กรรมการต่อต้านทรมาน "ยูเอ็น" กังวล กฎอัยการศึก-ไฟใต้-อุ้มหาย
เรื่องใหญ่ในห้วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาแต่ไม่ค่อยมีใครในบ้านเราสนใจมากนัก ก็คือกรณีที่ประเทศไทยได้ส่งรายงานต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน เพื่ออธิบายว่าประเทศไทยได้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) อย่างไรบ้าง
รัฐบาลไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาฉบับนี้ เมื่อปี 2550 และตามอนุสัญญาฯมีข้อกำหนดให้ส่งรายงานต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมานตามระยะเวลาที่กำหนด แต่ประเทศไทยเพิ่งส่งรายงานในปีนี้เป็นฉบับแรก ซึ่งล่าช้าไปถึง 5 ปี
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.ถึง 1 พ.ค.57 ตัวแทนรัฐบาลไทยได้เข้าเสนอรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นที่เรียบร้อย และต่อมาในวันที่ 23 พ.ค. คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน ซึ่งประกอบด้วยผู้ชำนาญการอิสระ 10 ท่านได้สรุปข้อสังเกตหลังจากได้ศึกษารายงานและรับฟังคำชี้แจงจากตัวแทนรัฐบาลไทย ซึ่งสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิฯ เห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงแปลข้อสังเกตเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์เป็นเอกสารเผยแพร่ต่อสาธารณะ
ในภาพรวมของเอกสารข้อสังเกตของคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน สรุปว่า คณะกรรมการฯรู้สึกเสียใจที่รายงานฉบับนี้ส่งล่าช้ากว่ากำหนดถึง 5 ปี ทำให้คณะกรรมการฯไม่สามารถตรวจสอบการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯของรัฐภาคี (ไทย) ได้ อีกทั้งในรายงานยังขาดข้อมูลสถิติการดำเนินการตามอนุสัญญาฯด้วย
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯชื่นชมการสานสนทนาที่เปิดกว้างและสร้างสรรค์กับคณะผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลไทย และการให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่คณะกรรมการฯในระหว่างการพิจารณารายงาน รวมถึงการดำเนินมาตรการทางกฎหมายตามอนุสัญญาฯ เช่น แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา การตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551
กระนั้น คณะกรรมการฯมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศไทย และเรียกร้องให้ไทยปฏิบัติเพื่อห้ามมิให้มีการทรมานใดๆ เกิดขึ้น และให้แน่ใจว่าการบังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศจะไม่ละเมิดสิทธิที่ประกันในอนุสัญญาฯโดยเด็ดขาด
สำหรับในประเด็นเจาะลึกที่คณะกรรมการฯให้ความสนใจ สรุปได้ดังนี้
1.เรียกร้องให้ไทยแก้ไขกฎหมายโดยไม่ชักช้ำ โดยให้นำนิยามการทรมานที่ครอบคลุมองค์ประกอบทั้งหมดที่มีอยู่ในข้อ 1 ของอนุสัญญาฯ ไปใช้ในกฎหมาย รัฐธรรมนูญ หรือการอนุวัตรกฎหมาย พร้อมทั้งกำหนดให้การทรมานเป็นอาชญากรรมแยกต่างหากและเฉพาะเจาะจงในการออกกฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบให้แน่ใจว่าบทลงโทษสำหรับการทรมานขึ้นอยู่กับความรุนแรงตามความผิดตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯด้วย
ขณะเดียวกัน ต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า การกระทำที่นำไปสู่การทรมานไม่อย่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายใด
2.สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ คณะกรรมการฯมีความห่วงใยต่อข้อกล่าวหาจำนวนมากว่ามีการกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตั้งข้อสังเกตว่ามีการคงสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลานาน และมีข้อจำกัดการใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหลายประการ ทั้งๆ ที่รัฐภาคี (ไทย) ควรดำเนินการให้แน่ใจว่าสิทธิที่บุคคลจะไม่ได้รับการกระทำทรมานเป็นสิทธิสัมบูรณ์ และไม่สามารถทำการรอนสิทธิได้ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม หรือสภาพคุกคามที่จะเกิดสงคราม การขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ หรือสภาวะฉุกเฉินสาธารณะอื่นใดก็ตาม
นอกจากนี้รัฐควรประเมินความจำเป็นในการคงการใช้กฎหมายพิเศษที่มีอยู่ โดยตระหนักว่าเงื่อนไขในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการตรากฎหมายฉุกเฉิน ควรเป็นไปด้วยความเคร่งครัดและตีความอย่างแคบ รวมทั้งควรจำกัดไว้สำหรับสถานการณ์กรณีพิเศษเท่านั้น
ทั้งนี้ ผลจากการใช้กฎหมายพิเศษที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งคณะกรรมการฯแสดงความกังวลก็เช่น การให้อำนาจฝ่ายบริหารขยายการควบคุมตัวด้วยโดยปราศจากการควบคุมจากฝ่ายตุลาการอย่างเพียงพอ ก่อให้เกิดการลดทอนการป้องกันขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ถูกทำให้เสียไปซึ่งเสรีภาพตามกฎอัยการศึก หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เนื่องจากผู้ต้องสงสัยอาจถูกควบคุมตัวได้นานถึง 37 วันโดยไม่มีหมายจับ หรือการกำกับดูแลจากกระบวนการยุติธรรมก่อนที่จะถูกนาตัวไปที่ศาล
หรือกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกคุมขังมักจะได้รับการปฏิเสธสิทธิที่จะติดต่อสมาชิกครอบครัว หรือไม่อนุญาตให้สมาชิกในครอบครัวเยี่ยมทันทีที่สูญเสียเสรีภาพ และขาดการคุ้มครองสิทธิที่จำเป็นบางอย่าง เช่น สิทธิที่จะติดต่อทนายความ และได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ที่เป็นอิสระทันทีที่สูญเสียเสรีภาพ ซึ่งไม่ปรากฏในกฎหมาย หรือไม่มีการนำหลักการนี้ไปปฏิบัติ
อีกกรณีหนึ่งคือ "กฎหมายพิเศษ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎอัยการศึก มาตรา 7 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 17 จำกัดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้ความคุ้มครองมิให้เจ้าหน้าที่ถูกฟ้องร้องในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมทั้งการกระทำทรมาน ซึ่งเป็นการละเมิดบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ
นอกจากนั้น คณะกรรมการฯยังมีความกังวลกรณีผู้เสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าพนักงานของรัฐ เช่น อิหม่ามยะผา กาเซ็ง (อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวและทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตเมื่อเดือน มี.ค.51) และ นายสุไลมาน แนซา (เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวภายในศูนย์ควบคุมตัวของทหาร เมื่อปลายเดือน พ.ค.53 โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าผูกคอตายเอง) ซึ่งแสดงให้เห็นอุปสรรคที่จะนำตัวผู้กระทำผิด (ผู้ที่ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวถึงแก่ความตาย) เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
3.การบังคับให้สูญหาย (อุ้มฆ่า-อุ้มหาย) คณะกรรมการฯเห็นว่าแม้ไทยได้ลงนามในอนุสัญญาเพื่อคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ทั้งยังไม่มีนิยามและฐานความผิดการบังคับสูญหายในกฎหมายภายในประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังมีกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการบังคับให้หายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านต่อต้านการทุจริตและด้านสิ่งแวดล้อม กรณีล่าสุดคือ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ "บิลลี่" นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวปกากะญอ
นอกจากนั้นยังเห็นว่ามีความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการบังคับให้สูญหายในประเทศไทยหลายกรณี ทั้งการเยียวยาให้ญาติของบุคคลที่สูญหาย และการดำเนินคดีกับผู้ที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะการหายตัวไปของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เมื่อ 12 มี.ค.47 หรือ นายมะยาเต็ง มะรานอ ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
คณะกรรมการฯตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กรณีที่มีการบังคับให้สูญหายในประเทศไทย ไม่ได้นำไปสู่การฟ้องร้องหรือการตัดสินว่าผู้กระทำมีความผิด
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ และ นายสุไลมาน แนซา กับ อิหม่ามยะผา กาเซ็ง ผู้เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่
หมายเหตุ :
1 อ่านเอกสารฉบับเต็มภาษาไทยได้ที่ http://bit.ly/1s5JwTP
2 อ่านเอกสารต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://tbinternet.ohchr.org/Treaties/CAT/Shared%20Documents/THA/CAT_C_THI_CO_1_17277_E.doc