จุดไฟ นำร่องบรูณาการการศึกษา สไตส์เมืองย่าโม
สสค.จับมือ จ. นครราชสีมา นำร่องจัดการการศึกษาบูรณาการ แก้ไขปัญหาความเหลื่อล้ำในสังคม หวังสร้างเด็กและเยาวชนในพื้นที่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานท้องถิ่น
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้รับฟังความคิดเห็นและร่วมถกประเด็นแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา “เมืองย่าโมสไตล์ สู่การจัดการการศึกษาที่มีความหมายต่อชีวิตและการมีงานทำ เพื่อลูกหลานย่าโมทุกคน”
นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงปัญหาของการศึกษาไทยว่า ระบบการศึกษาของไทยยังคงเน้นการศึกษาที่ให้คนเรียนสายสามัญเป็นหลัก ผู้ใหญ่ส่วนมากจะปลูกฝังให้เด็กเรียนต่อสถาบันอุดมศึกษา ไม่แนะนำให้เด็กเรียนต่อสายอาชีพ ส่งผลให้เด็กจบแล้วออกมาตกงาน ไม่มีรายได้เป็นปัญหาของสังคมทีก่ออาชญากรรมและติดยาเสพติด
“สิ่งที่ต้องการเสนอแก้ไขคือการเปลี่ยนแนวคิดให้เด็กมัธยมต้นเรียนต่อสายอาชีพให้มากขึ้น พอเรียนจบแล้วมีงานทำเลี้ยงตนเอง ครอบครัว และสามารถส่งตัวเองเรียนถึงปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกได้เหมือนสายสามัญอีกด้วย”
ส่วนปัญหาความยากจน โดยเฉพาะในแถบชนบทที่มีอาชีพเกษตรกรรมนั้น รองผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ต้องเพิ่งผลผลิตทางการเกษตร ราคาตลาด เป็นหลัก โดยปีที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรมีราคาต่อหน่วยสูง เกษตรกรก็มีเงินส่งลูกเรียนได้มากขึ้น แต่ถ้าปีใดประสบปัญหาอุทกภัย ฝนแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรไม่ดี หรือราคาตลาดไม่ดี ขาดทุนสูง โอกาสในการเรียนหนังสือของเด็กก็น้อยลง เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมและค่าครองชีพ เป็นต้น ฉะนั้นควรสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นลูกคนรวยคนจน อยู่ในเมืองหรือ ชนบท ก็ควรมีโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม
อย่างไรก็ดี นายวินัย กล่าวถึงครูแนะแนวว่า มีบทบาทสำคัญเพราะครูสามารถระบุได้ว่าเด็กคนไหนมีความสามารถไหนด้านไหนอย่างไร จึงอยากให้ทำหน้าที่อย่างจริงจัง คอยแนะนำนักเรียนไปไหนทางที่เด็กถนัดที่สุด
"การแก้ไขปัญหาควรแก้ไขที่ต้นเหตุ โดยเริ่มจากท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทช่วยจัดการ พัฒนาความสามารถของเด็ก และต้องจัดการอย่างจริงจังเพื่อทำให้เด็กในจังหวัดเวลาเรียนจบแล้วสามารถทำงานในท้องถิ่นตัวเองได้ไม่มุ่งแต่จะเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯเพียงอย่างเดียว" รองผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา กล่าว และว่า ถ้าให้ท้องถิ่นจัดระบบการศึกษาจะรู้ความต้องการของท้องถิ่นตนเอง รู้ตลาดแรงงานของตนเองก็จะสามารถผลิตคนได้ตรงกับความต้องการ เด็กก็ไม่ต้องอพยพเข้าไปในเมืองใหญ่หรือเข้ามาเรียนที่กรุงเทพ เด็กก็จะอยู่กับบ้าน ช่วยลดความแออัดและลดรายจ่ายด้วย รวมถึงการจัดสรรงบประมาณควรทำให้เกิดความเสมอภาค โดยจังหวัดยากจนได้รับงบประมาณมากกว่า เพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสมสอดคล้องกับปัญหาของจังหวัด
ด้าน รศ.ดร.ชาญชัย อินทรประวัติ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.) มองระบบการจัดการศึกษาท้องถิ่นว่า ท้องถิ่นสร้างการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตจริงภายในพื้นที่ ส่งผลให้มีหลายจังหวัดลุกขึ้นมาจัดการศึกษาเพื่อคนในท้องถิ่นตนเอง เป็นการจัดการการศึกษาที่มีความหมายต่อชีวิตและการมีงานทำ กรณีของโคราช อบจ. ได้รับเป็นแม่งานจาก สสค.เพื่อเปิดเป็นพื้นที่นำร่องให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา จัดให้มีรูปแบบที่แตกต่างตามบริบทของพื้นที่ที่มีความหลากหลาย
“สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ช่วยกันออกแบบ ร่วมกันสร้างสรรค์จึงจะทำได้สำเร็จได้ ทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยกันจัดการดึงทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่นำออกมาใช้ประโยชน์ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อกระจายสิ่งดีออกไปให้เต็มพื้นที่” รองนายกฯ อบจ.นครราชสีมา กล่าว
ขณะที่ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการ สสค. แสดงข้อมูลดัชนีการศึกษารายจังหวัดประจำปี 2557 ในโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่ได้จัดทำการสำรวจสถานการณ์คุณภาพการศึกษาของไทย โดยวัดจากจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ย ความฉลาดทางสติปัญญา (Intelligence Quotient) หรือ IQ ของเด็กอายุ 6-15 ปี พบว่า อัตราการเข้าเรียน ต่อระดับชั้นมัธยมศึกษา และคะแนน โอเน็ต ระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 6 ของจังหวัดนครราชสีระบุว่า มีดัชนีการศึกษาอยู่ในลำดับ ที่ 44 ของประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยต่ำ ส่วนคะแนนโอเน็ตอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยประเทศ
ข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ปี 2554 ชี้ให้เห็นว่า มีจำนวนเด็กยากจนสูงถึง 193,709 คิดเป็นร้อยละ 60.41 ของเด็กในจังหวัดนครราชสีมาทั้งหมด นอกจากข้อมูลยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอีกว่า เด็กกลายเป็นคนเร่ร่อน ที่อาศัยอยู่บริเวณข้างทางรถไฟ สวนรัก และหอนาฬิกา
“โจทย์ท้าทายของโคราชคือทำอย่างไรให้การศึกษาพื้นฐานเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพทั้งจังหวัด และสามารถลดความเหลื่อมล้ำจากความยากจน เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆที่อยู่นอกเหนือจากองค์กรการจัดการศึกษา เป็นต้น”
“การทลายกำแพงจากกรอบแนวคิดการทำงานเฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งซึ่งจะหลายฝ่ายจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยนำโจทย์เยาวชนคนย่าโมเป็นตัวตั้ง” ที่ปรึกษาวิชาการ สสค. กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีกรณีตัวอย่างของการจัดการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา ในโครงการ “โรงเรียนในโรงงาน” ที่สถาบันเทคนิคสุนารีลงนามบันทึกความร่วมมือกับบริษัท แพรนด้าบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) สาขานครราชสีมา มานานกว่า 8 ปี ผลิตบุคลากรในระดับหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยตรง โดยการร่วมกันออกแบบการจัดการเรียนการสอน จัดให้นักเรียนฝึกงานและทำงานจริงในโรงงานจำนวน 2 ภาคเรียนการศึกษา เพื่อให้เรียนรู้การทำงานในชีวิตจริง พร้อมทั้งมีค่าเบี้ยเลี้ยงเป็นค่าตอบแทน ทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียนไปด้วย