คณะทำงานรณรงค์กม. 4 ฉบับ เปิดข้อมูลที่ดินรกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์
คณะทำงานรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับ เปิดข้อมูล ผู้มีที่ดินเยอะแต่ไม่ใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างการพูดคุยกันในสังคม เกิดอะไรขึ้นกับการใช้ที่ดินในประเทศไทย
จากข้อมูลจะเห็นว่า "กลุ่มคนที่มีที่ดินมากกว่า 50,000 ไร่ขึ้นไป" แต่กลับใช้ประโยชน์ในที่ดินเพียง 1,500 ไร่ ซึ่งคิดเป็น 3 % จากที่ดินที่ตนเองถือครองเท่านั้น ที่เหลืออีก 97 % หรือ อีกอย่างน้อย 48,500 ไร่ ถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการทำประโยชน์
"ส่วนกลุ่มคนที่มีที่ดินมากกว่า 10,000 ไร่ขึ้นไป" ก็ใช้ประโยชน์ในที่ดินเพียง 3,000 ไร่ ซึ่งคิดเป็น 30 % จากที่ดินที่ตนเองถือครอง ที่เหลืออีก 70 % หรืออีกอย่างน้อย 7,000 ไร่ ถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการทำประโยชน์
ในขณะที่ "กลุ่มคนที่มีที่ดินมากกว่า 5,000 ไร่ขึ้นไป" ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ตัวเองมีอยู่เพียง 3,500 ไร่ ซึ่งคิดเป็น 70.83 % ของที่ดินที่ตนเองถือครอง แม้จะเหลืออีกเพียง 29.17 % ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการทำประโยชน์ แต่ก็ถือเป็นจำนวนมากถึง 1500 ไร่
ข้อมูล 3 กลุ่มแรกนี้ เป็นบุคคลหรือนิติบุคคล ผู้ร่ำรวยที่ดินระดับแถวหน้าของประเทศ จำนวนไม่กี่ร้อยรายเท่านั้น
จากข้อมูลงานวิจัยของอ.ดวงมณี เลาวกุล “การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย” พบว่าเมื่อปี 2555 มีบุคคลและนิติบุคคลเพียง 837 ราย เท่านั้น ที่ถือครองที่ดิน(โฉนด) เกิน 1,000 ไร่ ขึ้นไป ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.01 % ของผู้ถือครองที่ดินแบบโฉนดทั่วประเทศ
และในจำนวน 837 รายนั้น มีบุคคลธรรมดารเพียง 359 รายที่ถือครองที่ดินเกิน 1,000 ไร่ขึ้นไป ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.00055 % จากคนไทย 65 ล้านคน
ในขณะที่เมื่อเรา ดูข้อมูลของกลุ่มคนผู้ถือครองที่ดินในระดับมากกว่า 200 ไร่ ขึ้นไป กลับพบว่ามีการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยเฉลี่ยมากถึง 71.74 %
ข้อมูลชุดนี้กำลังบอกเราว่า “ยิ่งมีการถือครองที่ดินมาก กลับยิ่งมีการใช้ประโยชน์ในที่ดินน้อย” และนั่นย่อมหมายถึงการสูญเสียโอกาสและมูลค่าทางเศรษฐกิจของสังคมไทยโดยภาพรวม
อ้างอิง
1. การถือครองที่ดินและการใช้ประโยชน์จากที่ดิน มูลนิธิสถาบันที่ดิน พ.ศ. 2544
2. ทะเบียนคนจน พ.ศ.2547
3. จำนวนผู้ถือครองที่ดินประเภทบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ทั่วราชอาณาจักรจำแนกตามขนาดการถือครองปี พ.ศ. 2555 จากงานวิจัยของ ดวงมณี เลาวกุล “การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย”ในโครงการวิจัย สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป สนับสนุนโดย สกว. สกอ. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชุดทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น ศ. ดร ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นหัวหน้าโครงการ