เปิดตัว 20 กรรมการขับเคลื่อนดับไฟใต้ชุด "อุดมเดช"
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งฉบับที่ 96/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค.57 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้ตัวย่อว่า คปต.
ทั้งนี้ คปต. อยู่ในโครงสร้างดับไฟใต้ในส่วนของการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ให้มีรองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) เป็นประธาน และมีกรรมการอีก 19 คน ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ปรับโครงสร้างแล้วงานกระชับขึ้น
อนึ่ง รองผบ.ทบ.ที่เป็นประธาน คปต. ได้เปิดตัวมาก่อนหน้านี้แล้วว่าคือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการ คสช. โดย พล.อ.อุดมเดช ได้เริ่มจับงานนี้มาหลายสัปดาห์แล้ว และได้เดินทางลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว 1 ครั้ง
วันจันทร์ที่ 21 ก.ค. วันเดียวกับที่มีคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 96 พล.อ.อุดมเดช ก็ได้เป็นประธานการประชุม คปต.ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเป็นการประชุมครั้งที่ 2/2557
พล.อ.อุดมเดช กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้าคสช. มีความเป็นห่วงสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะแม้จะมีมาตรการและแผนการดูแลพื้นที่ แต่ก็ยังเกิดเหตุรุนแรงอยู่
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว พบว่ายังรักษาสถานการณ์ได้ดี โดยในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้เหตุรุนแรงลดลงถึงร้อยละ 20-30 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะต้องพยายามดูแลต่อไป ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ต้องเหน็ดเหนื่อย จึงขอให้ทุกฝ่ายให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ เพราะคนที่ตั้งใจจะก่อเหตุก็สามารถทำได้ง่าย แต่คนป้องกันทำได้ลำบาก ถึงกระนั้นก็ต้องทำอย่างเต็มที่
พล.อ.อุดมเดช กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีการดำเนินการเรื่องการพูดคุยสันติภาพอยู่ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ทั้งนี้ในระดับพื้นที่ได้เริ่มดำเนินการ ซึ่งก็หวังว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่จะได้ผลดี สำหรับการแก้ปัญหาในภาพรวมนั้น หลังจาก คสช.ได้ปรับโครงสร้างการทำงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ก็ทำให้การแก้ไขปัญหากระชับขึ้น และหัวหน้า คสช.ก็ให้นโยบายเพื่อให้โครงการต่างๆ ขับเคลื่อนไปได้และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่มากที่สุด หลังจากนี้คณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะประชุมเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อลงรายละเอียดมากขึ้น
สั่งหน่วยอื่นร่วมแจงหลังเกิดเหตุร้าย
ภายหลังการประชุม พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน. แถลงว่า หัวหน้า คสช.ได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ที่ค้างอยู่ ซึ่งอยู่ในห้วงไตรมาสที่ 4 รวมถึงมีการสรุปด้านการข่าวโดย กอ.รมน.ให้ที่ประชุมรับทราบ
ทั้งนี้ ใน 3 เดือนที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ถือว่าเหตุรุนแรงลดลงไป 55 เหตุการณ์ ซึ่ง พล.อ.อุดมเดช ได้ฝากกรณีการชี้แจงเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น โดยขอให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมชี้แจงด้วย เช่น หากเกิดเหตุรุนแรงขึ้นกับเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน (อส.) ก็อยากให้เชิญกระทรวงมหาดไทยร่วมชี้แจงด้วย ส่วนถ้าจะต้องมีการชี้แจงให้กับภาคประชาสังคม ให้เชิญผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีอยู่แล้วที่ ศอ.บต. มาร่วมชี้แจงด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงงบประมาณแบบบูรณาการในปีงบประมาณ 2557 ไม่รวมงบพันธกิจของแต่ละกระทรวงที่จะต้องหารือในครั้งต่อไป
เปิดตัวเลขงบ57 เบิกจ่ายแค่ 50%
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้พิจารณาผลการเบิกจ่ายงบประมาณตามกลุ่มงาน ในปี 2557 ได้แก่ 1.กลุ่มงานสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบ มีผลการเบิกจ่ายถึงปัจจุบันร้อยละ 53.72
2.กลุ่มงานการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ มีผลการเบิกจ่ายถึงปัจจุบันร้อยละ 52.78
3.กลุ่มงานพัฒนาศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน มีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ มีผลการเบิกจ่ายถึงปัจจุบันร้อยละ 54.15
อ้างโอไอซีปลื้มไทยมีพัฒนาการดับไฟใต้
พ.อ.บรรพต กล่าวอีกว่า วาระเสนอเพื่อทราบอีกเรื่องหนึ่ง คือ เสนอผลประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ครั้งที่ 41 ซึ่งมีมติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย โดยโอไอซีมีแนวโน้มชื่นชมเรื่องของการส่งเสริมอัตลักษณ์ รวมทั้งสมาชิกของโอไอซีได้แสดงความเข้าใจและชื่นชมการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีพัฒนาการในเชิงบวกมากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เน้นย้ำการบูรณาการร่วมกันในแต่ละกลุ่มงาน คือ เรื่องการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) และการสร้างรั้วโรงเรียน ที่ได้มีการปรับแผนให้ไปติดตั้งในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงการส่งเสริมอาชีพและเพิ่มรายได้ โดยมีการขอให้สนับสนุนโครงการพาคนกลับบ้านของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้นเรื่อยๆ
สมช.ประสานมาเลย์จัดคณะพูดคุยสันติสุข
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันพุธที่ 16 ก.ค. มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน และได้ประชุมทางไกลผ่านจอภาพกับ พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4
ทั้งนี้ ช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. เร่งรัดพูดคุยพัฒนาความสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจกับนักวิชาการ กลุ่มนิสิต นักศึกษา กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ที่ยังเห็นต่างกับภาครัฐ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม
สำหรับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายเเดนภาคใต้นั้น ในระดับนโยบายของไทยพร้อมเดินหน้าตามกระบวนการ ส่วนในระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ขณะนี้สภาความมั่นคงเเห่งชาติ (สมช.) อยู่ระหว่างการประสานกับประเทศมาเลเซียในการจัดรูปแบบ ลักษณะการพูดคุย และคณะพูดคุย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.อุดมเดช เมื่อครั้งลงใต้ครั้งแรกในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อ 7 ก.ค.57