ฟังเสียง"คนพุทธ"ชายแดนใต้ กับ4ข้อเสนอแก้ปมปิด"เคเอฟซี"
ประเด็นการปิดร้านไก่ทอดแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง "เคเอฟซี" ทุกสาขาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้นับนิ้วแล้วจะมีเพียง 3 สาขา คือ จ.ปัตตานี 2 สาขา และ จ.ยะลา 1 สาขา แต่ผลกระทบที่ตามมากลับล้ำลึก
ในแง่ของเคเอฟซี ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการปิดสาขาที่ชายแดนใต้ อาจถูกกดดันในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ เพราะต้องไม่ลืมว่าพี่น้องมุสลิมไม่ได้มีเฉพาะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น และด้วยสถานการณ์การเมืองในระดับโลก ทำให้มุสลิมเข้มแข็งและเกาะกลุ่มกันมากขึ้นโดยสภาพ
ในแง่ของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นคำถามเรื่อง "อัตลักษณ์" ของพื้นที่ปลายด้ามขวาน ว่าคือการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คนต่างศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมอย่างมีความสุข หรือกำลังก้าวไปสู่การเป็น "อัตลักษณ์เดี่ยว" คือมีเฉพาะอิสลามเท่านั้น อาหารต้องฮาลาลเท่านั้น ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้...หรืออย่างไร?
เพราะในพื้นที่ชายแดนใต้มีชุมชนคนพุทธ ชุมชนคนไทยเชื้อสายจีน คนที่นับถือศาสนาคริสต์ มีโบสถ์ วัด ศาลเจ้า ไม่ต่างจากพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศ หนำซ้ำยังเป็นจุดเด่นในความแตกต่างหลากหลายมาแต่โบราณกาลอีกต่างหาก
ฉะนั้นข่าวปิดเคเอฟซี 3 สาขา รวมทั้งร้าน "พิซซ่า ฮัท" อีก 1 สาขา (ในห้างโคลีเซียมยะลา) จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่งในระดับพื้นที่ และกลายเป็นเชื้อให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเหมือนกัน เพราะในห้วงหลายเดือนที่ผ่านมามีบุคคลที่เป็น "เป้าหมายอ่อนแอ" ทั้ง เด็ก ผู้หญิง คนแก่ ผู้นำศาสนา พระ ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักเรียนพยาบาล ถูกสังหารอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนไม่น้อยของเหยื่อเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ
เมื่อวันเสาร์ที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "ชนพุทธกลุ่มน้อย" ได้จัดกิจกรรมนัดรวมตัวกันเพื่อพูดคุยแสดงความเห็น และคัดค้านการปิดสาขาเคเอฟซีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนัดแนะกันผ่านโซเชียลมีเดีย เตรียมตั้งวงคุยกันที่ อ.เมืองยะลา ทว่ามีข่าวไม่ค่อยดีว่าอาจทำให้บางคนบางกลุ่มไม่สบายใจ สุดท้ายกลุ่ม "ชนพุทธกลุ่มน้อย" จึงยกเลิกกิจกรรมไป
ละม้าย มานะการ อาสาสมัครเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ในฐานะเป็นคณะผู้ประสานงานชาวพุทธในพื้นที่ กล่าวว่า ส่วนตัวจำเป็นต้องแสดงทัศนะ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความรู้สึกท่ามกลางความหลากหลายที่เรามักหยิบยกมาให้ความสำคัญ แต่หลายครั้งเรากลับทำเข้าทำนอง "ปากว่าตาขยิบ"
"ดิฉันไม่ชอบธุรกิจข้ามชาติ หรือธุรกิจแฟรนไชส์เลย เพราะผลประโยชน์หลักจะตกกับคนไม่กี่คนที่รวยแล้วรวยอีก ทำลายผู้ค้าท้องถิ่นและร้านค้ารายย่อยจนยับเยินมาก็มาก ไม่อยากให้มีในประเทศเรามากเกินไป แต่มันก็เป็นเรื่องของดีมานด์ ซัพพลาย (อุปสงค์-อุปทาน หรือ ความต้องการซื้อ และปริมาณสินค้าที่ผลิตเพื่อขายตามความต้องการนั้น) และเรื่องของสำนึกต่อเรื่องนี้"
สำหรับท่าทีของเรื่องเคเอฟซี ละม้าย บอกว่า มีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การประกาศปิดสาขาเพราะไม่มีตรารับรองฮาลาล และประกาศปิดเพราะเป็นห่วงเรื่องความไม่ปลอดภัย ถือเป็นเหตุผลที่แข็งตัวเกินไป และมีคำถามต่อทุกภาคส่วนคือ
1.การไปรับประทานเคเอฟซีของพี่น้องมุสลิมทั้งที่รู้ว่าไม่ฮาลาล หมายถึงการจัดการ หรือคุมคนไม่ได้ จึงประกาศปิดหรือ
2.การเปิดธุรกิจอาหารในพื้นที่สามจังหวัด ไม่ใช่แค่เรื่องไม่มีหมู ทำไมไม่ทำความเข้าใจหลักการอิสลามให้ถ่องแท้
3.การตัดสินใจว่าเปิดหรือไม่เปิดธุรกิจเพราะสถานการณ์ความไม่สงบ กลุ่มธุรกิจควรเป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ใช่ให้คนบางกลุ่มไปก้าวก่ายการตัดสินใจทางธุรกิจ
4.อาหารที่ไม่ฮาลาล คนพุทธรับประทานได้ และมีสิทธิเข้าไปใช้บริการ ทำไมจึงปิดโอกาสการรับประทานของคนพุทธ
5.การมีร้านอาหารประเภทนี้ ทำให้คนหนุ่มสาวในพื้นที่มีโอกาสทำงาน การปิดสาขาหลายสาขาพร้อมกัน ทำให้คนนับร้อยเดือดร้อนเรื่องรายได้ ทั้งตัวพนักงานเองและครอบครัว
จากคำถามดังกล่าว ละม้ายเสนอทางออกว่า 1.เคเอฟซีควรใช้ทางออกอื่นที่ไม่ต้องปิดกิจการ 2.กลุ่มผู้ประกอบการด้านอาหาร ไม่เฉพาะเคเอฟซี หากจะเปิดสาขาในพื้นที่ ควรทำให้ถูกต้องตามหลักการอิสลาม เพราะกิจการนี้ไม่มีหมูอยู่แล้ว ตัดปัญหาไปได้ทางหนึ่ง ถ้าปฏิบัติตามหลักศาสนาได้ก็จะสบายใจทั้งคนรับประทาน คนปรุง และคนคุม
3.ขั้นตอนการปรุงที่ถูกต้องยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน นักการศาสนาบางท่านมีความเห็นว่าคนที่ไม่ใช่อิสลาม (ไม่ใช่คนมุสลิม) ก็ผลิตอาหารฮาลาลได้ เพราะฮาลาลเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังตีความไม่ชัด เพราะฉะนั้นจึงยังสุ่มเสี่ยงที่จะใช้อ้างเพื่อต่อต้านกันอีก ด้วยเหตุนี้ในขั้นตอนการผลิตควรให้พี่น้องมุสลิมทำหน้าที่ ส่วนขั้นตอนการขาย ให้พี่น้องชาวพุทธขายก็ได้ จะได้มีโอกาสได้รับการจ้างงานเช่นเดียวกัน
4.ถ้าปฏิบัติตามข้อเสนอทั้ง 3 ข้อดังกล่าว พี่น้องชาวพุทธและศาสนาอื่นจะได้มีโอกาสรับประทานโดยไม่ถูกปิดกั้นด้วยคำว่า "ไม่ฮาลาล" แล้วตัดสิทธิอันชอบธรรมของคนศาสนาอื่น
"ความสัมพันธ์ของพี่น้องศาสนิกต่างๆ มีรอยร้าวมามากพอแล้ว ขอเรียกร้องว่าอย่าสร้างรอยร้าวเพิ่มอีกเลย เราต้องบริหารสังคมให้เคารพความหลากหลายอย่างที่ประกาศเป็นนโยบายจริงๆ ซึ่งทำได้ ไม่ใช่เรื่องยาก หากใช้หัวใจคุยกัน อยากมีส่วนร่วมเล็กๆ ในการลดช่องว่าง ขอให้การแก้ไขเป็นไปด้วยดี ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์เฉลี่ยๆ กันไป แต่ละฝ่ายอาจเสียเล็กๆ น้อยๆ บ้างก็ต้องยอม" อาสาสมัครเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ กล่าวในที่สุด
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ละม้าย มานะการ
2 บรรยากาศในร้านเคเอฟซี สาขาห้างโคลีเซียม อ.เมืองยะลา เมื่อวันเสาร์ที่ 12 ก.ค.57 ยังคงมีลูกค้าอุดหนุนอย่างเนืองแน่น
อ่านประกอบ : รูดม่าน"เคเอฟซี"3สาขาชายแดนใต้ ผวาบึ้ม-ไร้รับรองฮาลาล
http://www.isranews.org/south-news/special-talk/item/31027-kfc_31027.html