พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ‘แพรกษาโมเดล’ สู่ต้นแบบจัดการขยะชาติ
คืบหน้าแก้ปัญหามลพิษบ่อขยะแพรกษา จ.สมุทรปราการ ชาวบ้านกังวลน้ำเจือปนสารเคมีกระทบอาชีพเลี้ยงปลาสลิด นักวิชาการชง 3 ข้อเสนอ ฟื้นฟูอย่างยั่งยืน หวังชู ‘แพรกษาโมเดล’ ต้นแบบจัดการขยะทั่วประเทศ
เมื่อเดือนมีนาคม 2557 ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ‘บ่อขยะแพรกษา’ บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ยาวนานนับหนึ่งสัปดาห์ จนสร้างความเดือดร้อนส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแก่ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณโดยรอบ
แม้ปัจจุบันเวลาจะผ่านมา 3 เดือนแล้ว แต่ดูเหมือนปัญหาในพื้นที่กลับยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถูกวิธี
เร็ว ๆ นี้ เครือข่ายต่อต้านบ่อขยะแพรกษา ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดสัมมนา ‘แพรกษาโมเดล:แนวทางจัดการปัญหาบ่อขยะในประเทศไทย’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอปัญหา แนวทางการรับมือ แก้ไข ตลอดจนการฟื้นฟู ในพื้นที่บ่อขยะดังกล่าวและอื่น ๆ ของประเทศ
สุชาติ นาคนก ประธานเครือข่ายต่อต้านบ่อขยะแพรกษา เล่าว่าชาวบ้านในพื้นที่มีความวิตกและหวาดกลัวจะเกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะซ้ำขึ้นอีก ด้วยที่ผ่านมาได้เกิดควันพิษและฝุ่นละออง และมลพิษจากบ่อขยะเอง ทั้งน้ำเสีย อากาศเสีย รวมไปถึงการเพาะพันธุ์ของสัตว์ต่างๆ ที่เป็นอันตราย
“สิ่งหนึ่งต้องยอมรับ คือ พิสูจน์แล้วว่าบ่อขยะแพรกษามีการปะปนของขยะอุตสาหกรรม ทำให้น้ำเสียที่เกิดจากการทิ้งมีสารเคมีเจือปนอยู่ และอาจไหลเข้าไปในชุมชนได้”ประธานเครือข่ายต่อต้านบ่อขยะฯ กล่าว และว่าชาวบ้านมีอาชีพเลี้ยงปลาสลิด ฉะนั้นหากนำน้ำเติมในบ่อเลี้ยงอาจเกิดสารพิษและเนื้อปลาจะได้รับการปนเปื้อนด้วย ทำให้อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบอาชีพในชุมชน
นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดจากน้ำเน่าเสีย อาจซึมลงสู่ชั้นใต้ดินและเข้าไปปนเปื้อนกับระบบประปาของชุมชน โดยขณะนี้ชาวบ้านไม่ทราบเลยว่า น้ำประปาที่ใช้อุปโภคบริโภคอยู่มีการเจือปนของสารเคมีหรือไม่
แต่สำหรับเขา ยอมรับมีความกังวล รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้น
ขณะที่ปัญหาจากกลิ่นเหม็นของกองขยะ ชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งอยู่ทิศทางใต้ลม ก็ต้องทนดมกลิ่นเหม็น ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงที่มีฝนตก และเมื่อเจ้าของพื้นที่ขุดขยะเคลื่อนย้ายไปอีกจุดหนึ่ง ขยะยิ่งส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งไปทั่ว
“ทุกครั้งที่มีการขุดบ่อขยะ ผู้ประกอบการจะไม่ป้องกันฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ ด้วยวิธีการขึงผ้าใบกั้น ส่งผลให้ฝุ่นละอองปลิวใส่ผู้สัญจรไปมา เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ที่ไม่ได้ปิดหน้าต่าง จนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพปอดได้” เขาแสดงความรู้สึกกังวล
ชง 3 ทางเลือก เเก้ปมมลพิษบ่อขยะเเพรกษา
“ส่วนตัวอยากเห็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมทางสุขภาพเชิงเทคนิค โดยมุ่งหวังให้นำวิธีการไปใช้ในพื้นที่แพรกษา เพื่อจะได้เป็นกรณีศึกษาและผลักดันสู่ต้นแบบเรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษในบ่อขยะอื่น ๆ ของประเทศ” ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ
ดร.พิชญ บอกว่า ปัจจุบันชาวบ้านไม่อยากให้มีการทิ้งขยะเพิ่มและคาดหวังจะได้รับการเยียวยาเฉพาะหน้าและระยะยาว เพื่อยุติการเกิดปัญหาขึ้นอีก ซึ่งล่าสุด จากการได้ลงพื้นที่แพรกษาพบมีการสร้างกำแพงกั้นขึ้น ถือเป็นการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคได้หลายประการ หนึ่งในนั้น คือ ป้องกันการลักลอบทิ้งขยะซ้ำ ขุดคุ้ยและเผาขยะได้
ขั้นตอนต่อไป นักวิชาการจากจุฬาฯ เห็นว่า ควรเริ่มปรับปรุงบ่อขยะและพื้นที่โดยรอบเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการขยายของพื้นที่และเพลิงไหม้ในอนาคต และแก้ปัญหาสัตว์อันตราย เช่น แมลงสาบ แมลงวัน หรือหนู รวมถึงกลิ่นเหม็นรำคาญ
อย่างไรก็ตาม หากพบเกิดกลิ่นไหม้ต้องรีบสันนิษฐานก่อนว่า ไฟอาจลุกขึ้นอีก ฉะนั้นจึงต้องจัดเวรยามคอยตรวจดูอย่างใกล้ชิด
พร้อมกันนี้ เสนอวิธีการฟื้นฟูไว้ 3 ทางเลือก เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว ดังนี้...
รูปแบบที่ 1 การนำขยะออกไปจัดการด้านนอก ในหลุมฝังกลบใหม่ หรือไปเผา หรือไปแยกวัสดุ แต่จะต้องแยกก่อน ฉะนั้นเมื่อเกิดระบบการขนส่งขึ้น ต้นทุนจึงสูงแน่นอน
รูปแบบที่ 2 ปรับปรุงบ่อปัจจุบันให้ดีทีละส่วน วิธีนี้จะใช้ต้นทุนปานกลางถึงสูง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น มีความแข็งแรงของพื้นดิน ปริมาณน้ำใต้ดิน
รูปแบบที่ 3 แบบผสมผสาน ด้วยการนำขยะออกไปจัดการด้านนอกและปรับปรุงบ่อขยะปัจจุบันทีละส่วนด้วย
“ภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา นักวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมรู้สึกเสียดายที่ปล่อยให้มีการเผาไหม้ขยะแบบไร้ประโยชน์ ทั้งที่ขยะจัดได้เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ” ดร.พิชญ ระบุ และยกตัวอย่างในต่างประเทศ มีการนำขยะมาใช้ใหม่ด้วยการนำมาร่อนทำปุ๋ย หรือนำกระดาษ ผ้า พลาสติกอัดเป็นแท่งใช้เป็นเชื้อเพลิงได้
ขณะที่รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร ระบุถึงความคาดหวังอยากให้หน่วยงานภาครัฐมีการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับบ่อขยะแพรกษาต่อสาธารณชน โดยเฉพาะกรณีการพบสารโลหะหนักหรือสารพิษที่เจือปนในน้ำชั้นดิน และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
“บ้านเราเวลามีปัญหาเรื่องแบบนี้ ดูทีวีแล้วมักไม่สบายใจ เพราะเขาชอบรายงานว่า พื้นที่มีความปลอดภัยแล้วเท่านั้น” นักวิชาการม.ศิลปากร กล่าว และว่า ดังนั้นอยากเห็นหน่วยงานรัฐระดับสูงออกมาให้ความรู้แก่ชาวบ้านมากกว่าการออกมาบอกเพียงว่า ขณะนี้ค่าความเสี่ยงไม่เกินมาตรฐาน เพราะเมื่อไม่มีข้อมูล ชาวบ้านก็จะไม่รู้
***********************
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้เห็นความตื่นตัวของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาบ่อขยะแพรกษา เพื่อหวังผลักดันเป็นโมเดลต้นแบบแนวทางจัดการขยะอื่น ๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้ จะประสบผลสำเร็จได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ขับเคลื่อนนโยบายควรลงมาจับปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง ! .
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:"กรอ." เล็งสร้างโรงเผาขยะอุตฯ 4 แห่ง แทนฝังกลบ
ภาพประกอบ:สำนักข่าวไทย