"Vaccines For Roads" ทำถนนให้ปลอดภัยเพื่อเด็ก
มีการประเมินกันว่า ถนนกว่าครึ่งล้านกิโลเมตรทั่วโลก มีความเสี่ยง! ขณะที่ในแต่ละวันคนทั่วโลกยังต้องมาสังเวยชีวิตบนท้องถนนกว่า 3,500 คน โดยมากกว่า 100,000 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนไม่สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ
แม้การตายบนท้องถนนจะหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ความปลอดภัยทางถนน (Road safety) ก็เปรียบเหมือน ‘วัคซีน’ ที่ใช้ป้องกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ประกาศให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน
ลองมาดูกันว่า สถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กๆ ในภูมิภาคแถบเอเชียแปซิฟิกเป็นอย่างไรกันบ้าง พวกเขาต้องเสี่ยงภัยมากน้อยขนาดไหน
จยย.นำโด่งทำเด็กเขมรตายสูง-อินโด 74% ข้ามถนน
“Naufal Yahya” ตัวแทนสำนักงานตำรวจของอินโดนีเซีย ให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปีคนอินโดเกือบ 3 หมื่นคนเสียชีวิตบนท้องถนน โดยส่วนใหญ่เกิดจากขับขี่รถจักรยานยนต์, 74% ของเด็กเสียชีวิตจากการพยายามจะข้ามถนน รวมไปถึงการซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์
ไม่ต่างจากที่บังคลาเทศ ก็พบสถิติเด็กถึง 77% ต้องประสบอุบัติเหตุ ขณะกำลังข้ามถนน
ที่กัมพูชา “Choun Voun” ตัวแทนจากกรมการขนส่ง ของกัมพูชา บอกว่า เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กที่เสียชีวิตบนถนน มาจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เนื่องจากเด็กที่นี่ส่วนใหญ่เดินทางโดยรถจักรยานยนต์เป็นหลัก ขณะที่ถนนหลายสายในกัมพูชาก็ไม่มีทางเท้า หรือฟุตบาทแยกออกมาชัดเจนเพื่อความปลอดภัยเลย
ฉะนั้น ในกรณีของกัมพูชายังจำเป็นต้องการการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมารองรับความปลอดภัยทางถนนอีกมาก
“ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนในกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างมากมาตั้งแต่ปี 2549 (ค.ศ.2006) เกิดจากการขาดทางเท้า สำหรับคนเดินถนน และแม้จะมีกฎหมายบังคับให้สวมหมวกกันน็อก ซึ่งผ่านล่าสุดปี 2014 แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง”
ส่วนที่เวียดนาม มีสถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนในแต่ละปีมากกว่า 2.2 หมื่นคนเช่นเดียวกัน ซึ่งในจำนวนนี้ 36% เป็นเด็กที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์
ตัวแทนจากกาชาดฟิลิปปินส์ (Philippines red Cross) “Dr Gwendolyn Pang” ได้เล่าประสบการณ์ที่มีอาสาสมัครถูกรถชนตายอนาถ เพื่อประกอบสถิติให้เห็นชัดว่า อุบัติเหตุบนท้องถนน คือ สาเหตุการตายของประชากรวัยหนุ่มสาวของประเทศนี้
พร้อมกันนี้ เธอได้เสนอแนะมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กๆ ทั้งการสวมหมวกกันน็อค, คาดเข็มขัดนิรภัย,ทำทางข้ามถนนอย่างปลอดภัยว่า สิ่งเหล่านี้สามารถปกป้อง ชีวิตเด็กได้ด้วยส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนในหมู่เยาวชนที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
กลับมาที่บ้านเรา นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกำกับทิศ แผนงาน สอจร. เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนน้อยคือ รถไฟ รถเมล์ รถราง และมีช้ากว่า เยอรมันนี และญี่ปุ่น ฯลฯ ทำให้ประชาชนต้องขวนขวายเดินทางโดยรถส่วนตัว คือ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์
ขณะที่เลนจักรยานก็ไม่มีให้จำเพาะ จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุง่ายและมากกว่า
"ถ้าไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ ถนน ไฟฟ้า ทางเท้า ฯลฯ รวมทั้งวินัย กฎจราจร ที่คนไทยขาดมากๆ สถิติ ตาย บาดเจ็บ ต่อประชากรของไทยจึงสูงมากเป็น 5 อันดับต้นของโลก อัตราการเสียชีวิตปีละ 38 ต่อแสนประชากร บาดเจ็บปีละกว่าแสนคน โดยเฉพาะช่วง 2 เทศกาลใหญ่ๆ"
ส่วนนายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ผู้ที่ขับเคลื่อนรณรงค์ใส่หมวกกันน็อค แจกหมวกปีละกว่าแสนใบ ก็เห็นว่า เรื่องความปลอดภัยทางถนน รวมถึงการรณรงค์ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กนั้น ประเทศไทยขับเคลื่อนเรื่องนี้มามากมาย ทำมานาน แต่ที่ผ่านมาทำแบบเบี้ยหัวแตก ตัดริบบิ้นแล้วจบ ทำให้การรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุตามท้องถนน เป็นไปคนละทิศทางยังออกมาไม่ดีเท่าที่ควร
ขณะที่ผู้ให้การสนับสนุนอย่าง ADB หลายคนได้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นพร้อมสนับสนุนโครงการใดๆ ก็แล้วแต่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการปรับปรุงความปลอดภัยทางถนนที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก
ซึ่งในปี 2558 องค์การสหประชาชาติจะให้ความสำคัญ และผลักดันประเด็น “Save kid” เป็นพิเศษ
“Gil-Hong Kim” ผู้อำนวยการกองโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน ADB ยืนยันว่า เรื่อความปลอดภัยทางถนน เป็นธุระของทุกคน ADB ให้ความสำคัญโดยจัดให้เป็น 1 ในเสาหลักของการดำเนินการอย่างยั่งยืน รวมทั้งเรียกร้องให้ทุกประเทศลงทุนและให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทางถนนด้วย
“เราถือว่า เป็นการทำงานในเชิงเศรษฐกิจที่ท้าทาย เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ ที่สูญเสียไปจากอุบัติเหตุบนท้องถนน”
ขณะที่ Nana Soetantri ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งของ ADB ให้คำมั่นถึงการเพิ่มการปล่อยสินเชื่อโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน และความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็ก ให้มากขึ้นต่อจากนี้
เรารู้กันดี ทศวรรษที่ผ่านมา การออกแบบและสร้างถนนกลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่จากนี้ไปเทรนด์ใหม่ของโลก ต้องมองเรื่องวิศวกรรมการป้องกัน ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยทางถนน ประกอบด้วย
หมายเหตุ:สำนักข่าวอิศรา มีโอกาสเดินทางไปกับ “แผนงานสนับสนุนป้องกันอุบัติเหตุจราจร หรือ สอจร.” เพื่อเข้าร่วมประชุมเรื่องความปลอดภัยทางถนนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2014 (Asia Pacific Road Safety 2014) ในหัวข้อ "Improving Road Safety for Our Children" ณ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank:ADB) สำนักงานใหญ่ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 23 – 24 มิถุนายน 2557 จัดโดย Global Road Safety Partnership (GRSP) โดยมีกลุ่มพันธมิตรสากลเพื่อความปลอดภัยทางถนน อาทิ International Road Assessment Programme (iRAP), Global New Car Assessment (GNCAP) และตัวแทนจากประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก เข้าร่วม