ดร.บัณฑูร แนะการปฎิรูปต้องเริ่มทำจาก 6 ข้อ ทำเชื่อมโยงกัน
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรฒม์ แนะการเดินหน้าปฎิรูปควรเริ่มจาก 6 ข้อหลักย้ำต้องทำพร้อมกันทั้งการเมือง ระบบราชการ เศรษฐกิจ ยุติธรรม คอร์รัปชัน และทรัพยากร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 เครือข่ายภาคประชาสังคม กว่า 10 องค์กร จัดงานเสวนา "ต่างไทยใจเดียว" ขึ้นเป็นวันที่ 2 โดยในครั้งนี้มีการเสวนาภายใต้หัวข้อ "Togetherness ก้าวข้ามความขัดแย้ง" ณ ลานเซ็นทรัลคอร์ท ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด ถนนราชวิถี กรุงเทพฯ
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรฒม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานต่างใจไทยเดียวครั้งนี้ว่า ในปัจจุบันสังคมไทยมีปัญหาความขัดแย้งหลายรูปแบบ ทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น การที่จะก้าวผ่านความขัดแย้งได้ต้องอาศัยการปฏิรูปที่ยั่งยืน เพราะความขัดแย้งเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากประเด็นความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมในด้านต่างๆ ถ้าสามารถก้าวข้ามและทำได้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้จะไม่กลับเข้ามาสร้างปัญหาและเป็นวงจรอีกในอนาคต
“ความขัดแย้งเราสามารถจัดการในระยะอันสั้น ในลักษณะของการกดทับไว้ แต่ถ้าหากอยากแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนอันนี้ต้องไปจัดการโดยการปฏิรูปแก้ปัญหาโดยการแก้ไขด้วยรากฐานจะดีกว่า”ผอ. สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าว
ดร.บัณฑูร กล่าวว่า ในระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้ ควรเร่งปฏิรูป 6 เรื่องให้ได้ก่อน ซึ่งได้แก่ การเมือง คอร์รัปชั่น ระบบราชการ ระบบยุติธรรม เศรษฐกิจ ฐานทรัพยากร เพราะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งการเข้าถึงของคนนั้นต่างกันมากโดยเฉพาะเรื่องที่ดิน เพราะฉะนั้น 6 เรื่องนี้ควรทำเชื่อมโยงกัน ต้องทำพร้อมๆกัน เพราะทุกเรื่องเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันแยกกันไม่ออก
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีการอุ้มหายในปัจจุบันว่า ความคิดของบางคนที่ว่า ปัญหาจะหายไป ถ้าคนที่เห็นต่างถูกทำให้หายไปด้วย แต่สุดท้ายก็พบว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แก้ปัญหาเลย ทั้งนี้ในอดีตสถานการณ์การอุ้มหายนั้นอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน แต่ว่ายังไม่มีใครเป็นเสียงที่บอกว่า สังคมนั้นเกิดอะไรขึ้น
“ดิฉันเริ่มจากการที่ว่า เราจะหาจากความยุติธรรมได้อย่างไร ถ้าหากเชื่อมั่นว่าการที่คนคนหนึ่งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างยิ่งใหญ่ ทำอย่างไรเราจะสามารถคืนความเป็นธรรมให้กับตัวเองได้ ทำอย่างไรเราจะสามารถคืนศักดิ์ศรีและอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเสมอภาคกัน”
นางอังคณา กล่าวถึงการได้ผลิตงานวิจัยขึ้นมา 1 ชิ้น เพื่อหวังที่จะช่วยเหลือเหยื่อในการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเชื่อมั่นว่าความยุติธรรมจะนำไปสู่การสร้างเสรีภาพ ในการวิจัยดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545-2555 จากข้อมูลพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีบุคคลที่ถูกอุ้มหายเป็นจำนวนไม่น้อย และพบว่า นโยบายของรัฐ 2 ประการที่ส่งผลให้บุคคลต้องสูญหายคือ นโยบายการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนโยบายการปราบปราบยาเสพติด
“ในงานวิจัยพบว่า คนที่ถูกอุ้มหายทั่วประเทศ มีอยู่ 40 กรณี อุ้มหาย 59 คน โดยวิธีการเราค้นพบ 3 รูปแบบ คือ 1. เหยื่อจะถูกเชิญตัวให้ไปพบเจ้าหน้าที่ และหลังจากนั้นก็หายไป 10 % 2.ถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับ อาจจะถูกจับกุมไปจากบ้าน ระหว่างเดินทาง หรือที่ไหนก็ได้ 22 % และมากที่สุดคือ 60 % ที่อาจจะอยู่ทั้งในและนอกเครื่องแบบนำตัวไป”
สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล นางอังคณา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับสูญหายแก้กฎหมายในให้การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรม ซึ่งก่อนหน้าที่รัฐบาลได้ลงนามแล้วแต่ไม่ได้ให้สัตยาบันแต่อย่างใด