'หญิงหน่อย'หนุนทำประชามติรธน.ลดเสี่ยงรัฐประหารซํ้า
"หญิงหน่อย" หนุนทำประชามติรัฐธรรมนูญ ลดภาวะเสี่ยงรัฐประหารเกิดขึ้นอีก พร้อมแนะตั้งสภาธรรมาธิปไตยระดับหมู่บ้านชุมชน ควบคู่สภาร่างธรรมนูญ
วันที่ 5 ก.ค. ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ ประธานสถาบันสร้างอนาคตไทย กล่าวในการเสวนาวิชาการ "ก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยธรรม" ครั้งที่ 2 เรื่อง "พุทธวิถีเชิงบูรณาการแก้ปัญหาความขัดแย้งการเมืองในปัจจุบัน" ใน วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ตามหลักสูตรพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย ตอนหนึ่งว่า
วิกฤติการเมืองไทยในรอบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดครั้งแรก ตลอด 82 ปีการเมือง มีการรัฐประหาร 20 ครั้ง เปลี่ยนรัฐธรรมนูญแล้ว 18 ฉบับ และรัฐธรรมนูญมีการปัญหามาตลอด เกิดจากการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีอยู่ 200-500 คน
โดยเรามองว่า คนเหล่านี้เป็นเทวดา เป็นคนดี รู้ทุกปัญหา เมื่อคลอดรัฐธรรมนูญออกมากลายเป็นปัญหา อยากเสนอว่าการจัดทำร่างธรรมนูญฉบับถาวร ควรให้มี "สภาธรรมาธิปไตยระดับหมู่บ้านชุมชน" ควบคู่ จัดตั้งขึ้นก่อนมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสอบถามความเห็นประชาชนความต้องการในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร ซึ่งคงไม่เสียเวลามาก ใช้เวลาแค่ 6 เดือน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช.ประกาศใช้เวลาปีครึ่งในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญปี 58 และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ อยากให้มีการสำรวจความคิดเห็นประชาชนด้วยว่า จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครั้งนี้ จึงไม่ควรซ้ำรอยความผิดพลาดเดิมอีก โดยควรอาศัย "สภาธรรมาธิปไตยระดับหมู่บ้านชุมชน" เป็นเครื่องมือระดมความคิด ประชาชนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการร่างธรรมนูญที่เหมือนเป็นการทำสัญญาประชาคม ใหม่ของคนไทยทั้งประเทศ แบบ "Bottom Up" ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2517 ที่ให้อาศัยประชาธิปไตยขั้นหมู่บ้านเป็นรากฐานรองรับประชาธิปไตยขั้นประเทศ ซึ่งถ้าคนไทยรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ที่ตนเองมีโอกาสร่วมคิดร่วมทำร่วมลงประชามติรับรองก็จะเกิดการยอมรับ และเคารพหวงแหนในกติกาที่เกิดขึ้น จะส่งผลให้การทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญต่อไปทำได้ยากขึ้น เพราะประชาชนจะออกมาต่อต้าน และการทำรัฐประหารก็จะหมดไปจากประเทศไทย อีกทั้งจะส่งผลให้มีการคัดเลือกนักการเมืองที่มีคุณภาพต่อไป
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ทั้งนี้สภาธรรมาธิปไตยระดับหมู่บ้านชุมชน จะเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ประชาธิปไตยของคนไทยทั้งประเทศ จำลองรูปแบบการถ่วงดุล "อำนาจธิปไตย" ระดับประเทศไปไว้ที่หมู่บ้านชุมชน ให้คนในหมู่บ้านชุมชนส่งตัวแทนบ้านละ 1 คนมาร่วมออกเสียงในการประชุมสภาหมู่บ้านชมนุม แล้วเลือกประธานสภามาทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม (เหมือนเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร) จากนั้นเลือกคณะกรรมการหมู่บ้านชุมชน (เหมือนเลือกรัฐบาล) สภาหมู่บ้านชุมชนจะทำหน้าที่สร้างนโยบายสาธารณะ กติกาหมู่บ้านชุมชน
ทั้งนี้ การพิจารณาใช้งบประมาณตามโครงการที่รัฐบาลจัดสรรให้ เช่น งบกองทุนหมู่บ้าน กองทุนเอสเอ็มแอล ถ้าคณะกรรมการทำงานไม่โปร่งใสให้ตัวแทนแต่ละบ้านเข้าชื่อเปิดประชุมสภา หมู่บ้านชุมชน เพื่ออภิปรายตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการได้ เหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และถ้ามีปัญหาการตีความกฎระเบียบต่างๆ ให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาตัดสินชี้ขาด (เหมือนการใช้อำนาจตุลาการ)
ขอบคุณข่าวจาก