ขุมทรัพย์โควต้าสลากฯ ทำขายเกินราคา เปิดสารพัดสูตรแก้ปัญหาเรื้อรัง
"คณะกรรมการจัดสรรสลากฯ ได้ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากสำนักงานสลากฯถึงการจัดสรรโควต้าสำนักงานสลากฯ ในช่วงปี2548-2549 ซึ่งจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการผลิตสลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากช่วงปี 49-50 แต่จะพบว่า รูปแบบการจัดสรรโควต้าดังกล่าวก็ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก คือ สลากกินแบ่งฯที่มีการทำกันออกมา ในแต่ละงวด จะแบ่งโควตา “ผู้ได้รับการจัดสรร” ออกเป็นกลุ่มๆ"
จากนโยบายของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้ประชาชนได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ในราคา 80 บาทอันเป็นราคาขายที่แท้จริง ไม่ใช่การซื้อเกินราคา 110 บาท บ้างก็ 120 บาท แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งเป็นมาหลายสิบปี โดยที่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนแก้ปัญหาได้ทั้งที่เป็นสินค้าของรัฐ แต่ภาครัฐกลับปล่อยให้ขายสินค้าของตัวเองเกินราคาเอาเปรียบผู้บริโภคมาหลายสิบปี โดยไม่มีใครคิดแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
ท่ามกลางข้อกังขาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า เป็นเพราะเรื่องหวย-สลากกินแบ่ง มันเป็น "สินค้ากินแบ่ง" สมชื่อ และทำกันมาเป็นขบวนการตั้งแต่ระดับฝ่ายการเมืองจนถึงผู้บริหารในสำนักงานสลากฯ จนถึงยี่ปั้ว –ซาปั้ว ทั้งหลาย ทำให้ต้นทุนการจำหน่ายถูกบวกเข้าไปเป็นทอดๆ ผลก็เลยทำให้ต้องขายเกินราคาอย่างที่เห็น ทั้งที่การพิมพ์ของสำนักงานสลากฯแต่ละงวดก็ไม่ใช่น้อย อย่างสลากฯปกติงาดหนึ่งๆก็ร่วม 50 ล้านฉบับ
จึงเป็นที่รู้กันว่า สำนักงานสลากฯ คือขุมทรัพย์ก้อนใหญ่ที่พรรคการเมือง นักการเมืองทุกยุคสมัย ต่างจ้องกันตามเขม็งที่จะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์กันแบบเป็นล่ำเป็นสัน
แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว เคยมีการศึกษาและเสนอแนะกันมาหลายแล้วครั้ง แต่ก็ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหน หรือบอร์ดสำนักงานสลากฯชุดไหนให้ความสำคัญนำไปศึกษาและทำแผนปฏิบัติ เมื่อคสช.ลงมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้หลายคนจึงจับตามองไม่น้อยว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่
ผลการศึกษาของคณะทำงานหรือคณะกรรมการชุดต่างๆที่ศึกษาเรื่องการจัดสรรโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาล และการแก้ปัญหาจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคา ที่ "ทีมข่าวปฏิรูป" ได้รับมาและเห็นว่าน่าสนใจไม่น้อย มีด้วยกันหลายคณะ แม้บางชุด จะเป็นรายงานผลการศึกษาที่อาจผ่านมาแล้วหลายปี แต่ก็จะพบว่ายังเป็นข้อเสนอที่ทันสมัยอยู่ เนื่องจากผ่านมาแล้วหลายปี ปัญหาการจัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบไม่เป็นธรรม และการขายสลากฯเกินราคาก็ยังไม่เคยได้รับบการแก้ไขแม้แต่น้อย
เช่น รายงานผลการดำเนินการและข้อเสนอแนะของ "คณะกรรมการเพื่อดำเนินการจัดสรรสลาก" ที่เป็นคณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้นโดยมติบอร์ดสำนักงานสลากฯในปี 2550 ในช่วงรัฐบาลคมช. ที่มีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ โดยบอร์ดฯสำนักงานสลากฯได้ตั้งคณะกรรมการจัดสรรสลากฯ เมื่อกุมภาพันธ์ 57 มี ศาตราจารย์ หิรัญ รดีศรี ซึ่งมีชื่อเสียงในแวดวงข้าราชการ-นักวิชาการและวงการธุรกิจมาตลอดหลายสิบปีพร้อมด้วยกรรมการอีกหลายคนเช่น พีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย-เข็มชัย ชุติวงศ์ บิ๊กอัยการสายวิชาการ เป็นต้น โดยกรรมการชุดดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่หลายอย่างเช่น ไปกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อเสนอต่อบอร์ดสำนักงานสลากฯ
จากเอกสารที่ "ทีมข่าวปฏิรูป" ได้รับพบว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้มีการตั้ง "คณะทำงานเพื่อดำเนินการจัดสรรสลากกินแบ่งรรัฐบาล" โดยมีรศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน โดยคณะทำงานชุดนี้ ได้มีการศึกษาข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องในระบบการจัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาลและศึกษาผลกระทบของภาวะทางการตลาดของสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีต่อระบบการจำหน่าย
ซึ่งคณะทำงานได้มีการเชิญตัวแทนผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงและให้ข้อมูล จากหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น ตัวแทนจังหวัด ที่ส่วนใหญ่เป็นระดับ เสมียนตรา ตัวแทน สมาคมพิการรวม 13 คน เช่น มณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และอดีตสว.-นายอำนวย กลิ่นอยู่ นายกสมาคมคนพิการผู้ค้าสลากแห่งประเทศไทย
แล้วก็ยังมี ตัวแทนจำหน่ายนิติบุคคลคือนายอุทัย ปุณยกนก กรรมการผู้จัดการบริษัทรัชฏาสัมพันธ์ จำกัด ,ตัวแทนจำหน่ายรายย่อยรวม 8 ราย ผู้บริหารสำนักงานสลากฯ ,ตัวแทนสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย-องค์การทหารผ่านศึก เช่น พลเอกทสรฏ เมืองอ่ำ ผอ.องค์การฯ-กรมบัญชีกลาง เป็นต้น
จนสุดท้าย คณะกรรมการจัดสรรสลากฯ ได้ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากสำนักงานสลากฯถึงการจัดสรรโควต้าสำนักงานสลากฯ ในช่วงปี2548-2549 ซึ่งจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการผลิตสลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากช่วงปี 49-50 แต่จะพบว่า รูปแบบการจัดสรรโควต้าดังกล่าวก็ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก คือ สลากกินแบ่งฯที่มีการทำกันออกมา ในแต่ละงวด จะแบ่งโควตา “ผู้ได้รับการจัดสรร” ออกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้
1.ผู้พิการและผู้ค้าสลากรายย่อย(รับตรง)ส่วนกลาง จำนวน 9,521 ราย จำนวนเล่ม 120,374 คิดเป็นร้อยละ 26.17
2.มูลนิธิสำนักงานสลาก มี 1,702 ราย จำนวนเล่มคือ 30,032 คิดเป็นร้อยละ 6.53
3.กระทรวงมหาดไทย-ผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวนราย 20,139 จำนวนเล่ม 162,644 เล่ม คิดเป็นร้อยละ 35.36
4.กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จำนวน 2,388 ราย จำนวนเล่มคือ 30,000 เล่ม คิดเป็นร้อยละ 6.52
5.นิติบุคคล จำนวน 1,163 ราย จำนวนเล่มคือ 28,000 คิดเป็นร้อยละ 6.09
6.สมาคม องค์กรการกุศล จำนวนราย 11,494 ราย จำนวนเล่มคิดเป็น 88,950 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.34
ผลการศึกษาเรื่องการจัดสรรโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าว หลังได้รับข้อมูลและฟังความจากหลายหน่วยงานแล้ว ทำให้คณะกรรมการจัดสรรสลากฯ มีข้อเสนอแนะรวม 11 ข้อ เพื่อให้การจำหน่ายสลาก ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม และประเทศได้รับผลประโยชน์มีอาทิเช่น
-เพื่อแก้ปัญหาสลากรวมชุดสมควรให้สำนักงานสลากกินแบ่ง กำหนดจำนวนครั้งของการออกรางวัลที่ 1 ตาจำนวนชุดที่จัดพิมพ์สลาก (เช่นเมื่อพิมพ์ 46 ล้านชุด ก็ให้ออกรางวัลที่ 1 จำนวน 46 ครั้ง) หรือสำนักงานสลากควรนำสลากจำนวนหนึ่งจากจำนวนทั้งสิ้น 46 ล้านฉบับ มาจัดพิมพ์และจำหน่ายแบบรวมชุดไว้ในใบเดียวกัน โดยมีการกำหนดราคาหน้าสลากเป็นชุดกำกับไว้ เช่น รวม 2 ชุด ราคา 160 บาท หรือรวม 4 ชุด ราคา 320 บาท เป็นต้น
-ควรจัดสรรโควต้าสลากใหม่ โดยการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้แก่ผู้ค้ารายย่อยให้มากขึ้น โดยลดหรือยกเลิกโควต้าของหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อทำให้การรวมสลากชุดยากลำบากขึ้น และควรมีการสลับหมวดหมู่ของสลาก เพื่อมิให้ตัวแทนจำหน่ายสลากชุดได้โดยสะดวก
-ปัญหาขายสลากเกินราคา อาจทำได้โดยการเพิ่มปริมาณสลาก ให้พอเพียงกับความต้องการของผู้บริโภคหรือเพิ่มราคาสลากเพื่อลดอุปทานผู้บริโภค แต่หากไม่ต้องการเพิ่มจำนวนการพิมพ์สลาก อาจใช้การพิมพ์สลากในปริมาณที่สอดคล้องกับอุปสงค์ของตลาดตามฤดูกาลต่างๆ เช่นในเดือนเมษายน-มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วง “ตลาดตาย”ควรลดปริมาณการพิมพ์สลาก แต่ไปพิมพ์สลากเพิ่มในช่วงปลายปีหรือในช่วงเทศกาล
-รัฐบาลสมควรปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ปี 2517 มาตรา 22 โดยเพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่สำนักงานสลาก จากเดิม 12 % เป็นไม่น้อยกว่า 15%1 (โดยเพิ่มส่วนลดให้แก่ตัวแทนจำหน่าย )และลดส่วนที่เป็นรายได้ของรัฐจากเดิม 28 % เหลือไม่เกิน 25%
-สำนักงานสลากควรทำข้อตกลงกับตัวแทนจำหน่าย ให้ควบคุมเครือข่ายของตนเองอย่าให้จำหน่ายเกินราคา หากตรวจพบให้ยึดโควต้าคืน และหากตัวแทนจำหน่ายหรือหน่วยราชการที่รับสลากไปจัดสรร นำสลากไปจัดสรรให้แก่ผู้ที่ไม่ได้ค้าจริง ให้มีการยึดโควต้าคืนด้วย
-สำนักงานสลากควรหาแนวทางเพิ่มช่องทางการจัดส่งสลากให้ถึงมือผู้ค้ารายย่อยทั้งส่วนกลางและภูมิภาคโดยตรง ด้วยการใช้ระบบ Logistics ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารหรือบริษัทจัดส่ง เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับสลาก เป็นต้น
ที่น่าสนใจ คณะกรรมการจัดสรรสลากฯ ยังได้เสนอแนวทางจัดสรรสลากกินแบ่งฯให้กับองค์กรต่างๆ ใหม่เช่น ผู้พิการและผู้ค้าสลากรายย่อย (รับตรง)จากส่วนกลาง เห็นควรให้เพิ่มโควต้าให้ผู้ค้ารายย่อย ในเวลานั้น จาก 26.17 เป็น 39.77 % หรือเพิ่มให้อีก 62,561 เล่ม โดยต้องมีการกำหนดคุณสมบัติในเบื้องต้นและกำหนดปริมาณสลากที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ หากรายใดขาดคุณสมบัติให้ตัดสิทธิ์การรับสลาก โดยมีการตรวจสอบผู้ค้าว่ามีการรับสลากซ้ำซ้อนและเป็นผู้ค้าจริงหรือไม่ หากพบว่าไม่เป็นผู้ค้าจริงก็ให้ยกเลิกโควต้าทั้งหมด
ส่วน “มูลนิธิสำนักงานสลาก” และ กรมบัญชีกลาง ให้ยกเลิกโควต้าทั้งหมด เนื่องจากไม่เป็นธรรม และเข้าข่ายขัดหลักแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ที่จะทำให้สำนักงานสลากฯ สามารถลดค่าใช้จ่ายเปอร์เซ็นต์ส่วนลดที่ต้องจ่ายให้กับทั้งสองหน่วยได้อีกด้วย ส่วน กระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ลดโควต้าลงร้อยละ 20 จาก 162,644 เล่มเหลือ 130,115 เล่ม
นอกจากนี้ยังเสนอให้ลดโควต้าของนิติบุคคลลง ร้อยละ 50 แล้วไปเพิ่มโควต้าให้แก่สมาคมและองค์กรการกุศล โดยองค์กรที่จะได้สิทธิดังกล่าวต้องเป็นองค์กรที่เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณกุศล โดยให้ตรวจสอบจากเอกสารผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีโดยตรวจสอบกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นองค์กรเพื่อสาธารณะประโยชน์จริง ไม่เป็นหน่วยงานของราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสมาคมและมูลนิธิที่จะได้โควต้าจะต้องแสดงรายชื่อสมาชิกที่จะรับสลากไปจำหน่ายพร้อมระบุแผนที่ในการจำหน่ายสลากไว้ด้วย
ข้อเสนอดังกล่าวทางกรรมการจัดสรรสลากฯ ยังได้กำหนดกลุ่มผู้ค้าจำหน่ายสลากออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.คนพิการและผู้ค้าสลายรายย่อย 2.สมาคมและมูลนิธิต่างๆ 3.นิติบุคคล
ซึ่งกรรมการจัดสรรสลากฯ ได้ระบุคุณสมบัติของทั้ง 3 กลุ่มไว้ด้วยเช่น คนพิการและผู้ค้าสลากรายย่อย มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ต้องมีความสามารถค้าสลากได้ด้วยตนเองตามราคาที่กำหนดและสถานที่ ณ จุดที่ แจ้งต่อสำนักงานสลากฯ เอาไว้ ส่วน นิติบุคคล ต้องมีคุณสมบัติคือ มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป มีเงินในบัญชีธนาคารของนิติบุคคลไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ต้องมีแผนการจัดจำหน่ายสลากของบริษัทและเป้าหมายในการทำตลาดที่ชัดเจน
ทั้งหมดข้างต้นคือ กรอบแนวทางที่กรรมการจัดสรรสลากฯได้ศึกษาและเสนอไว้เมื่อช่วงปี 50 ที่หลายข้อเสนอยังสามารถนำมาศึกษาและอาจนำมาใช้ได้ในช่วงต่อจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาขายสลากกินแบ่งเกินราคา หาก “คสช.”คิดจะนำมาสานต่อ เพราะข้อเสนอข้างต้น จะพบว่าก็มุ่งเน้นให้การจัดสรรโควต้าสลากกินแบ่งฯของรัฐบาลเป็นไปอย่างโปร่งใส ทั่วถึง เป็นธรรม ไม่ได้ให้สำนักงานสลากฯมุ่งค้ากำไร เพื่อนำไปสู่ปลายทางคือ ประชาชนซื้อสลากได้ในราคาซื้อขายจริงไม่ใช่ซื้อเกินราคา
นอกจากแนวทางของกรรมการจัดสรรสลากฯดังกล่าวแล้ว ก็ยังมี ข้อเสนอล่าสุด เมื่อช่วงไม่ถึง 2 ปีมานี้ ที่ศึกษาเรื่องปัญหาจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลขายเกินราคาโดยตรงและได้มีข้อเสนอออกมา โดยพบว่าสภาผู้แทนราษฏรชุดที่แล้วที่โดนยุบไปเมื่อ 9 ธ.ค. 56 ก็มีการศึกษาเรื่องการจำหน่ายสลากกินแบ่งฯเกินราคาเช่นกัน อันเป็นการศึกษาโดย”คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฏร”ที่ตั้ง”คณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษากรณีการจาหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา”มี สุชาย ศรีสุรพล อดีตส.ส.ขอนแก่น หลายสมัย จากพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน
โดยพบว่าหลังคณะอนุกรรมาธิการฯชุดดังกล่าว มีการประชุมศึกษาปัญหาดังกล่าวแล้วก็ได้มีข้อเสนอแนะต่อการแก้ปัญหาเรื่องนี้ออกมาหลักๆ ดังนี้
1.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ควรที่จะพิจารณายกเลิกระบบการจัดสรรโควตาในการจำหน่ายสลาก ทั้งสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากบำรุงการกุศล อีกทั้งต้องศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับการนำระบบการจาหน่ายสลากด้วย”เครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ”มาใช้ในท้องตลาดอย่างจริงว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ แทนการจำหน่ายแบบปัจจุบันเพื่อป้องกันมิให้สลากรวมอยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ลดปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคาจากพ่อค้าคนกลาง และยังเป็นการเพิ่มช่องทางให้กับประชาชนที่จะได้เลือกซื้อสลากได้ตามที่ต้องการในราคาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ ขณะเดียวกัน สำนักงานฯ ต้องรณรงค์ไม่ให้ประชาชนซื้อสลากเกินราคา เพื่อไม่ให้พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบผู้บริโภค
2.ปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา มีสาเหตุสาคัญมาจากผู้ค้าสลากรายย่อยรับซื้อสลากจากพ่อค้าคนกลางมาจำหน่ายในราคาที่สูง จึงทำให้ราคาขายสูงตามไปด้วย จึงต้องหาแนวทางให้ผู้ค้ารายย่อยสามารถ รับซื้อสินค้าสลากได้โดยตรงจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อป้องกันปัญหาพ่อค้าคนกลาง หรือยี่ปั๊ว ซาปั๊ว มิให้เอาเปรียบผู้บริโภค
3.ควรปรับปรุงโทษตามพรบ.สำนักงานสลากฯปี 2517 มาตรา 39 (เป็นเรื่องการเอาผิดกับผู้ขายสลากเกินราคา ต้องระวางโทษปรบับไม่เกิน2 พันบาท)เพื่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย
สารพัดข้อเสนอ-แนวทางที่มีการเสนอออกมาในเรื่องการจัดสรรโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าว จะพบว่าหลายข้อเสนอน่าสนใจไม่ใช่น้อย ที่แน่นอนว่า หากคสช.และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล คิดจะเอาไปทำ ก็คงเป็นการไปทุบหม้อข้าว ผู้ได้รับผลประโยชน์ จากธุรกิจจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก และหากินกับเรื่องนี้มาหลายสิบปีจนสร้างเครือข่ายผลประโยชน์เป็นล่ำเป็นสันแน่นอน
คำถามคือ”คสช.”จะเอาจริงและกล้าไหมหรือแค่สร้างกระแส ชิงพื้นที่ข่าว เรียกเรตติ้ง แล้วก็จบ ?