“เครือข่ายอีสานใหม่” แถลงปกป้องสิทธิชุมชน ยกเลิก EIA/EHIA ทั้งประเทศ
“เครือข่ายอีสานใหม่” แถลง "ปกป้องสิทธิชุมชน ไม่เกี่ยวการเมือง" เสนอยกเลิก EIA/EHIA ทั้งประเทศ เพื่อให้สังคมได้ร่วมกันกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมที่แท้จริง
เมื่อเร็วๆ นี้ เวทีเสวนา “สิทธิชุมชนกับมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม” ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายประชาชนในภาคอีสาน ได้แก่ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย, กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น, กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี, เครือข่ายลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด, และ เครือข่ายอนุรักษ์พิทักษ์กาฬสินธุ์ไม่เอาบ่อก๊าซ จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมกันสรุปบทเรียนการต่อสู้เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากภัยคุกคามโครงการพัฒนาและบทเรียนความบกพร่องของมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ถูกใช้กับกรณีต่างๆ มีข้อสรุปดังนี้
จากประสบการณ์การต่อสู้ที่ผ่านมาของทุกชุมชนพบว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งภาครัฐและนักลงทุนอ้างว่าเป็นเป็นมาตรการที่ใช้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนจากโครงการพัฒนาในปัจจุบัน มีปัญหาตั้งแต่วิธีคิด กระบวนการ และการปฏิบัติ กลายเป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้ผู้ประกอบการ นายทุน และรัฐ เดินหน้าโครงการได้โดยไม่เคยคำนึงถึงความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่อย่างแท้จริง ซ้ำยังเป็นกระบวนการที่สร้างความขัดแย้งในชุมชนและระหว่างชุมชนกับผู้เสนอโครงการโดยไม่ได้เป็นการช่วยลดปัญหาและความขัดแย้งแต่อย่างใด
อีกทั้ง การบริหารประเทศภายใต้สถานการณ์อันไม่ปรกติในขณะนี้ กลับปรากฎว่ามีการใช้กำลังทหารในปฏิบัติการแทรกแซงความขัดแย้งระหว่างชุมชนต่างๆ กับเจ้าของหรือผู้เสนอโครงการ และการพยายามจำกัดการแสดงความคิดเห็นในการคัดค้านโครงการต่างๆ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีที่ทหารพยายามทำหน้าที่เป็นผู้เจรจาระหว่างเหมืองทองคำที่จังหวัดเลยและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดในช่วงเดือนมิถุนายน 2557 และกรณีที่ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดอุดรธานีจัดเวที แนวทางการเดินหน้าประเทศไทย กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2557 ทั้งหมดนี้ภายใต้ข้ออ้าง “การปรองดอง” โดยละเลยประสบการณ์แนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการปกป้องสิทธิชุมชนที่สั่งสมมาเป็นเวลาหลายปี
เครือข่ายประชาชนอีสานในที่นี้จึงรวมตัวกันเป็น “เครือข่ายอีสานใหม่” เพื่อปกป้องสิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยมีท่าทีและข้อเสนอต่อสังคมดังนี้
1. สิทธิของชุมชนและบุคคล ในการปกป้องดูแลและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นของพวกเราทุกคน ไม่ใช่ของผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นสิทธิมีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะภายใต้ระบอบการปกครองใดก็ตาม สิทธิดังกล่าวต้องได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมสังคมต้องแยกแยะว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นคนละเรื่องกับการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การต่อสู้เหล่านี้เป็นการแสดงออกเพื่อปกป้องสิทธิการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน อันเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
2. สิทธิในการแสดงออกเพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลซึ่งต้องได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม ทั้งนี้ รวมถึงเสรีภาพการแสดงออกทางวิชาการ การแสดงความเห็น การปรึกษาหารือ อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนและการละเลยความยุติธรรมและธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างรากฐานของระบอบประชาธิปไตยจากการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชน อันจะนำมาซึ่งความสงบและสันติของสังคมไทยในระยะยาว
3. จากปัญหาความอยุติธรรมและความทุกข์ยากที่ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย กำลังเผชิญอันเกี่ยวเนื่องกับนโยบายและแผนการพัฒนาประเทศ อาทิ การทำเหมืองแร่ โครงการบริหารจัดการน้ำ การสร้างเขื่อน การขุดเจาะปิโตรเลียมและโครงการพัลงงาน ที่ดำรงค์มาเป็นเวลาหลายทศวรรต เป็นข้อเท็จจริงที่แสดงถึงความผิดพลาดในแนวทางการจัดการทรัพยากรของรัฐที่ผ่านมา และความล้มเหลวของกลไกและมาตการที่มีอยู่ คือ EIA และ EHIA ว่าไม่สามารถรับประกันว่าจะคุ้มครองสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้จริง เครือข่ายอีสานใหม่ จึงขอเสนอให้ยกเลิก EIA และ EHIA ทั้งหมด ทั้งที่ดำเนินการแล้วและกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อให้สังคมได้ร่วมกันกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมที่แท้จริง