เสียงเล็กๆ จากชายแดนใต้...หยุดพรากชีวิตผู้หญิงและเด็กเสียที
ปีนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ ปีของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกสังหารและตกเป็นเป้าโจมตีด้วยอาวุธเป็นจำนวนมาก
ยิ่งในระยะหลังโดยเฉพาะปี 56 ที่มีการริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐนำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น ทำให้ความรุนแรงเบนเป้าไปยังเจ้าหน้าที่่รัฐผู้ถืออาวุธมากขึ้น ขณะที่ผู้บริสุทธิ์และเป้าหมายอ่อนแอ อาทิ เด็ก ผู้หญิง คนชรา พระ ฯลฯ ตกเป็นเป้าน้อยลง ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าสถานการณ์ในภาพรวมเริ่มดีขึ้น
ทว่าเมื่อการกระบวนการพูดคุยสันติภาพยุติลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นปี 57 และผู้บริสุทธิ์ที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอกลับมาเป็นเหยื่อความรุนแรงอีกครั้ง รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จึงทำให้ความรู้สึกของผู้คนในสังคมมองว่าสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเป็นสองเท่า
ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดได้ไม่นาน และสะท้อนภาพความรุนแรงอย่างไร้ขอบเขต ก็เช่น
13 ก.ค. คนร้าย 2 คนมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนพกขนาด 9 มม.ประกบยิง นางแดง จันทร์คง อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 33 หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เสียชีวิตคาที่ ขณะกำลังขี่รถจักรยานยนต์กลับจากงานบวช มุ่งหน้ากลับบ้าน เหตุเกิดกลางวันแสกๆ
9 ก.ค. คนร้ายจ่อยิง 2 นักศึกษาสาวจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรจังหวัดยะลา เสียชีวิตกลางตลาดนัดที่ ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา เหตุเกิดกลางวันแสกๆ เช่นกัน
ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีมีผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อสังหารโหดแล้วจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีฆ่าเด็ก 3 ศพที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 3 ก.พ. สังหารหมู่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหญิง พร้อมตัดศีรษะ เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา หรือแม้กระทั่งเหตุยิงนักวิชาการสาธารณสุขหญิงที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เสียชีวิต ทั้งๆ ที่เธอกำลังตั้งท้องได้ 2 เดือน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และกลุ่มด้วยใจ เปิดเผยตัวเลขผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเฉพาะปี 57 ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.57 จนถึงปัจจุบันมีผู้หญิงต้องสังเวยชีวิตไปแล้วกว่า 30 คน และบาดเจ็บถึงกว่า 60 คน
ด้วยเหตุนี้ สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ พร้อมด้วยองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายองค์กร อาทิ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เครือข่ายยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ได้ร่วมกันจัดโครงการ "หยุดพรากชีวิตผู้หญิงและเด็ก" หรือ Breaking the Wall of silence เพื่อส่งเสียงเล็กๆ จากในพื้นที่ให้กลายเป็นพลังต่อต้านคัดค้านความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิง เด็ก และผู้บริสุทธิ์
น.ส.ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ระบุว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 47 จนถึงปัจจุบัน นับรวมได้ 10 ปีเศษแล้ว แต่ยังไม่มีแนวโน้มว่าความรุนแรงจะลดลง ซ้ำยังทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการ ซึ่งในจำนวนนั้นมีผู้หญิงและเด็กรวมอยู่ไม่น้อย
ยิ่งในระยะหลัง ความรุนแรงได้พุ่งเป้าไปที่ "ผู้หญิง" รวมทั้งบุคลากรทางสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ทำให้ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะองค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิง รวมทั้่งประชาชนทั่วไปมีความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ผู้หญิง เด็ก คนชรา และบุคลากรทางสาธารณสุข ล้วนได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชนในอิสลาม แม้ในพื้นที่สงครามก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ ทางสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ จึงได้จัดโครงการ "หยุดพรากชีวิตผู้หญิงและเด็ก" เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนที่มีความห่วงใยในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้หญิงได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ พร้อมหาแนวปฏิบัติเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในพื้นที่สู้รบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนหาแนวทางป้องกันและจัดทำข้อเสนอแนะต่อผู้รับผิดชอบเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก
ทั้งนี้ กิจกรรมจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 22 ก.ค.นี้ เวลา 09.30-12.30 น. ที่ห้องจะบังติกอ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยจะมีครอบครัวของผู้หญิงที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บร่วมเสวนากับผู้นำศาสนา ผู้แทนจากหน่วยงานความมั่นคง นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งนี้ จะมีการอ่านแถลงการณ์ "Breaking the Wall of Silence : หยุดพรากชีวิตผู้หญิงและเด็ก" ร่วมกันด้วย
อนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้หญิงเกือบทั้งหมดที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในปี 57 เป็นผู้หญิงไทยพุทธ ทำให้ตัวแทนประชาชนชาวพุทธในพื้นที่ชายแดนใต้รวมตัวกันเป็น "เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ" และเคยออกแถลงการณ์ต่อต้านความรุนแรงที่กระทำต่อคนพุทธและคนทุกศาสนิกมาแล้ว
ครั้งนี้ก็เช่นกัน...สุภาพสตรีขอสงวนนาม ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนชาวพุทธในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า "ขอเรียกร้องให้หยุดฆ่าคนของเราและคนทุกศาสนิก เราทนไม่ไหวแล้วที่พี่น้องของเราถูกฆ่า ซึ่งไม่ใช่แค่คนพุทธ แต่รวมถึงเป้าหมายอ่อนแออื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง คนแก่ พระ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพียงแต่คนพุทธเป็นชนกลุ่มน้อยของที่นี่ และไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่ถืออาวุธ"
"เราอยากสื่อสารแต่ไม่อยากออกตัว เพราะหลายคนยังมีภาระรับผิดชอบ เราไม่เห็นดัวยกับการกระทำกับเป้าหมายอ่อนแอทุกศาสนิก คนที่ทำไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษในสงครามเลย จึงทำให้ถูกประณามและถูกสาปแช่งจากคนทั่วประเทศ เชื่อว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่สามารถควบคุมสมาชิกของตนเองในบางระดับได้"
"คนเหล่านี้เขาอ้างว่าทำเพราะมีอุดมการณ์ ทำเพื่อประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ถูกเอาเปรียบ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ทำไมถึงต้องฆ่าคนบริสุทธิ์ อย่างนี้เรียกว่าอุดมการณ์อะไรกันแน่ หรือคุณกำลังทำเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มเดียวซึ่งเป็นพรรคพวกของคุณ"
หากความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ยังไม่หยุดลง เสียงเหล่านี้คงดังขึ้นเรื่อยๆ และทำลายความชอบธรรมของผู้ที่ใช้ความรุนแรงให้หมดไปในที่สุด!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : โปสเตอร์งานเสวนา "หยุดพรากชีวิตผู้หญิงและเด็ก" หรือ Breaking the Wall of silence