ย้อนรอย"สภาที่ปรึกษาศก.สังคมฯ" 13 ปี 2 รัฐประหาร ก่อน คสช.สั่งโละทิ้ง
ย้อนรอยประวัติ 13 ปี “สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมฯ” ผ่านรัฐประหาร 2 ครั้ง 2 รัฐธรรมนูญ อดีตนายกรัฐมนตรี “อานันท์” นั่งประธานคนแรก ก่อนถูก คสช. สั่งโละทิ้ง เหตุขัดแย้งหนัก ฟ้องร้องเพียบกว่า 70 คดี!
กลายเป็นที่ฮือฮาอยู่ไม่น้อย เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 107/2557 ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ลง พร้อมโอนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของ สป. ไปให้นายกรัฐมนตรี ตัดสินมอบหมายงานตามภารกิจในหน่วยงานอื่น
โดยคำสั่งดังกล่าว สรุปใจความได้ว่า สมาชิก สป. ซึ่งครบวาระตั้งแต่ พ.ศ.2556 แม้จะดำเนินการเพื่อให้มาซึ่งสมาชิกชุดใหม่ แต่ไม่อาจดำเนินการได้โดยเรียบร้อย ส่งผลให้มีคดีฟ้องร้องในศาลต่อเนื่องกันมากกว่า 70 คดี ดังนั้นจึงให้สมาชิก สป. สิ้นสุดหน้าที่ลง
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวจาก คสช. ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า นอกเหนือจากการออกประกาศให้สมาชิก สป. สิ้นสุดหน้าที่แล้ว ยังมีความเป็นไปได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะมีการยุบทิ้ง สป. อย่างสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย
(อ่านประกอบ : ขัดแย้ง-ฟ้องร้องหนัก!"ประยุทธ์"สั่งโละทิ้งสภาที่ปรึกษาศก.สังคมฯ)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงประวัติความเป็นมาของ สป. องค์กรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศตามรัฐธรรมนูญ และเคยมีอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ผ่านการรัฐประหาร 2 ครั้ง มานำเสนอ ดังนี้
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 หมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 89 ถือว่าเป็นองค์กรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนพิจารณาให้ความเห็นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนอื่นตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศชาติให้รุ่งเรือง และเพื่อสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด
ต่อมาในปี พ.ศ.2542 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ 20 คน ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย สภาทนายความ รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เพื่อดำเนินการยกร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป จนกระทั่งได้มีการประกาศมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2543
สำหรับสมาชิก สป. มีจำนวน 99 คน ที่ได้รับเลือกจากบุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มในภาคเศรษฐกิจ จำนวน 50 คน และกลุ่มในภาคสังคมฐานทรัพยากร และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 49 คน โดยประธาน สป. จะเป็นคนสั่งงานผ่านสำนักงาน สป. และคณะทำงานอีก 13 คณะ มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี
โดย สป. ชุดที่ 1 เข้าทำงานเมื่อปี พ.ศ.2544 – 2547 มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีนายชุมพล พรประภา และรศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นรองประธานคนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
ต่อมาปี 2548 – 2551 สป. ชุดที่ 2 ก็เข้ามาทำงาน มีนายโคทม อารียา อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธาน มีนายสุธรรม จิตรานุเคราะห์ และนายวรพล โสคติยานุรักษ์ เป็นรองประธานคนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
โดยในช่วงที่ สป. ชุดที่ 2 ดำรงตำแหน่งอยู่นั้น เกิดการรัฐประหารในปี 2549 ส่งผลให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ถูกยกเลิก อย่างไรก็ดีแม้ว่า สป. ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญจะถูกยกเลิกไปด้วย แต่ สป. มีกฎหมายรองรับอีกชั้นหนึ่งคือ พ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2543 ดังนั้น สป. จึงยังคงทำหน้าที่ต่อไป
หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็บังคับใช้ โดยบัญญัติให้ สป. อยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 258 มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อ ครม. ในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
และยังเพิ่มอำนาจ สป. ให้มากขึ้น โดยระบุว่า หาก ครม. มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและแผนอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ จะต้องให้ สป. ให้ความเห็นก่อนพิจารณาประกาศใช้
ต่อมาในปี 2553 – 2556 สป. ชุดที่ 3 ก็เข้ามาทำงาน มีนายโอกาส เตพละกุล เป็นประธาน มีนายสมควร รวิรัช และนางภรณี ลีนุตพงษ์ เป็นรองประธานคนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
หลังจากนั้นเมื่อหมดวาระในปี 2556 ก็อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกชุดใหม่เรื่อยมาจนกระทั่งเข้าสู่ปี 2557 ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเรียบร้อย กลับกันมีคดีฟ้องร้องในศาลถึง 70 คดี!
จนกระทั่ง คสช. ออกประกาศ 107/2557 ให้สมาชิก สป. ที่รักษาการอยู่สิ้นสุดลง และไม่ต้องดำเนินการหาสมาชิก สป. คนใหม่อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงข้อความที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 35 วรรคท้ายระบุว่าให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่จำเป็นต้องมีให้พิจารณามาตรการที่จะให้การดำเนินงานขององค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย
ชี้ให้เห็นว่า สป. อาจจะไม่ใช่แค่องค์กรแห่งแรก และแห่งสุดท้าย ที่ถูกโละทิ้ง?
ส่วนจะมีองค์กรไหนอีกบ้างที่ คสช. เห็นว่ามีปัญหาภายในวุ่นวาย จนจำเป็นต้องสั่ง “โละทิ้ง” เหมือนดังที่เกิดขึ้น กับ "สป."
โปรดจับตาดูกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตา!
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จาก thairath, ภาพ นายอานันท์ ปันยารชุน จาก krumontree