ขวัญผวาของคน สธ. เสนองดใส่ยูนิฟอร์ม - หรือต้องมีชุด รปภ.เหมือนครู?
ไม่ว่าเหตุการณ์คนร้ายจ่อยิง น.ส.สุธีรา เพ็ชร์จันทร์ และ น.ส.กุลรดี เพชรมาก สองนักศึกษาสาวจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรจังหวัดยะลา เสียชีวิตคาตลาดนัดตรงข้ามโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อวันพุธที่ 9 ก.ค.57 จะเกิดจากสาเหตุใด จงใจล็อคเป้านักเรียนพยาบาลหรือไม่ หรือว่ายิงใครก็ได้ที่ไม่สวมฮิญาบเดินออกจากโรงพยาบาล
ทว่าผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ราว 2,000 ชีวิตอยู่ในอาการขวัญผวา...
ยิ่งเหตุร้ายเกิดติดๆ กัน ยิ่งกระทบต่อความรู้สึกในวงกว้าง เพราะเมื่อ 29 เม.ย.57 เพิ่งเกิดเหตุคนร้ายสังหารเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสาวตั้งครรภ์ 2 เดือนขณะเดินตลาดนัดที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ถัดจากนั้น 1 เดือน คือ 28 พ.ค.ก็เกิดระเบิดถึงในลานจอดรถจักรยานยนต์ของโรงพยาบาลโคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 10 คน รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย 64 คัน
ข้ามเดือน มิ.ย.มาเพียงเดือนเดียว เข้าสู่เดือน ก.ค.ก็มาเกิดเหตุยิงสองนักศึกษาสาววิทยาลัยการสาธารณสุขฯอีก
หนำซ้ำ น.ส.สุธีรา หนึ่งในเหยื่อกระสุน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.นาทวี จ.สงขลา ยังเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน หรือ อสม. และใช้สิทธิ อสม.เข้าศึกษาต่อวิทยาลัยการสาธารณสุขฯ เธอมีลูกสาว 1 คน อนาคตของเธอเป็นความหวังของครอบครัวและหมู่บ้านที่เธออาศัยอยู่
ขอมีชุด รปภ.เพื่ออุ่นใจ
พยาบาลประจำโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา บอกว่า น้องนักศึกษาเพิ่งมาฝึกงานได้ไม่กี่วันก็ถูกยิง ฉะนั้นสาเหตุจึงไม่น่ามีเรื่องอื่น น่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวอย่างแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ก็มีเหตุการณ์ยิงผู้ใหญ่บ้านในตลาดนัด (28 พ.ค.57 คนร้ายจ่อยิง นายอับดุลฮาเล็ง บือราเฮง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านเจาะกลาดี ต.ยะหา อ.ยะหา เสียชีวิตในตลาดนัดแห่งเดียวกันนี้)
"ครั้งนี้น่าจะเป็นลักษณะพอเห็นคนแปลกหน้าก็ยิงเลย เป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัวมาก ใกล้ตัวมากขึ้น คิดว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลายเป็นเป้าหมาย ไม่ปลอดภัยเหมือนเมื่อก่อนแล้ว จึงอยากให้กระทรวง (สาธารณสุข) มาดูแลอย่างจริงจัง จัดชุดปฏิบัติการคล้ายๆ ชุด รปภ.ครู มาดูแลเพื่อความอุ่นใจ"
"คิดว่ามาตรการดูแลความปลอดภัยยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ทุกโรงพยาบาลยังใช้วิธีการไม่ครอบคลุม ดูแลเจ้าหน้าที่ไม่ทั่วถึง ขณะนี้มีความวิตกกังวลมาก อย่างเช่น เวลาเข้าเวรตอนกลางคืน มีคนไข้ผู้ชายมาขอใช้บริการ ยังแอบคิดว่าจะมายิงกันหรือเปล่า" พยาบาลที่ยะหา กล่าว
เบนเป้าจากครูเป็นคน สธ.?
พยาบาลชำนาญการอีกคนหนึ่งที่โรงพยาบาลเดียวกัน กล่าวว่า เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งรู้ว่าคนทำงานในสายงานเดียวกันโดนยิงยิ่งรู้สึกหวาดระแวง ตอนนี้กลุ่มผู้ไม่หวังดีอาจจะเปลี่ยนเป้าหมายจากครูมาเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแล้วก็ได้
"เมื่อความรุนแรงไม่เลือกเป้าหมาย ถ้าเป็นไปได้อยากเสนอให้เปลี่ยนชุดยูนิฟอร์มจากชุดพยาบาลไปเป็นชุดที่สุภาพ อาจเลี่ยงจากการตกเป็นเป้าหมายได้ รวมถึงการมีบ้านพักสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่เวรกลางคืน เพราะถ้าเดินทางกลับเวลากลางคืนอาจจะเกิดอันตราย และอยากขอให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารคุ้มครองพยาบาลด้วย"
ช่วงเดินทางหวาดเสียวที่สุด
ขณะที่บุคคลในแวดวงสาธารณสุขที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี บอกว่า เหตุการณ์จ่อยิงน้องนักศึกษาวิทยาลัยสาธารณสุขฯ ถือว่าน่ากลัวมาก ไม่รู้ว่าพวกไหนทำ แต่เป้าหมายคือคนไทยพุทธแน่นอน เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ การเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับที่ทำงานก็ต้องดูแลความปลอดภัยของตัวเองพอสมควร อาจจะเลือกเดินทางไม่เป็นเวลา
"เวลาขับรถก็เสียว ไม่รู้ใครตามมาหรือไม่ ยิ่งเกิดเหตุการณ์ยิงน้องนักศึกษา ยิ่งรู้สึกกลัว" เธอระบายความรู้สึก
ค้านทหาร รปภ.-แนะใช้ชุมชนเป็นเกราะ
หลังเกิดเหตุคนร้ายจ่อยิงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เมื่อ 29 เม.ย.57 ทำให้ น.ส.จริยา พรหมนวล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ปฏิบัติงานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีสาคร ซึ่งกำลังตั้งท้องได้ 2 เดือนเสียชีวิต ขณะที่ น.ส.พิณยุพา วชิรกิจโกศล ลูกจ้างสาธารณสุข ได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น
ช่วงเวลาดังกล่าวมีการพูดถึงการปรับมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขเช่นกัน แต่ผู้ที่ขับเคลื่อนงานด้านสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาต่อเนื่องอย่าง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กลับไม่เห็นด้วยกับแนวคิดจัดชุดปฏิบัติการ รปภ.เหมือนข้าราชการครู
"ที่ผ่านมาผมทำงานด้านสวัสดิภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตลอด เช่น ระบบความปลอดภัยในโรงพยาบาล การสื่อสารการแจ้งเตือนในพื้นที่ การบริการของสถานีอนามัยให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนมุสลิม เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเป็นหนึ่งเดียวในชุมชน ถามว่าครอบคลุมไหม มันก็ครอบคลุม ที่ผ่านมาก็ทำได้ดี แต่ว่าเราก็ไม่สามารถป้องกันทุกอย่างได้ การป้องกันไม่ให้เป็นเป้าหมายคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่อยู่ที่ว่าเราจะดูแลชุมชนให้ดีอย่างไร เพราะชุมชนคือเกราะป้องกันที่แท้จริง แต่แน่นอนเราทุกคนก็ต้องดูแลตัวเองด้วย"
หมอสุภัทร บอกว่า บุคลากรทางสาธารณสุขยังคงดำเนินมาตรการเหมือนเดิม คือ พยายามทำหน้าที่ดูแลทุกคนในชุมชนให้ดีที่สุด เพราะเราไม่ได้เลือกฝักฝ่ายใดอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ดูแลทุกคนอย่างเต็มที่ และจะเป็นเกราะป้องกันตัวเอง
"เราคงไม่ไปขอกำลังทหารคุ้มกัน แต่ใช้รากฐานหน้าที่ในการดูแลตัวเอง แล้วทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เราไม่เคยมีหน่วยกำลังคุ้มกัน เพราะเราขอใช้ชุมชนเป็นเกราะ เป็นภูมิคุ้มกัน และทำหน้าที่ของเราในการรักษาคนป่วยให้ดีที่สุด" หมอสุภัทร กล่าวทิ้งท้าย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และบุคลากรทางสาธารณสุขชายแดนใต้
หมายเหตุ : ใช้เทคนิคเบลอภาพด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย
อ่านประกอบ :
1 จากสังหาร "คน สธ." ถึงบึ้มโรงพยาบาล ความรุนแรง "ล้ำเส้น" ที่ชายแดนใต้
http://www.isranews.org/south-news/academic-arena/item/30074-hospital_30074.html
2 "คนสาธารณสุข"ชายแดนใต้เสี่ยง! กลุ่มภรรยาทหาร-ตร.ตกเป็นเป้า
http://www.isranews.org/south-news/academic-arena/item/29107-health_29107.html
3 ยิง 2 นศ.หญิงวิทยาลัยสาธารณสุขดับกลางตลาดนัดยะหา
http://www.isranews.org/south-news/other-news/item/31133-girl.html
4 เปิดผลวิเคราะห์เหตุฆ่าสอง นศ.สาวที่ยะหา เผยหนึ่งในเหยื่อกระสุนเป็นลูกตำรวจ
http://www.isranews.org/south-news/other-news/item/31143-yaha_31143.html