน 2 มิติ คือ
1.จัดการกับกลุ่มอิทธิพลเถื่อนและผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย ด้วยการประสานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินคดีและยึดทรัพย์ขบวนการเหล่านี้ เพื่อหยุดวงจรธุรกิจเถื่อนและตัดเส้นทางเงินสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ
2.จัดการกับกลุ่มติดอาวุธและแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยใช้นโยบาย “อภัยโทษ” เพื่อให้เกิดผลทางจิตวิทยาดึงคนเหล่านั้นให้เข้ามอบตัวกับทางราชการ
พล.ท.อุดมชัย ชี้ว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งมีอยู่ 20% ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน แต่ถูกปลูกฝังความเชื่อผิดๆ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และศาสนา ทำให้จับอาวุธขึ้นมาสู้กับรัฐ ฉะนั้นจึงเสนอให้ “อภัยโทษ” กับคนกลุ่มนี้ และนำตัวเข้ารับการอบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติ ขณะเดียวกันก็เยียวยาผู้เสียหายจากสถานการณ์ความไม่สงบทุกคนทุกกลุ่ม โดยให้ฝ่ายทหารรับผิดชอบดูแลทั้งกระบวนการ
แนวทาง “อภัยโทษ” ของแม่ทัพภาคที่ 4 ใช้หลักการเดียวกับ "มาตรา 17 สัตต" ของพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 17 ต.ค.2519) ซึ่งเลิกใช้ไปแล้ว และคล้ายคลึงกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ซึ่งทำให้คนที่เข้าป่าจับปืนสู้กับรัฐออกมามอบตัวเป็นจำนวนมาก (เพราะได้รับการยกเว้นความผิด) และแก้ไขปัญหาภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ได้อย่างเบ็ดเสร็จในที่สุด
พล.ท.อุดมชัย บอกว่า สาเหตุที่ต้องการประกาศนโยบายอภัยโทษก็เพื่อให้เกิดผลสะเทือนทางจิตวิทยาในวงกว้าง เนื่องจากกระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากเกินไป หลังจากประกาศใช้มาระยะหนึ่งในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ปรากฏว่ามีผู้เข้ามอบตัวกับรัฐเพียง 4 คน แต่กระนั้น การอภัยโทษจะมีระบบคัดกรองป้องกันพวกที่ต้องการเข้ามาฟอกตัว และจะไม่อภัยโทษให้กับกลุ่มที่ก่อคดีร้ายแรง เช่น ฆ่าตัดคอ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แนวทางอภัยโทษซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ยืนยันว่ามีความพร้อม และยินดีให้ตั้งคณะกรรมการจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลการดำเนินงานของฝ่ายทหารนั้น ปรากฏว่ายังไม่เคยเสนอต่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ฉะนั้นเรื่องนี้จึงจะเป็นข้อมูลสำคัญที่แม่ทัพภาคที่ 4 เสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ตัดสินใจด้วย
เพื่อไทยเล็งตั้ง กอส.2 – เปิดโต๊ะเจรจา
ด้านความเคลื่อนไหวของรัฐบาลใหม่ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยดูจะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องนโยบายดับไฟใต้ เพราะตั้งแต่ชนะเลือกตั้งมายังไม่เคยพูดจาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบเลย
สาเหตุประการหนึ่งอาจเป็นเพราะความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างราบคาบ ไม่ได้ ส.ส.เลยแม้แต่ที่นั่งเดียว ประกอบกับความผิดพลาดในอดีตสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เกิดอาการ “อึกอัก” เพราะเป็น “จุดอ่อน” ของพรรคตัวเอง
โดยเฉพาะแคมเปญหาเสียงเรื่อง “นครปัตตานี” หรือการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (อ่านรายละเอียดในเวทีวิชาการ) ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักจากพรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายความมั่นคงว่าจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการ “แบ่งแยกดินแดน” ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่กล้าประกาศชัดๆ ว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่
อย่างไรก็ดี มีความเคลื่อนไหวเล็กๆ ภายในพรรคเพื่อไทย โดยแกนนำพรรคจำนวนหนึ่งเห็นตรงกันว่าน่าจะผลักดันนโยบาย “นครปัตตานี” ต่อไป แต่ปรับรูปแบบการขับเคลื่อนเป็นเรื่อง “กระจายอำนาจ” ซึ่งเป็นทิศทางที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในทุกภาคของประเทศ อันจะเป็นการลดแรงกระแทกจากพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามคัดค้านนโยบาย “นครปัตตานี” อย่างแข็งขันด้วย
ทั้งนี้ แนวทางการขับเคลื่อนจะตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาชุดหนึ่งในรูปแบบที่คล้ายกับคณะกรรมการอิระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในอดีต เพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่แท้จริงจากประชาชน แล้วนำมากำหนดรูปแบบการปกครองอีกครั้ง ซึ่งอาจไม่เหมือนกับโมเดล "นครปัตตานี" เสียทีเดียว ทั้งนี้เพื่อลบข้อครหาที่ว่าการผลักดัน "นครปัตตานี" ไม่ได้เป็นความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยซึ่งใกล้ชิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกว่า การจัดเวทีดังกล่าวจะสามารถสร้างกระแสที่เป็นโจทย์ใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถแย่งชิงพื้นที่สื่อจากการก่อความรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบมาได้ระดับหนึ่ง และยังอาจเป็นเวทีการพูดคุยร่วมกันอย่างเปิดอกระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่คิดเห็นต่างกัน เพื่อร่วมกันสร้างโมเดลที่ทุกฝ่ายยอมรับได้อีกด้วย
ขณะเดียวกัน ได้มีการประสานไปยังนายทหารที่เคยมีบทบาทเรื่องการ “เจรจาอย่างไม่เป็นทางการ” กับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ ให้มาร่วมทีมแก้ไขปัญหาในมิติของการ “พูดคุยเพื่อสันติภาพ” หรือ Peace Talk ด้วย
นี่คือทิศทางการทำงานในภารกิจ “ดับไฟใต้” ของรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งดูจะยังไม่เป็นเอกภาพหรือมีทิศทางสอดคล้องลงตัวกับฝ่ายความมั่นคงมากนัก โดยเฉพาะการจัดตั้ง “นครปัตตานี” และการ “เปิดโต๊ะเจรจา” ซึ่งฝ่ายกองทัพปฏิเสธมาตลอด
และนั่นจึงทำให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงอึมครึมต่อไป!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ทหารกำลังทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณโรงเรียน ภาพอันชินตาของผู้คนในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดเกือบ 8 ปีที่ผ่านมา
2 พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4
3 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งลงพื้นที่หาเสียงที่ จ.ยะลา (ภาพทั้งหมดโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)