บริษัทแห่ขอทำเหมืองทอง กพร.ให้ตั้งกองทุนฟื้นฟูชุมชน
6 บริษัทแห่ขอประทานบัตรทำเหมืองรับราคาทองพุ่ง พื้นที่เพชรบูรณ์ พิจิตร จันทบุรี ระยอง พิษณุโลก เชียงราย สุราษฎร์ สตูล อธิบดีกรมเหมืองฯ เผยพิจารณาเสร็จใน 2 ด.
นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า ภายหลังมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องนโยบายสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำ คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.แร่จะสามารถพิจารณาคำขออาชญาบัตรพิเศษเหมืองทองคำ จะเร่งพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 เดือน จากนั้นจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ลงนาม มีผู้ประกอบการที่ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษทำเหมืองทองคำมีจำนวน 6 ราย ประกอบด้วย
1.บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ขอสำรวจ 53 แปลง ในจังหวัดเพชรบูรณ์และพิจิตร 2.บริษัท เอราวัณ ไมนิ่ง จำกัด ขอสำรวจ 4 แปลง ในจังหวัดจันทบุรีและระยอง 3.บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ขอสำรวจ 4 แปลง ในจังหวัดจันทบุรี ระยอง และพิษณุโลก 4.บริษัท อารอน ไมนิ่ง จำกัด ขอสำรวจ 4 แปลง ในจังหวัดจันทบุรี 5.บริษัท อมันตา มิเนอรัลส์ จำกัด ขอสำรวจ 3 แปลง ในจังหวัดเชียงรายและสุราษฎร์ธานี 6.บริษัท อมันตา จำกัด ขอสำรวจ 1 แปลง ที่จังหวัดสตูล รวมพื้นที่ 603,591 ไร่ ที่ผ่านมา กพร.ให้ประทานบัตรเหมืองทองคำไปแล้ว 30 แปลง ในพื้นที่ 7,619 ไร่ และให้อาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำไปแล้ว 53 แปลงในพื้นที่ประมาณ 500,000 ไร่
"กพร.แจ้งผู้ประกอบการทุกรายแล้วว่ากำลังพิจารณา ขณะนี้ไม่มีผู้ประกอบการถอดใจไม่ลงทุน แม้จะยื่นขอสำรวจมาหลายปีแล้ว เพราะราคาทองคำมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง" นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวว่า มีข้อกำหนดคือ แผนลงทุนแต่ละปีชัดเจน บริษัทคนไทยต้องถือหุ้น 51% ต้องวางเงินค้ำประกัน 500,000 บาทต่อไร่ เป็นหลักประกันว่าจะลงทุนทำเหมือง ป้องกันขอใบอนุญาตเพื่อนำไปขายต่อ หรือหากไม่ทำเหมืองจะใช้เงินค้ำประกันดังกล่าวฟื้นฟูพื้นที่ เมื่อถึงขั้นตอนขอประทานบัตรทำเหมืองทองคำจะต้องจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ และกองทุนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อฟื้นฟูสภาพเหมือง ทั้งสองกองทุนจะเก็บจากรายได้ส่วนหนึ่งของเหมืองที่สะสมไว้ในแต่ละปี ทั้งนี้ระเบียบทองคำใหม่จะไม่เน้นเรื่องค่าภาคหลวง แต่เน้นดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน
นายสมเกียรติ กล่าวว่า นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และถ้าจะลงทุนโรงแต่งแร่ในเหมืองด้วยจะต้องทำรายงานผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) ด้วย จะต้องจัดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียทุกขั้นตอนในการทำอีเอชไอเอ โดยในส่วนบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มีแผนขยายการลงทุนโรงแต่งแร่เช่นกัน
ที่มาภาพ : http://www.121easy.com/contentn.php?id=1143