เมื่อ คสช.ยังมิอาจ"คืนความสุข"ที่ชายแดนใต้
ตะลึงกันไปเหมือนกันกับเหตุคาร์บอมบ์หน้าโรงแรมฮอลิเดย์ฮิลล์ กลางเมืองเบตง จ.ยะลา เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 25 ก.ค.57 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บเกือบ 40 คน สาเหตุของความตื่นตะลึงเนื่องจาก...
1.เบตงเป็นอำเภอสงบสุข อากาศดี ตั้งอยู่ใต้สุดแดนสยาม แม้จะห่างจากตัวเมืองยะลาเพียง 140 กว่ากิโลเมตร แต่การเดินทางต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง เพราะเส้นทางคดโค้งตามเหลี่ยมเขา อารมณ์คล้ายๆ ถนนไปสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี หรือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ด้วยเหตุนี้ทำให้ อ.เบตง จึงเหมือนอยู่เอกเทศ การเดินทางไปก่อเหตุจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
2.เบตงมีระบบรักษาความปลอดภัยในระดับดีเยี่ยม โดยใช้เครือข่ายภาคประชาชน เรียกว่า "ตาสับปะรด" ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีที่ถูกต้องในการรับมือกับสถานการณ์การก่อการร้ายและก่อความไม่สงบทุกประการ
3.เบตงมีเครือข่ายสังคมที่เข้มแข็งและสามัคคีกัน ทั้งชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยพุทธ และอิสลาม มีเงินสะพัดจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน ทำให้มีการตั้งกลุ่มหรือสมาคมเพื่อดูแลผลประโยชน์ของกันและกัน
4.เหตุรุนแรงขนาดใหญ่ในเขตชุมชนเมืองครั้งสุดท้ายของเบตง ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 31 ส.ค.49 เป็นเหตุระเบิดธนาคาร 6 แห่งพร้อมๆ กับอำเภออื่นของ จ.ยะลา ที่เหลือเป็นเพียงเหตุรุนแรงแบบย่อยๆ ประปราย นั่นหมายความว่าเมืองเบตงว่างเว้นจากเหตุร้ายขนาดใหญ่มาเกือบ 8 ปีเต็ม
ทำไมต้องเบตง
คำถามที่ทุกคนถามเหมือนๆ กันก็คือ แล้วทำไมจึงเกิดเหตุรุนแรงระดับ "คาร์บอมบ์" ที่เบตง คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายของเจ้าหน้าที่
"นึกไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุคาร์บอมบ์ในพื้นที่นี้" นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ไขข้อข้องใจแบบตรงไปตรงมากับผู้สื่อข่าว
สอดคล้องกับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานความมั่นคงหน่วยหนึ่งที่บอกว่า พื้นที่เบตงเป็นเขตที่แทบจะเรียกได้ว่าปลอดภัยที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเข้าไปเคลื่อนไหวไม่ได้เลย ทั้งที่พยายามหลายครั้ง เหตระเบิดครั้งนี้จึงน่าจะเป็นเพราะชุมชนขาดความระมัดระวัง และเจ้าหน้าที่คาดไม่ถึงว่ากลุ่มผู้ก่อการจะกล้าทำในพื้นที่นี้ แต่ที่สำคัญคือมาตรการการตรวจสอบในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างหละหลวมในระยะหลัง
"ระบบป้องกันเราไม่ดี เรามักชะล่าใจ ตื่นตัวระยะหนึ่งแล้วก็กลับมาเหมือนเดิม ตอนหลังผู้ก่อเหตุรุนแรงมักเลือกใช้พาหนะที่กลมกลืนกับสภาพพื้นที่ ทำให้คนไม่สนใจ เช่น รถขนส่งสินค้า รถตู้โดยสาร" เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคง ตั้งข้อสังเกต
ขณะที่ข้อมูลของตำรวจชุดสืบสวน ระบุว่า คนร้ายเลี่ยงนำรถเข้าเมืองผ่านทางเส้นทางสายหลัก แต่กลับไปใช้เส้นทางสายรอง
"รถกระบะที่คนร้ายใช้ทำคาร์บอมบ์ เป็นรถที่โจรกรรมมาจากพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อนำระเบิดใส่รถแล้ว ก็ติดป้ายทะเบียนปลอมเป็นป้ายเบตงเพื่ออำพรางไม่ให้เจ้าหน้าที่สงสัย แล้วคนร้ายจึงนำรถเข้าตัวเมืองเบตง โดยใช้เส้นทาง กม.17 ออกสามแยกปากบาง ตรงมาทาง ต.ยะรม ซึ่งสามารถเข้าสู่ตัวเมืองเบตงได้อีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งจะมีการตรวจของเจ้าหน้าที่เข้มงวดน้อยกว่าเส้นทางสายหลัก"
ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในส่วนกลางซึ่งรับรายงานข้อมูลจากในพื้นที่ บอกว่า การเลือกพื้นที่ อ.เบตง เป็นเพราะเขตเมืองใหญ่อื่นๆ เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยเฝ้าระวังป้องกันได้ดีขึ้น ก่อเหตุได้ยาก จึงต้องเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ ซึ่งเพียง 2 วันก่อนหน้า (23 ก.ค.) คนร้ายก็ลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ในพื้นที่ชนบท คือบริเวณบ่อนไก่ชน ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งไม่ใช่จุดที่คนพลุกพล่าน ส่วนเบตงเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายรัฐค่อนข้างมั่นใจว่าไม่เกิดเหตุ
ทำลายพื้นที่ปลอดภัย
อีกเหตุผลหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นการเลือกสถานที่ก่อเหตุรุนแรงอย่างมีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ก็คือ การเจาะจง "พื้นที่ปลอดภัย" ต่างๆ ดังเช่น อ.เบตง ซึ่งติดกลุ่มอำเภอที่มีสถิติเหตุรุนแรงในระดับเบาบาง และเคยถูกเสนอให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มาแล้ว
หรืออำเภอที่เคยถูกขนานนามว่าเป็น "อำเภอสันติสุข" อย่าง อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อำเภอเดียวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็พบว่าเกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้งมากขึ้นในปีนี้
ขณะที่ "โรงพยาบาล" ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่ควรเกิดเหตุรุนแรงเลย เพราะขัดทั้งหลักมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน กฎการสู้รบ รวมทั้งความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ทว่าโรงพยาบาลโคกโพธิ์ก็เพิ่งเกิดเหตุลอบวางระเบิด "มอเตอร์ไซค์บอมบ์" ในลานจอดรถจักรยานยนต์ของโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 28 พ.ค.57 ถึงขนาดที่ชาวบ้านยังครวญว่า "ขอมีพื้นที่ปลอดภัยสักที่ได้ไหม?"
ส่วนการก่อเหตุในระดับบุคคล โดยเฉพาะการยิงด้วยอาวุธปืนนั้น ก็มุ่งสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยเน้นระหว่างการเดินทาง การดำเนินชีวิตปกติในแต่ละวัน เช่น การเดินตลาดนัด โดยปีนี้มีครูสตรีถูกยิงขณะจอดรถเพื่อลงไปเดินเลือกซื้อของในตลาดช่วงปิดภาคการศึกษา และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสาว รวมทั้งนักศึกษาพยาบาล ต้องจบชีวิตกลางตลาดนัดเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ส่งผลทางจิตวิทยาอย่างรุนแรงว่าไม่มีพื้นที่ไหนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปลอดภัย 100%
ท้าทาย"สงครามตัวเลข"
หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า สถานการณ์ไฟใต้ร้อนแรงขึ้นหรือไม่หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง?
การจะตอบคำถามนี้อย่างฟันธงไปทางใดทางหนึ่ง ต้องบอกว่า "ยาก"
เพราะความจริงข้อหนึ่งที่ต้องยอมรับและให้ความเป็นธรรมกับ คสช.ก็คือ คสช.เข้ามาบริหารประเทศในช่วงใกล้เดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นช่วงที่มีสถิติการก่อเหตุรุนแรงสูงที่สุดของทุกๆ ปี
และหากจะพิจารณาความร้อนแรงของสถานการณ์จากตัวเลขสถิติการเกิดเหตุรุนแรงแต่เพียงด้านเดียว ก็คงสรุปยากเช่นกัน เพราะรูปแบบการนับจำนวนเหตุการณ์ของแต่ละหน่วย แต่ละองค์กรแตกต่างกันมาก ทำให้ผลที่ออกมาแทบจะนำมาใช้อ้างอิงไม่ได้เลย
อย่างไรก็ดี หากเทียบข้อมูลของหน่วยงานราชการด้วยกันเอง ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว (56) มีการตั้ง "ศูนย์ประสานงานและส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอน" โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทุกหน่วยเข้าร่วม เพราะเป็นช่วงทดลองข้อตกลงลดเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอนกับแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ถ้าลองหยิบตัวเลขเฉพาะ 3 สัปดาห์แรกของเดือนรอมฎอนปีที่แล้วขึ้นมาดู จะพบว่ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเพียง 13 เหตุการณ์ ซึ่งต้องยอมรับว่าปีนี้น่าจะสูงกว่า โดยเฉพาะในแง่ความรู้สึก
แต่ก็น่าแปลกที่ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มักออกมาให้ข่าวเชิงเปรียบเทียบอยู่บ่อยครั้งว่าปีนี้เหตุรุนแรงลดลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งที่พูดไปคนในพื้นที่ก็ส่ายหน้า
เรื่องบางเรื่องพูดบ่อยมากไปก็อาจกลายเป็น "ท้าทาย" และไม่มีประโยชน์อะไรหากรัฐจะมุ่งเอาชนะเพียง "สงครามตัวเลข" โดยที่ประชาชนตาดำๆ ซึ่งตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเพิ่งจัดเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร้ายๆ พร้อมอ่านบทกลอน "รอคิวตาย" อย่างน่าเวทนาในชะตากรรมของผู้คนที่นั่น
เจรจารูปแบบใหม่"ตัวเร่ง?"
ส่วนประเด็นการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น "การพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้" นั้น มีแนวโน้มชัดเจนว่าไม่ได้เปลี่ยนแค่ชื่อ แต่จะเปลี่ยนรูปแบบและเป้าหมายการพูดคุย โดยเน้น "คุยตรง" กับกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่เป็นหลัก ส่วนเวทีระดับประเทศเหมือนที่เคยทำในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้น แม้จะยังคงมีอยู่ แต่ไม่เน้นหรือให้น้ำหนักมากเหมือนที่ผ่านมา
เงื่อนไขสำคัญที่ คสช.ตั้งไว้ว่าจะไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอย่างเด็ดขาด คือ ประเด็น "การปกครองตนเอง" หรือ "ปกครองพิเศษ" ทุกรูปแบบ ซ้ำยังไปเขียนสำทับไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 35 กำหนดกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเอาไว้ว่า จะต้องมีเนื้อหารับรองความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้
สอดรับกับคำยืนยันจากทีมโฆษก คสช.อย่าง พ.อ.วินธัย สุวารี เมื่อถูกถามถึงเรื่องการพูดคุยเจรจาดับไฟใต้ในเงื่อนไข "เขตปกครองพิเศษ" ว่า ประเทศไทยไม่มี "เขตปกครองพิเศษ" มีแต่ "การปกครองส่วนท้องถิ่น"
แน่นอนว่าแนวทางการพูดคุยโมเดลใหม่นี้ ย่อมก่อความไม่พอใจให้กับกลุ่มที่เคยอยู่ในสถานะ "ถือไพ่เหนือกว่ารัฐไทย" ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนกลุ่มที่ต่อต้านการพูดคุยเจรจาอยู่แล้วก็จะยิ่งถอยห่างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมรุ่นใหม่ที่ความคิดความอ่านยังร้อนแรง
และประเด็นนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ไฟใต้คุโชนอยู่ในปัจจุบัน กระทั่ง คสช.ยังมิอาจคืนความสุขได้เหมือนพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ!
ไฟใต้ในมือ "บูรพาพยัคฆ์"
ห้วงเวลานี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีที่โครงสร้างการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้มีความ "กระชับ" และเป็น "เอกภาพ" มากที่สุด
เพราะกองทัพหรือฝ่ายทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จ และได้เข้าไปคุมโครงสร้างดับไฟใต้ทุกระดับ หนำซ้ำนายทหารที่มีบทบาทในภารกิจนี้ยังล้วนเป็นพี่น้อง "บูรพาพยัคฆ์" ที่เติมโตมาจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ทั้งหมดด้วย
เริ่มจากโครงสร้างในระดับนโยบาย นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ตท.12) หัวหน้า คสช. ในฐานะบูรพาพยัคฆ์แถวหน้าที่ดูแลกองทัพอยู่ในปัจจุบัน
ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร (ตท.14) เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ซึ่งถือเป็นบูรพาพยัคฆ์แถว 2 รอลุ้นขึ้นหัวแถวในวาระปรับย้ายประจำปีนี้
ระดับปฏิบัติการ คุมเกมโดย พล.ท.วลิต โรจนภักดี (ตท.15) แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) บูรพาพยัคฆ์แถวสามที่รอลุ้นผงาดใน 2 ปีสุดท้ายของอายุราชการ
ช่วงที่ พล.ท.วลิต ลงพื้นที่ไปรับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ใหม่ๆ มีเสียงวิจารณ์ทำนองว่า นอกจากบุคลิกส่วนตัวที่เป็นคน "แข็ง" และไม่ค่อยเป็นกันเองแล้ว สไตล์ของทหารสาย "บูรพาพยัคฆ์" ยังไม่ค่อยเหมาะกับสภาพพื้นที่พิเศษอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
การถูกโยกลงไปรับงานสำคัญโดยที่ตัวเองไม่ได้มีประสบการณ์ตรงกับงานนั้นมาก่อนเลย ถือว่าท้าทายอย่างยิ่งสำหรับ พล.ท.วลิต ท่ามกลางกระแสข่าวลือที่มีต่อเนื่องอย่างไม่หยุดหย่อนว่า เจ้าตัวอาจนั่งแม่ทัพภาค 4 แค่ถึงวาระโยกย้ายประจำปี 57 นี้ แล้วก็จะเก็บกระเป๋าขึ้นไปตามล่าความฝันในขั้นต่อไป
เช่นเดียวกับ พล.อ.อุดมเดช ในหมวกประธาน คปต. ซึ่งคำสั่ง คสช.กำหนดให้ประธานคือ รองผบ.ทบ. หาก พล.อ.อุดมเดช ขยับในช่วงโยกย้ายประจำปี ก็ต้องเปลี่ยนตัวประธาน คปต.อีกหรือไม่ แล้วความต่อเนื่องของงานที่เป็นปัจจัยหนึ่งของความเป็น "เอกภาพ" อยู่ตรงไหน
งานนี้ถ้าสำเร็จก็ได้โล่ไป แต่ถ้าไม่...ก็ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ เพราะมิอาจมีคำแก้ตัวใดๆ ได้อีก!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : จุดเกิดเหตุคาร์บอมบ์หน้าโรงแรมฮอลิเดย์ฮิลล์ ที่ อ.เบตง จ.ยะลา
ภาพโดย : สุเมธ ปานเพชร