ขยะ-ชาวนา-ข้าวอินทรีย์
สถิต เม่นแต้ม แห่งตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นชาวนาโดยกำเนิด มีหรือจะยอมให้ใครมาสอนทำนา ผู้ช่วยอธิการบดี วิรัตน์ จำนงรัตนพันธ์ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในสถานศึกษาแต่เขาทำให้สถิตยอมก้มหัว ‘1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด’ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ส่งผ่านไปยังชุมชนคือการทำให้ชาวบ้านยอมรับ
ขยะและลักษณะของชาวนา
ผู้ช่วยอธิการบดี วิรัตน์ จำนงรัตนพันธ์ คือหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่เข้าไปช่วยชาวบ้าน จัดการเรื่องขยะ
ไม่ได้มีเศษปฎิกูลล้นเมืองเกลื่อนกลาด ประเภทถึงขั้นเศษผักเศษอาหารกองอยู่ตามริมถนน แต่อาจารย์ให้ทัศนะที่น่าสนใจกว่านั้น
“ปัญหาการจัดการขยะเป็นเรื่องที่มาพร้อมกับการพัฒนาและยุคสมัย ทำไมเราต้องปล่อยปละให้มันเกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยตามเช็ดตามแก้”
กระนั้น ที่ตำบลหาดสองแคว บางจุดบางแห่งเริ่มมีคนเอาขยะไปทิ้งในพื้นที่สาธารณะตามข้างทาง
“เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่ยังไม่ถูกวางเงื่อนไข ยังไม่ได้ถูกวิธีคิดของคนเมืองมาครอบ อย่างการที่แก้อะไรไม่ได้ ก็จะพึ่งแต่เทคโนโลยี ไม่เคยคิดพึ่งพาตนเอง ส่วนวิกฤติหรือไม่นั้น เราดูได้จากปริมาณการผลิตขยะต่อหัวต่อคน ซึ่งตัวเลขต่อวันนี่ถือว่าอันตราย และวิธีแก้ปัญหาขยะ ไม่ได้หมายความว่าเอาไปเผาเท่านั้นแต่มันน่าจะอยู่ที่คนต้นเหตุ เพราะมันคือการลงทุนที่น้อยที่สุด”
นั่นหมายความว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ประสานกับหน่วยงานภาคีท้องถิ่นเข้าไปให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะเพื่อนำไปสู่การขายเชิงพาณิชย์ และนำไปหมักเป็นปุ๋ย เพื่อลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรกรรม
เป็น 1 ในงาน 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ที่เห็นเป็นรูปธรรม
รศ.ดร.ฉัตรนภา พรหมมา หัวหน้าโครงการ เล่าให้ฟังว่า 1 ในงาน 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ทำกันมาต่อเนื่องยาวนาน ที่เห็นชัดๆคือเริ่มจากทุนของ สำนักงานสนับสนุนกองทุนการวิจัย (สกว.) และได้รับทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อนำมาต่อยอดในปี 2551
“ฐานคิดการทำงาน คือ มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น โดยบูรณาการพันธกิจของมหาวิทยาลัย เข้ากับสถานการณ์จริงในชุมชน มีความร่วมมือตั้งแต่ต้นทางระหว่าง และปลายทาง มีศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์และเครือข่ายกลไกการทำงาน เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภาคประชาชนกับมหาวิทยาลัย และภาคีให้เกิดความยั่งยืน”
3 ปี นับจาก 2551-2553 มีการสร้างกลไกเชิงระบบเพื่อขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน นำมาสู่การสร้างชุดโจทย์ตำบลออกแบบให้มีเจ้าภาพแต่ละพื้นที่ ใช้หน่วยจัดการงานวิจัยแต่ละคณะเป็นผู้รับผิดชอบ 1 คณะอย่างน้อย 3 ตำบล
“เราทำภาพชัดๆ ของแต่ละพื้นที่เลยว่า ในแต่ละตำบล 30 ตำบล มีสถานการณ์ปัญหาอะไร เพื่อมุ่งสู่ตำบลสุขภาวะ ทั้งนี้มีฐานย่อยอยู่ 5 อย่าง คือศักยภาพและทุนชุมชน แหล่งเรียนรู้และเครือข่าย องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมภูมิปัญญาที่มีอยู่ สถานการณ์สุขภาวะ และปัญหาหรือโจทย์ที่ยังขาดองค์ความรู้”
แม้มีการแบ่งความรับผิดชอบ แต่การแก้โจทย์ต่างๆมีการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เหมาะสมกับแต่ละด้านเข้าด้วยกันพูดง่ายๆโจทย์เชื่อมกับคณะไหน คณะนั้นก็จะเข้ามาช่วย
ส่วนสถิตชายผิวสนิทกับแดดที่มีบ้านปลูกอยู่ใกล้ๆ แปลงนาเขียวชุ่มตา เล่าว่า
“แต่ละวันเราบริโภคเศษอาหาร เศษผัก เศษเนื้อ เราก็เอามาใส่ถัง ซึ่งได้จากการอบรมที่เราเสียเงินไป 29 บาท เอาจุลินทรีย์แห้งมาใส่เป็นชั้นๆ วันรุ่งขึ้นเราก็ใส่อีก ประมาณ 15-20 วัน ก็จะได้น้ำหมัก นำไปเจือจาง ถ้า 50 ซีซี ก็ผสมน้ำได้ 20 ลิตร เพราะมันมีความเป็นกรดสูง เมื่อปลายปี 2546 หลังจาก อบต.กับมหาวิทยาลัยลงนามร่วมกัน จึงเริ่มมีการทำปุ๋ยใช้เอง ในโครงการลดต้นทุนการผลิต”
ที่ต้องลดต้นทุน เพราะจากการเก็บข้อมูล สาเหตุหนึ่งที่เกษตรกรมีหนี้สิน มากจากต้นทุนการผลิตที่สูง หลังจากเรื่องลดต้นทุน มหาวิทยาลัยจึงชักชวนให้ชาวนาหันมาปลูก ‘ข้าวอินทรีย์’ เพื่อสุขภาพที่ดีถ้วนหน้า โดยอาจารย์วิรัตน์เชื่อว่า ข้าวที่มีคุณภาพต้องมาจากคนทำที่มีคุณภาพด้วย
ถามว่าชาวนาที่ยังมีหนี้สิน จู่ๆ จะกลับตัวมาทำเกษตรแบบอินทรีย์เลยได้ไหม
“ชาวนาทั่วไปขายข้าว 8,000 บาท ในโครงการที่เราขาย 18,360 บาท มันต้องมานั่งคุยกันว่าอดีตคุณเป็นอย่างไรถึงเป็นหนี้ เกี่ยวข้าว ทำไมหน้าตาหดหู่ ทั้งหมดที่หนักใจ ทำไมไม่ลองหาวิธีอื่นบ้าง ซึ่งไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อะไร เราเคยทำมาตั้งแต่ดั้งเดิมเราเปรียบเทียบให้เห็นว่า ต่อไร่ต้นทุนมันเท่าไหร่ ท้ายสุด ต้นทุนก็ต่ำกว่า ในขณะที่ขายได้ราคาสูงกว่า”
“อาจมีบางคนที่กังวลว่า ถ้าไม่เป็นอย่างที่คิด จะเอาเงินไหนส่งธนาคาร เราก็บอก เอางี้ เริ่มต้นโดยการทำนาแปลงรวมก่อนไหม ช่วยกัน 5 ไร่ 3 ไร่ จนมั่นใจ จุดอ่อนอย่างหนึ่งคือ การทำแล้วไม่ครบวงจร ที่เราจะทำในอนาคตคือแบบครบวงจรตั้งแต่การผลิต จนถึงส่งขาย เป็นโครงการเกษตรข้าวอินทรีย์ครบวงจร แต่ไม่ใช่การคลี่ตำรามาทำแผนธุรกิจ”
ขี้วัว .. เหม็นอย่างมีคุณค่า
อีกหนึ่งตัวอย่างของการนำองค์ความรู้จาก 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ไปสู่ชุมชน คือการทำแก๊สชีวภาพจากขี้วัว..แล้วทำไมต้องขี้ แล้วทำไมต้องวัว
ที่บ้านห้วยบง ตำบลป่าเซ่า อำเภอเมือง ชาวบ้านเลี้ยงวัวกันเยอะ แต่พวกเขามองข้ามความสำคัญของสิ่งเหม็นๆนี้ เนื่องจากเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ผศ.ดร.เจษฎา มิ่งฉาย แห่งคณะเกษตรศาสตร์ เล่าว่า ทีมนักวิชาการเข้าไปประเมินศักยภาพในด้านต่างๆที่สุดจึงเห็นประกายจากสิ่งที่ชาวบ้านไม่แยแส
“คิดดู มีวัวตั้ง 800 ตัว วัว 1 ตัว ขี้ประมาณ 6 กิโลกรัม แล้วในพื้นที่จะมีกี่ตันต่อกี่วัน เมื่อก่อน ชาวบ้านก็แค่ตากแห้งขายทำปุ๋ย ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่นักวิจัยในคณะนั่งประชุมกัน ถ้าเราเอาวัวเป็นตัวเกณฑ์ เหมือนที่เราเอาเด็กเป็นตัวตั้งในการศึกษา ใช้วัวเป็นศูนย์กลาง เราจะพัฒนาอะไรได้บ้าง
“สิ่งที่ได้คือ แก๊ส ใช้ในครัวเรือนจากขี้วัว แต่ก่อนโดยเฉลี่ย คนบ้านห้วยบง ใช้แก๊สเฉลี่ย 2 เดือน ต่อ 1 ถัง ต่อ 1 ครัวเรือน เป็นเงิน 300 บาท มาใช้ตรงนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้เฉลี่ย 100-150 บาท ของเสียที่ออกมาจากระบบ นำมาทำปุ๋ยได้ เพราะขี้วัว ถ้านำมาใส่ต้นไม้เลยหญ้าจะขึ้นเยอะ”
ที่สุดจึงตั้งเป็น หมู่บ้านวิทยาลัยวัว โดยมีผู้ใหญ่บ้าน จินดา มาฮวด เป็นแกนนำคนสำคัญในการรับช่วงความรู้จากอาจารย์มาเล่าต่อให้ลูกบ้านฟัง
“แรกๆมันก็น่ากลัวนะ กลัวตูมตาม แต่พอมีความรู้ จริงๆไม่อันตราย เราสามารถดูแลได้ แถมใช้แทนแก๊สถังได้เลยนะ แต่ยังไงเราก็ควรมีสำรองไว้ด้วย ผมนี่อย่างเคยใช้อยู่ 2 เดือนต่อถัง ก็ขยับไปเป็น 4 เดือน แก๊สจากขี้วัวไม่เหม็นด้วย ปิ้งปลาอะไรก็ได้ รสชาติอาหารไม่เสีย”
ชาวบ้านบางคนลงทุนทอดไข่ให้กิน ทั้งไข่ดาว ไข่เจียว รสชาติไม่ต่างจากไข่ในเมืองกรุง
“ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลดครึ่งต่อครึ่งเลย หุงข้าวก็ไม่ใช้ไฟฟ้าแล้ว เปิดได้นานสุดก็เป็นชั่วโมงต่อเนื่องกัน ข้าวเหนียวสุกแล้ว เปิดปุ๊ป ติดปั๊ป น้ำที่ออกมาจากการผลิต ผมได้ทดลองนำแทนปุ๋ยน้ำฉีดทางใบ ได้ผลดี อย่างมะนาว ตอนแรกไม่ค่อยมีลูก พอเอาราโคนต้น ลูกดกดีมาก มะม่วงนี่ต้องค่ำกิ่งเลย”
ทั้งยังมีการตั้งธนาคารขี้วัวขึ้น เพื่อการค้าขายเชิงพาณิชย์ที่เป็นระบบ
“เราได้รับการเรียนรู้ ประชาคมกับทางมหาวิทยาลัย เลยคิดตั้งธนาคารขี้วัวเป็นจุดจำหน่ายแห่งเดียวในหมู่บ้าน เราจะได้กำหนดราคาได้เสมอกัน มีการถือหุ้น ก่อนหน้านั้น เราก็ไม่มีข้อมูล ว่าทำกันอย่างไร หาจุดพอดีไม่ได้ พอได้อาจารย์มาช่วยก็เหมือนมีที่พึ่ง ได้รับความรู้ มามองว่าวัตถุดิบในหมู่บ้านเรา อะไรมีคุณประโยชน์”
ระหว่างนั่งรถไปชมสวนทุเรียนพื้นเมืองบนภูเขาที่อำเภอลับแล เราถามถึงหัวใจสำคัญของความสำเร็จในงาน 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด รศ.ดร.ฉัตรนภา เฉลยว่า อันดับแรกผู้นำต้องมีเป้าหมายผสานด้วยความมุ่งมั่นของผู้ปฏิบัติ คือ อาจารย์
“ต้องสร้างการบริหารหารจัดการให้มีอยู่ในทุกคณะ ทุกองค์กร มีการเชื่อมโยงความรู้กับชุมชนท้องถิ่นอย่างหมุนเวียน ต้องได้ข้อมูลสถานการณ์จริง เรามีข้อมูลจากทุกตำบล โดยมี 30 ตำบลหลักๆ ต้องอัพเดทข้อมูลทุกปี”
มีคนบอกว่า ทุเรียนหลงลับแลของจังหวัดอุตรดิตถ์หวาน เม็ดเล็ก กินอร่อย เราไม่แน่ใจนักว่าจะเป็นตามนั้นไหม..แต่เราเชื่อ และรู้ว่าสิ่งไหนเป็นความแน่นอน
คุณรู้หรือยัง .. ?
ที่มาภาพ : www.khaosod.co.th