ถอดบทเรียน ‘คอนแทรคฟาร์มมิ่ง’ เพื่อตอบโจทย์ ทำไมต้องแก้สัญญาทาส ?
‘เกษตรพันธสัญญา’ (Contract Farming) มักถูกหยิบยกเอ่ยถึงความไม่เป็นธรรมอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์บก (ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ด สุกร) ที่ได้รับความเดือดร้อนไม่มีเงินทุนหมุนเวียน ถูกฟ้องร้อง ยึดทรัพย์สิน จนสุดท้ายถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว
มีผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2554 ไทยมีเกษตรกรอยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญา 1.5 แสนราย จากเกษตรกรทั้งสิ้น 15.1 ล้านคน ขณะที่อีก 2 ปีต่อมา เครือข่ายเกษตรพันธสัญญาคาดการณ์อาจมีสูงขึ้นเป็น 4 แสนราย และเกษตรกร 1,657 คน ใน 10 จังหวัด (ขอนแก่น, มหาสารคาม, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, ชัยภูมิ, เชียงใหม่, นครปฐม, ลพบุรี, สิงห์บุรี) มีหนี้สินรวมกว่า 1.03 พันล้านบาท
แม้จะเป็นจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับเกษตรกรทั้งประเทศ แต่ต้องยอมรับว่ากลุ่มในระบบเกษตรพันธสัญญานั้นมีบทบาทในการขับเคลื่อนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารมากกว่า 80% ของประเทศ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานรัฐลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริงจัง การแก้ไขปัญหาจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก
หนึ่งในผู้รับชะตากรรมจากระบบเกษตรพันธสัญญา ‘โชคสกุล มหาค้ารุ่ง’ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู จ.เชียงใหม่ บอกว่า ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานกับบริษัทจากฟาร์มหลายแห่งในจ. ลำปาง เชียงราย และเชียงใหม่ ซึ่งล้วนแต่มีผลลัพธ์ด้านรายได้ที่ชัดเจน จึงได้หลงเข้าไปประกอบธุรกิจดังกล่าวร่วม 10 ปี จนปัจจุบันไปไม่รอด และต้องประกาศขายที่ดิน รวมถึงคดีความกับบริษัทก็ยังไม่สิ้นสุด
“ผมบอกเลยว่าไม่มีเกษตรกรเลี้ยงหมูรายใดจะหลุดรอดอย่างสง่าผ่าเผย จนทุกราย เจ็บทุกราย และหมดหวังทุกราย” เขากล่าว และระบุถึงสาเหตุเกิดจากเกษตรกรไม่มีอำนาจจัดการการผลิตอย่างตรงไปตรงมา ทุกอย่างถูกผูกขาดโดยบริษัท
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาดำเนินการตามขั้นตอนเคร่งครัด แต่บริษัทมักแนะนำให้พัฒนาปัจจัยการผลิตบ่อยครั้ง จึงต้องกู้เงินธนาคาร จนเป็นหนี้ในที่สุด ทว่า กลับถูกบริษัทปล่อยให้หนี้ดังกล่าวเป็นภาระความเสี่ยงของเกษตรกรเอง จึงฟันธงว่าไม่สามารถควบคุมกระบวนการผลิตได้
“ผมอยากถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเอง เพราะไม่อยากให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับเกษตรกรรายใหม่ อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ เพราะระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นปัญหาระดับชาติ หากไม่ได้รับการแก้ไข เชื่อว่าไม่เฉพาะเกษตรกรจะอยู่ไม่ได้ ประเทศก็อาจอยู่ไม่ได้ด้วย” โชคสกุล สรุปอย่างรวบรัด
ด้าน ‘สุภาพร ลิ่มจันทร์’ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ จ.พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นผู้ประสบความสำเร็จจากระบบเกษตรพันธสัญญากับซีพี หากไม่เจอมรสุมโรคร้าย ‘ไข้หวัดนก’ เสียก่อน จนต้องล้มเลิกโครงการเลี้ยงไก่เนื้อและเปลี่ยนมาเลี้ยงไก่ไข่แทน พร้อมกับหนี้สินติดตัวค่าก่อสร้างโรงเรือนใหม่สูงถึง 2 ล้านบาท
“ตั้งแต่เลี้ยงไก่ไข่มาไม่เคยขาดทุนในเรื่องรายได้ แต่หนี้สินที่เกิดขึ้นมาจากการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อลงทุนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโรงเรือนบ่อยครั้ง ทำให้ตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน โฉนดที่ดินตัวเองยังคงอยู่ในธนาคาร”
ณ ขณะนี้ชีวิตสุภาพรเป็นอย่างไรนั้น เธอบอกว่า เลิกเลี้ยงไก่ไข่ในระบบเกษตรพันธสัญญาแล้ว เพราะบริษัทไม่ส่งไก่ให้เลี้ยงต่อ เนื่องจากปัญหาโรคสัตว์เกิดขึ้น โดยเธอมองว่าสัญญาที่มีอยู่ไม่เป็นธรรม เพราะหากเกิดภัยธรรมชาติหรือโรคร้าย บริษัทมีสิทธิไม่รับซื้อและบอกเลิกสัญญาได้ แต่ถึงเวลานั้นเกษตรกรก็เกิดหนี้สินขึ้นแล้ว
ไม่ต่างอะไรกับ ‘เบญจมาภรณ์ พึ่งเดชะ’ เจ้าของนาตยาฟาร์ม ไร้ปัญหา มีความมั่นคงด้านรายได้ตั้งแต่ดำเนินธุรกิจกับบริษัทยักษ์ใหญ่ กระทั่งมีไก่ไข่รุ่นหนึ่งป่วยเป็นโรคตั้งแต่วันแรกที่จัดส่งเข้าฟาร์ม ตายวันละ 20-30 ตัว และไม่ไข่ ส่งผลให้เป็นหนี้สูงถึง 3 ล้านบาท ต่อมาได้ฟ้องร้องคดีถึงที่สุด โดยบริษัทยินยอมจ่ายค่าชดเชยให้
ทว่า ต่อมาฟาร์มกลับถูกบริษัทปล่อยลอยแพไม่จัดส่งไก่ให้เลี้ยงอีก แม้จะพยายามติดต่อผ่านทางจดหมายตอบรับก็ไม่เป็นผล เพราะสัญญารุ่นต่อรุ่น หากบริษัทไม่ต่อสัญญาก็ไม่สามารถทำอะไรได้ จึงเกิดความเสี่ยงเกี่ยวกับโรงเรือนที่ได้ลงทุนไปกลายเป็นภาระหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้
‘ณรงค์ เจียมใจบรรจง’ รองกรรมการผู้จัดการ อาวุโส บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรพันธสัญญารายใหญ่ อธิบายว่า ระบบเกษตรพันธสัญญามีแง่บวกและลบ ซึ่งซีพีมีเกษตรกรเลี้ยงสัตว์บกประมาณ 5 ล้านราย ถือเป็นปริมาณไม่มาก อย่างไรก็ตาม ได้มีการยกเลิกขยายโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่แล้ว ส่วนไก่เนื้อมีจำนวนมากขึ้นเพื่อทดแทน และสุกรมีเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น พร้อมกันนี้ ปัจจุบันได้ขยายธุรกิจไปต่างประเทศแล้ว
สำหรับประเด็นที่มีการพูดถึงเกี่ยวกับการหยุดส่งสัตว์เลี้ยงนั้น ผู้บริหารซีพีเอฟ ระบุว่าเกิดจากความไม่เข้าใจในการสื่อสาร ซึ่งบริษัทไม่เคยนิ่งนอนใจ โดยยอมรับอาจมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็พร้อมปรับปรุงแก้ไข
“เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายเพื่อกำกับดูแล และสนับสนุนให้เกิดสัญญากลางที่เป็นธรรม ซึ่งบริษัทยินดีมอบสัญญาให้เป็นตัวอย่าง” ณรงค์ กล่าว และทิ้งท้ายว่าทุกอย่างมีหลายมุม ความจริงที่ได้ยินวันนี้ ส่วนใหญ่จริง แต่อาจจะจริงไม่หมด ดังนั้นขอให้ใช้ข้อมูลครบถ้วนก่อนตัดสินใจ
ขณะที่มุมมองนักวิชาการ ‘ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง’ ผอ.วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่า รายงานแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้หยิบยกเรื่องเกษตรพันธสัญญาเป็นตัวอย่างทางออกหนึ่งสำหรับเกษตรกรเพื่อหวังลดความเสี่ยง หากแต่ตรงข้ามกลับถูกโจมตีจากภาคประชาสังคมก่อให้เกิดภาวะหนี้สินจนล้มละลาย
“ผมคิดว่าเกษตรพันธสัญญาส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ ถ้าเราเชื่อข้อมูลจากซีพีที่ระบุมีเกษตรกรล้มเหลวเพียง 7% ซึ่งเป็นจำนวนน้อยในความคิดของบริษัท แต่หากสมมติเกษตรกรทุก 1 ใน 20 คนล้มละลายก็ถือเป็นปัญหาไม่ควรมองข้ามเช่นกัน”
สำหรับสัญญาออกแบบให้เกษตรกรมีกำไร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ พบว่าส่วนใหญ่จะถูกร่างขึ้นจากบริษัท และยังขาดกลไกในการควบคุม โดยให้อำนาจแก่บริษัทตัดสินใจเกือบทุกกรณี ทำให้เมื่อเกิดปัญหาผิดปกติมักก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่เกษตรกรต้องแบกรับภาระ
‘อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล’ คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ชี้ให้เห็นมุมคิดเชิงเกษตรกรว่า สัญญาเป็นเครื่องมือผูกมัดให้ปฏิบัติตามคำสั่งบริษัท ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้สัญญาสร้างอำนาจการต่อรองที่เป็นธรรมได้และเกิดกลไกภาครัฐทำหน้าที่ตรวจสอบ ด้วยสถิติที่ผ่านมาเกิดข้อร้องเรียนมากมาย ซึ่งล้วนเกิดจากการบิดเบือนไม่ปฏิบัติตามสัญญา และถึงกับมีบางกรณีใช้มาตรการนอกเหนือจากสัญญา
“ระบบเกษตรพันธสัญญาสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เพราะต้องปฏิบัติตามสัญญาที่วางไว้ หากความจริงเบื้องหลังกลับเกิดปัญหา เพราะระบบดังกล่าวขาดกลไกทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญญารองรับ จึงควรสร้างสัญญาที่เป็นธรรม” นักวิชาการ มช. กล่าวในที่สุด
****************
ดูเหมือนปัญหาในระบบเกษตรพันธสัญญาเกิดจากเกษตรกรมีหนี้สินบานปลายจากการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีวันจบสิ้น จนสร้างผลเสียตามมา ฉะนั้นหากปล่อยให้บริษัทถืออำนาจจัดการเบ็ดเสร็จในสัญญา โดยไร้กลไกภาครัฐดูเเล เราคงเห็น 'หยาดน้ำตา' เกษตรกรเเห้งเเล้วเเห้งอีกเป็นเเน่ .
ภาพประกอบ:voicelabour.org-กรุงเทพธุรกิจออนไลน์