หลักฐานค่าตีกอล์ฟ "บอร์ดเภสัช" โผล่รอบสอง "ไม่มีใบเสร็จ" ก็อนุมัติให้?
หลักฐานเบิกเงินตีกอล์ฟ "บอร์ดเภสัช" โผล่รอบสอง คราวนี้ "ใบเสร็จไม่ครบถ้วน" ก็อนุมัติให้?
นอกเหนือจากหลักฐานยืนยันการอนุมัติเบิกจ่ายเงิน จำนวน 10,200 บาท เป็นค่าใช้จ่ายการตีกอล์ฟ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 ณ สนามกอล์ฟนครปฐม ของประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม และกรรมการองค์การเภสัชกรรม จากกองทุนดอกพิกุล ที่ระบุว่าเป็นการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัทร่วมทุนต่างๆ ที่องค์การเภสัชกรรมถือหุ้นอยู่ รวมถึงการเบิกเงินค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ นั้น
(อ่านประกอบ : โชว์หลักฐาน 'ปธ.บอร์ดเภสัช' เบิกค่าตีกอล์ฟ-น้ำมัน-มือถือ ส่อขัดระเบียบ)
และเป็นหนึ่งในหลักฐานชิ้นสำคัญ ที่ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ นำมาใช้เป็นเหตุผลประกอบการยื่นเรื่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารงานของบอร์ดองค์การเภสัชกรรมชุดปัจจุบัน
ขณะที่ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ออกมาโต้ตอบทันควันว่า กองทุนดอกพิกุลเป็น กองทุนสนับสนุนการจัดแข่งขันกีฬา ซึ่งเงินที่เข้ามาในกองทุนก็เป็นเงินที่ได้จากการแข่งขันกอล์ฟ อย่างล่าสุดที่เพิ่งจัดการแข่งขันไปเมื่อเดือน ก.พ. 2557 ที่ตนเป็นประธานจัดได้เงินล้านกว่าบาท โดยนำเข้ากองทุนฯ ล้านบาทที่เหลือให้กลุ่มชมรมกอล์ฟ อภ. และกองทุนอื่นๆ การที่เบิกเป็นค่าเดินทางไปต่างประเทศ นั้นเป็นการเลี้ยงรับรองผู้ประสานงาน และการเบิกเป็นค่าน้ำมันรถนั้นเป็นการออกตรวจเยี่ยม ที่ทำถูกต้องทุกอย่างมีการขออนุญาตนำรถประจำตำแหน่งออกไป การเติมน้ำมันก็มีใบเสร็จ รวมไปถึงค่าโทรศัพท์ซึ่งเกิดจากการทำงานของ อภ. แต่เงื่อนไขเหล่านี้ไม่สามารถเบิกได้จากงบประมาณรายจ่ายของ อภ. ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงทำเรื่องเบิกจากกองทุนดอกพิกุล เพราะเห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากกิจกรรม
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ข้อมูลฝ่ายใดจะมีน้ำหนักหน้าเชื่อถือมากกว่ากัน
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบหลักฐานชิ้นใหม่เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการตีกอล์ฟของบอร์ดองค์การเภสัช ที่ชี้ให้เห็นว่า ขั้นตอนการดำเนินการส่อว่าจะมีความหละหลวมเกิดขึ้น
กล่าว คือ ในช่วงเดือนกันยายน 2556 นายพิพัฒน์ นิยมการ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ องค์การเภสัชกรรม ได้ทำเรื่องขออนุมัติเบิกเงินกองทุนดอกพิกุลทอง เพื่อเป็นค่ารับรองการตีกอล์ฟ โดยนำเรียน นางอัจฉรา บุญผสม ประธานกรรมการบริหารกองทุนดอกพิกุล
ระบุว่า "ด้วยประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม และกรรมการองค์การเภสัชกรรม ที่เป็นกรรมการในบริษัทร่วมทุนขององค์การเภสัชกรรม ได้มีการประชุมหารือหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัท GHP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนขององค์การเภสัชกรรมการ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงขององค์การเภสัชกรรม
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ไปตีกอล์ฟ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2556 ณ วินด์เซอร์ปาร์ค แอนด์กอล์ฟคลับ โดยมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงรับรองครั้งนี้ รวมเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท
เนื่องจากการเลี้ยงรับรองครั้งนี้ ไม่อาจเบิกค่าใช้จ่ายกับทางองค์การเภสักรรมได้ เนื่องมีใบเสร็จรับเงินไม่ครบถ้วน แต่มีรายการที่ได้รับแจ้งจากประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรมการ ตามเอกสารแนบ จึงขอเบิกจากเงินกองทุนดอกพิกุล ตามระเบียบองค์การเภสัชกรรม ว่าด้วยกองทุนดอกพิกุล พ.ศ. 2546 กำหนดว่า ข้อ 5 กองทุนนี้ จัดตั้งขั้นโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(4) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อองค์การเภสัชกรรม
ข้อ 13.3.1 ประธานกรรมการหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ อนุมัติจ่ายเงินได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน 20,000 บาท
(ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การเบิกจ่ายเงินครั้งนี้ ได้รับการอนุมัติ ทั้งที่ มีการระบุชัดเจนในบันทึกว่า มีใบสร็จรับเงินไม่ครบถ้วน แต่มีรายการที่ได้รับแจ้งจากปธ.กรรมการองค์การเภสัชกรรม
นอกจากนี้ ในบันทึกอนุมัติเบิกจ่ายเงินฉบับนี้ ได้อ้างถึงการประชุมหารือแนวในการแก้ไขปัญหาขาดสภาพคล่องของบริษัท GHP แต่ผู้บริหารระดับสูงขององค์การเภสัช กลับเลือกใช้การตีกอล์ฟ ซึ่งเป็นกีฬาที่มีค่าใช้จ่ายมาก เข้ามาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้
ขณะที่ข้อกำหนดในระเบียบที่นำมาใช้ในการอ้างอิงการเบิกจ่ายค่ารับรองครั้งนี้ คือ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อองค์การเภสัชกรรม
แต่การที่ผู้บริหารกลุ่มหนึ่งไปตีกอล์ฟกัน โดยที่คนในองค์กร ไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้ด้วย ถือเป็นกิจกรรมที่ก่อให้ความสัมพันธ์อันดีต่อองค์การเภสัชกรรม แบบไหน? อย่างไร?
องค์การเภสัช ไม่มีห้องประชุมที่สามารถจะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุม มองและวิเคราะห์ปัญหาบริหารงานเรื่องสำคัญ ได้ดีเท่ากับการเดินสนทนาพูดคุยกันในสนามกอล์ฟใช่หรือไม่?
ทั้งหมดนี้ คือ คำถามที่สาธารณชน ต้องการฟังคำตอบที่ชัดเจนจาก ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประธานบอร์ดเภสัช ที่อ้างว่า เป็นผู้หารายได้จากการจัดกีฬาตีกอล์ฟได้นับล้านบาทเข้ากองทุนฯ ดังที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่ในขณะนี้