สธ.ยันไม่มีแนวคิดล้มระบบการทำงาน สปสช. หรือให้ปชช.ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล
ปลัดก.สาธารณสุข ยืนยันไม่มีแนวคิดให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ระบุเป็นเพียงข้อเสนอของผู้เข้าประชุมเท่านั้น รวมทั้งไม่มีแนวคิดล้มระบบการทำงานของ สปสช. ย้ำชัดต้องการเพียงแค่ปรับระบบการเงินการคลังให้สอดคล้องกับการปฏิรูป
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการปฏิรูประบบการทำงาน โดยมีการกระจายอำนาจการบริหารไปที่เขตบริการสุขภาพ ซึ่งในการดำเนินการปฏิรูปครั้งนี้ ต้องมีการปรับระบบการทำงาน การบริหาร รวมทั้งการบริหารจัดการเรื่อง บุคลากร งบประมาณ และทรัพยากร ไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ กระทรวงสาธารณสุขได้เชิญนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จากทั่วประเทศ ระดมความคิด ร่วมพิจารณา(ร่าง) ข้อเสนอการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบขาลง) ประจำปีงบประมาณ 2558 เมื่อวันที่1-2 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมาโดยมีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมอย่างเป็นทางการ ในบทบาทที่ควรจะเป็นระหว่างสปสช. (ผู้ซื้อบริการ)กับกระทรวงสาธารณสุข (ผู้ให้บริการหลัก) เพื่อสร้างระบบบริการที่มีความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ให้ทุกหน่วยบริการได้รับค่าใช้จ่ายขั้นต่ำที่เพียงพอ เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้ โดยไม่เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ลดความขัดแย้งระหว่างหน่วยบริการที่ใช้การเงินเป็นตัวตั้งมากกว่าการเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เน้นบริการส่งเสริมสุขภาพเป็นรายกลุ่มอายุตามบริบทของแต่ละพื้นที่ จัดการบริหารระบบบริการสุขภาพ เป็นเขตพื้นที่12เขต พัฒนาขีดความสามารถเพื่อให้บริการประชาชนเบ็ดเสร็จภายในเขต ลดการส่งต่อออกนอกเขตเพื่อความสะดวกของผู้รับบริการ มีการบริหารในรูปแบบของคณะกรรมการโดยมีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมบริหารในทุกๆระดับการบริการ
สำหรับการดำเนินการในการปรับระบบการเงินการคลังดังนี้
1.ขอให้มีการทำข้อตกลงกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายใต้ตัวชี้วัด (KPI) ระดับประเทศ โดย สปสช. ผู้ถือเงินทำหน้าที่จ่ายเงินและประเมินผลการดำเนินงาน ตามตัวชี้วัดที่ได้ตกลงกันไว้กับกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้จัดระบบบริการรายใหญ่ของประเทศ จะจัดบริการตามตัวชี้วัดที่ได้ตกลงกัน
2.งบเหมาจ่ายรายหัวประชากร (งบ UC) ไม่ควรแยกหมวดรายการเป็นกองทุนย่อยๆ เช่นที่ผ่านมา ควรจัดงบฯให้เหลือแค่ 4 ประเภทได้แก่งบบริการผู้ป่วยนอก บริการผู้ป่วยใน บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41
3.การบริหารงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข จะบริหารในรูปแบบเขตบริการสุขภาพและบูรณาการงบประมาณจากทุกแหล่งเงิน ผ่านคณะกรรมการของแต่ละเขตบริการสุขภาพ ตามตัวชี้วัดระดับประเทศและตัวชี้วัดของพื้นที่
สำหรับแนวคิดการให้ประชาชนร่วมจ่ายนั้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เป็นเพียงข้อเสนอที่มีผู้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมและที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยและมีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว ยืนยันไม่ใช่มติที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ คสช.แต่อย่างใด ซึ่งการประชุมในครั้งนั้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในโอกาสที่หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช.ตรวจเยี่ยมและรับฟังการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข เช่น สปสช. สวรส.สวพ.สพฉ. เป็นต้น
“สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการการปฏิรูปขณะนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการพื้นฐานที่มีคุณภาพ ปัญหาสุขภาพในแต่ละพื้นที่ ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ให้บริการมีความสุขในการทำงาน ไม่ใช่แนวคิดจะล้มระบบการทำงานของ สปสช. หรือจะเพิ่มทุกข์ให้ประชาชนโดยการให้ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล”นายแพทย์ณรงค์ กล่าว