ตัวแทนศาสนาหนุนปลุกศีลธรรมในจิตใจคน แก้ปัญหาอาชญากรรม
ตัวแทนศาสนาเชื่อโทษประหารชีวิตได้แค่ความสะใจแต่แก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้ ย้ำถึงเวลาเรียกคืนศีลธรรม ชี้กฎหมายไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกเรื่องต้องอาศัยกฎธรรมะในจิตใจช่วย ขณะที่ตัวแทนศาสนาอิสลามหนุนโทษประหารเชื่อยับยั้งอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกสตรี จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ฆ่า ข่มขืน โทษประหาร สังคมไทยจะก้าวไปทางใด” ณ ห้องประชุมวัดบ้านเซเวียร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
สมณะพระพุทธ จนฺทเสฏโฐ (ท่านจันทร์สันติอโศก) นักบวช นักเทศน์ ผู้แทนศาสนาพุทธ กล่าวถึงการประหารคือการทำลายชีวิตคน ดังนั้นทางพุทธศาสนาจึงไม่แนะนำให้ทำการประหาร โดยเสนอให้ยกเลิกโทษประหารทุกกรณี เนื่องจากที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าโทษประหารชีวิตนั้นมีมานานแล้วแต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้อาชญากรรม และอาชญากรลดลง จึงเห็นว่ามีวิธีการที่จะลดปัญหาเหล่านี้ได้ดีกว่าการประหารชีวิต
“เราเห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดโดยปราศจากการฆ่าหรือทำลายชีวิตมนุษย์ และมุ่งหวังที่จะเห็นศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเนื่องจากศีลธรรมจะช่วยสร้างจิตสำนึกให้มนุษย์ยับยั้งชั่งใจตนเองก่อนจะกระทำการใดๆ”
ด้านดาโต๊ะ ดร.อิหม่าม พัฒนา หลังปูเต๊ะ ผู้แทนพระองค์กษัตริย์แห่งมาเลเซีย ผู้แทนศาสนาอิสลาม กล่าวว่า ศาสนาอิสลามมีหลักการว่า ต้องยึดถือพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า คืออัลกุรอาน ซึ่งเป็นธรรมนูญชีวิตของมุสลิมทุกคน ซึ่งอัลกุรอานบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ชีวิตต้องใช้ด้วยชีวิต ตาต่อตาฟันต่อฟัน ถ้าข่มขืนคนอื่นต้องถูกลงโทษด้วยการจับไปเฆี่ยน หรือถูกขว้างด้วยหินจนตาย บางคนมองว่าป่าเถื่อน แต่จริงๆแล้วในประเทศที่บังคับใช้กฎหมายนี้ แต่ละปีมีคนถูกลงโทษเพียงไม่กี่กรณีเพราะเกิดความเกรงกลัว
ผู้แทนศาสนาอิสลาม กล่าวด้วยว่า ในศาสนาอิสลามไม่เพียงแต่ห้ามผิดประเวณี แต่ยังห้ามไม่ให้เข้าใกล้พฤติกรรมที่เข้าใกล้ความผิดด้วย วันนี้ถ้าเราให้อภัยโดยไม่คิดจะทำอะไร กรณีการข่มขืนฆ่าเด็กหญิงอายุ13ปี บนรถไฟ เราจะปล่อยให้เกิดเหตุอย่างนี้เกิดขึ้นต่อไปอีกหรือ เพราะเท่าที่เห็นมาคนที่ต้องโทษในคดีอาชญากรรมบางคนโดนลงโทษประหารชีวิต ถูกลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต อยู่ไปอยู่มาลดโทษลงเรื่อยๆ สักพักก็ออกมาเหมือนเดิม มิหนำซ้ำบางคนพอเข้าไปก็กลับไปเป็นมาเฟียอยู่ในเรือนจำก็มี ดังนั้นยืนยันว่า คดีเหล่านี้ควรลงโทษด้วยการประหารชีวิต เพราะการประหารชีวิตไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการยับยั้งอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะที่บาทหลวงวิชัย โภคทวี เอส.เจ.คณะเยสุอิต ผู้แทนศาสตร์คริสต์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเห็นว่าทุกคนในสังคมล้วนต้องมีส่วนในการรับผิดชอบและแก้ไขปัญหา เพราะเราบาปกันทุกคนถึงทำให้สังคมเป็นเช่นนี้ หากคิดให้ดีว่าการลงโทษด้วยการประหารชีวิตทำไปแล้วได้อะไร นอกจากความสะใจหรือการได้แก้แค้น ซึ่งความจริงแล้วพวกเราทุกคนสามารถเป็นผู้ร้ายข่มขืนคนได้เช่นเดียวกัน แต่เราโชคดีเกิดในตระกูลดี มีการศึกษาดี มีเพื่อนดี ไม่ติดยาเสพติด แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสดีๆ เช่นเดียวกับเรา ดังนั้นบาปนี้จึงเป็นบาปของสังคม
"โทษประหารจึงเปรียบเสมือนการเอาก้อนกรวดออกจากรองเท้า แต่ถนนที่เดินยังคงเต็มไปด้วยกรวดหิน ทำไมเราจึงไม่ช่วยกันเก็บกวาดถนนนั้นให้สะอาด" ผู้แทนศาสนาคริสต์ กล่าว และว่า ส่วนครอบครัวเองก็ต้องเคร่งครัดในการอบรบลูกหลาน โรงเรียนต้องสร้างคนให้เป็นคน สังคมต้องช่วยกันระมัดระวัง ศาสนาต้องช่วยกันสร้างจิตสำนึกที่ดี กฎหมายไม่มีทางครอบคลุมได้ทุกอย่างจะต้องอาศรัยกฎของธรรมะในจิตใจด้วย
ส่วนนางวิสา เบ็ญจะมโน ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก สตรี และความเสมอภาคของมนุษย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายตกเป็นเหยื่อ ด้านหนึ่งคือเหยื่อของความรุนแรง อีกด้านคือเหยื่อของสังคม สังคมไทยยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับโอกาส และกลายเป็นผู้กระทำผิด โทษประหารชีวิตในทางสิทธิมนุษยชนทำไม่ได้เลย ในร้อยกว่าประเทศยกเลิกโทษประหารแล้ว แต่ยังมีอีก 58 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่ยังมีโทษประหารอยู่ ซึ่งในประเทศไทยก็มีการชั่งน้ำหนักว่าควรจะยกเลิกหรือไม่ กรรมการสิทธิฯ คงต้องไปไตร่ตรองอย่างหนัก สุดท้ายแม้เราจะมีกฎหมายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการคุ้มครองเด็ก การค้ามนุษย์ แต่การกระทำผิดในสังคมก็ยังมีอยู่ ดังนั้นเราจึงควรกลับไปสู่การหล่อหลอมความเป็นมนุษย์โดยศาสนา ครอบครัว และสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดการประพฤติที่เหมาะสมในสังคม