ขบวนการปุกฮัก “ภาคแรกกับโรงเรียนสอนประวัติศาสตร์ชาวนา”
ท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ ด้าน สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เป็นหน่วยย่อยทางสังคมในรูปแบบวิถีการผลิตล้วนแต่เปลี่ยนแปลงตามทั้งสิ้น โดยเฉพาะวิถีดั้งเดิมอย่างชาวนา ก็ล้วนแต่เปลี่ยนแปลงตามไปมากมาย เป็นลำดับกลายเป็นวิวัฒนาการของสังคมชาวนา และเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการของสังคม การเมืองการปกครองและเศรษฐกิจไทย
การยังชีพด้วยการทำนาซึ่งเป็นรากฐานและเป็นวิถีวัฒนธรรมแบบชาวนานั้นเหมือนถูกสาปเพราะเป็นชะตากรรมที่ปกติก็มีธรรมชาติค่อยเป็นอุปสรรคอยู่แล้ว ยังต้องมาเผชิญกับการแย่งชิงการควบคุมขูดรีดจากชนชั้นปกครอง จนมาถึงยุคทุนและตลาดเข้ามาครอบงำวิถีชีวิตหลังจากประเทศไทยเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เมื่อ 50 ปีก่อน ทำให้ชาวนาต้องมาผจญชะตากรรมและต้องล้มละลายเพราะพ่ายแพ้ให้กับพลังตลาด ที่มีทุนและกำไร เป็นตัวกำหนด ทำให้ 5 ทศวรรษ ที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงประเทศ โดยเฉพาะชาวนาในถิ่นชนบทอย่างภาคอีสาน เปลี่ยนแปลงทั้งวิธีคิด วิธีการทำนาและอาชีพ จนเกิดคำถามย้อนมองและศึกษาหาคำตอบ ว่า “ชาวนาอีสานหายไปไหน ?” และ “ทำไมลูกหลานชาวนา .. ไม่ทำนา ?”
จึงเกิดขบวนการคนหนุ่มสาวอดีตนักศึกษาและกลุ่มนักศึกษาลูกหลานชาวนา กลุ่มเล็กๆ จากรั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวอีสาน ซึ่งรวมตัวกันแลกเปลี่ยนพูดคุยพร้อมทั้งทำกิจกรรม เพื่อหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมอีสาน ปัญหาชาวนาอีสาน ปัญหาในสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะในท้องถิ่นของตน พวกเขาดำเนินกิจกรรมในชื่อน่ารักๆ ตามความอุดมคติอันงดงาม ว่า “ โรงเรียนปุกฮัก”
เมือวันที่ 17-18 เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โรงเรียนปุกฮักได้จัดกิจกรรมดำนา เพื่อนำผลผลิตข้าวที่ได้มาเป็นทุนดำเนินกิจกรรมและเพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้วิธีทำนา พร้อมทั้งมีเวทีเสวนาในบรรยากาศลมโชยทุ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาวนาอีสาน เรื่อง “ขบวนการต่อสู้ของชาวนาอีสาน” โดยมี อาจารย์ ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ จาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นวิทยากรร่วมเสวนา ซึ่งอาจารย์สมชัยได้อธิบายชีวิตชาวนา รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับขบวนการการต่อสู้ของชาวนาอีสานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า
“ชาวนาคือผู้ที่ทำกินบนที่นา โดยมีที่นา ทั้งเป็นของตนเองและเป็นของผู้อื่น ชาวนาเป็นคนที่เกิดในยุคสมัยตั้งแต่ยังไม่เจริญ ชาวนามักจะอยู่ติดกับพื้นที่ทำกินของตน ไม่มีความคิดเรื่องการลงทุน หรือหากำไร ซึ่งในสมัยโบราณการแผ้วถางขุดแปลงที่นาเป็นเรื่องลำบากมาก อุปสรรคธรรมชาติก็มาก ทำให้ชาวนาทำนาไม่ได้มาก แค่พออยู่พอกิน ยิ่งในยุคต่อมายุคศักดินาเข้ามาปกครอง ชาวนาต้องขึ้นตรงกับเจ้าขุนมูลนาย ชาวนาก็ยิ่งต้องพบกับความลำบาก เพราะที่ดินตกไปเป็นของพระมหากษัตริย์ เจ้าขุนมูลนาย ชาวนาต้องแบ่งผลผลิตให้เจ้าที่ดิน ทำให้ชาวนามีแรงกดดันสูงและนำมาสู่การต่อสู้ของชาวนา นำมาสู่ “ขบถชาวนา” นั่นเพราะชาวนาหมดสิ้นทางออก ไม่มีที่ไป นั่นเอง
ในสังคมชาวนาภาคอีสาน แต่ก่อนชาวนาอีสานอยู่ห่างไกลจากอำนาจรัฐศูนย์กลางมาก ในความทรงจำจึงไม่มีภาพการถูกเจ้านายทารุณบีบบังคับ กดขี่มากนัก อีกทั้งเมืองในภาคอีสานแต่เดิมเป็นเมืองไม่ใหญ่ ภูมิอำนาจที่ปกครองแถบนี้ไม่เข้มข้นต่างจากเมืองใหญ่ๆ อย่างล้านนา อาทิ เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเจริญรุ่งเรืองก่อนสุโขทัย ความเจริญเหล่านี้ถูกเล่าขานถึงความลำบากความอดอยากของชาวนาล้านนาหรือชนพื้นเมืองมากมาย เรื่องเล่าแบบนี้มีมากกว่าทางอีสาน ซึ่งจะมีเรื่องอดอยากเพราะภัยธรรมชาติมากกว่า และส่วนใหญ่ชาวนาอีสานก็มีที่ดินเป็นตัวเอง จนเมื่ออำนาจรัฐเริ่มเข้ามานี่เองที่ทำให้ชาวนาอีสานเริ่มขัดแย้งกับรัฐ โดยเฉพาะในช่วงล่าอาณานิคม ที่พวกตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลเหนือเจ้าปกครองเดิมแล้วทำการเก็บภาษีขูดรีดชาวนา ทำให้ชาวนาต้องต่อสู้อีกครั้งซึ่งเกิดขึ้นไปทั่วเอเชียและอินโดจีน โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อชาติ อย่างในจีน เป็นต้น
ชาวนาไทยส่วนใหญ่ที่ต่อสู้ไม่เกี่ยวกับที่ดินมากนัก แต่เกี่ยวกับอำนาจรัฐที่เข้ามากดขี่ข่มเหง จึงมีการจับอาวุธร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิสนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวนา ซึ่งเป็นปัญหาของรัฐไทยที่หวาดระแวงคนอีสานซึ่งเป็นคนลาว ว่าจะเข้าไปฝักใฝ่ขบวนการกู้ชาติในอินโดจีน แล้วต้องการที่จะแยกประเทศเอาอีสานไปอยู่กับลาว จึงยกกำลังมาจับมาฆ่าคนอีสาน กระตุ้นให้ชาวบ้านลุกขึ้นต่อสู้ โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ดิน หลังการต่อสู้ด้วยอาวุธยุติลงหลังปี 2525 การต่อสู้ของชาวนาในประเทศไทยจึงมีการเปลี่ยนแปลง ออกมาในรูปต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาแบบต่างๆ อาทิ ปัญหาที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ปัญหาราคาผลผลิต ปัญหาหนี้สิน เป็นต้น ประเด็นการต่อสู้ของชาวนาอีสานเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ มากขึ้นเช่นเรื่องที่ดินในเขตป่าสงวนนั้นก็เป็นผลพวงมาจากรัฐบาลไทยอนุญาตให้ชาวนา บุกเบิกป่าสงวนทำไร่ทำนาซึ่งก็เพื่อหวังผลให้ขับไล่ขบวนการคอมมิวนิสต์ ดังนั้นการจัดการพื้นที่ป่าก็เพื่อขัดขวางขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยให้ชาวบ้านไปถางป่า แต่หลังจากขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ยุติหลง รัฐบาลก็คิดจะยึดเอามาจัดสรรเป็นที่เช่าให้กับเอกชน ก็เลยมาขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ทำกิน นำมาสู่ความขัดแย้ง ในยุคแรกๆ ก็จะเป็นการคัดค้านโครงการจัดสรรที่ทำกิน หรือ คจก. จากนั้นชาวบ้านไปร่วมกันต่อสู้กับขบวนการชาวนาในนาม สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ.) สมัชชาคนจน ซึ่งมีมากมายหลายกรณีปัญหา อาทิ เรื่องป่า เรื่องที่ทำกิน ซึ่งถ้าในปัจจุบันก็เป็นเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน” อาจารย์ ดร.สมชัย กล่าวเกริ่นก่อนจะอธิบายให้ฟังว่า การต่อสู้ของชาวนาอีสานนั้นจากที่อื่น และทำไมวิถีชาวนาอีสานจึงเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้น อาจารย์ ดร.สมชัยย้ำว่าเพราะตลาดและทุนเข้ามากำหนดนั่นเอง
“จริงๆ ชาวนาอีสานมีที่ดินมาก แต่ผลผลิตต่ำ มีที่ดิน 5 ไร่ ก็เหมือนไม่มี เพราะผลผลิตต่ำซึ่งชาวนาอีสานส่วนใหญ่มีที่ดินเป็นของตนเอง และเป็นส่วนน้อยที่ไปร่วมต่อสู้เรื่องที่ดินของตนเอง แต่ส่วนใหญ่ไปร่วมต่อสู้เพราะผลผลิตไม่ดี และข้าวไม่มีราคา ซึ่งอันนี้เป็นราคาร่วมกันของพี่น้องชาวนาทั้งหมด และปัญหาควบคู่กับปัญหาผลผลิตของชาวนาคือปัญหาหนี้สิน เป็นปัจจัยสะท้อนความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวนาอีสาน ชาวนาในชนบทเปลี่ยนจากทำนาพอเพียงยังชีพไปเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับตลาด ซึ่งต้องใช้ทุน เพราะต้องซื้อปัจจัยมากมาย ซื้อยาฆ่าแมลง ซื้อควายเหล็ก ซื้อสินค้าบริโภคอุปโภค ชีวิตมีต้นทุนมากขึ้น ทำให้ต้องกู้หนี้ ยิ่งราคาผลผลิตไม่ดี ก็ยิ่งมีหนี้ ทำให้กระทบต่อการถือครองที่ดิน
ชาวนาแบบพอกินพออยู่พอเพียง ในสภาพปัจจุบันมันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวนาแล้ว แบบพอเพียงพออยู่พอกิน มันอยู่ไม่ได้แล้วสำหรับชาวนา ตอนนี้ชาวนากำลังอยู่ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ชาวบ้านไม่สามารถเลี้ยงตัวเองจากอาชีพทำนาได้ การเปลี่ยนแปลงศรษฐกิจแบบการค้า ทำให้ชาวนาในชนบทเปลี่ยนแปลงตามมาก และสิ่งสำคัญที่ชาวนาต้องการในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ คือทุน หรือเงิน ที่จะเอาไปซื้อของกินของใช้ ไปจับจ่ายในครัวเรือนต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงมาจากระบบสังคมใหญ่ โดยชาวนาไม่สามารถต้านทาน ซึ่งในปัจจุบันนี้ วิถีชีวิตชาวนาอยู่กับระบบทุนนิยม แยกแยะออกจากวิถีเมืองไม่ได้ทั้งในด้านตลาด ข้อมูลข่าวสาร การบริโภค เป็นต้น มันผนวกเข้ากับวิถีเมืองหมดแล้ว ทำให้ความคิดความอ่านของชาวนาเปลี่ยนไป ความคาดหวังในสังคมก็เปลี่ยนตาม มีความอยากให้ลูกเต้ามีฐานะในสังคม การเป็นชาวนาไม่ใช่อาชีพที่น่าพึงพอใจ จึงทำให้ชาวนาไม่อยากให้ลูกทำนา ชาวนาส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยมากขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรแล้วในปัจจุบันนี้
อีกทั้ง ชาวนาในปัจจุบันผันไปเปิดร้านซ่อมมอไซค์ หันไปขายส้มตำแถวพัทยา ไปเป็นกุ๊กร้านอาหาร พอเก็บเงินได้ก็กลับมาทำเถียงนาน้อยๆ ซึ่งจะเห็นว่าอาชีพใหม่ๆ ที่ไม่ใช่การทำนาในกลุ่มชาวนามันเริ่มมากขึ้นๆ การไปหารายได้อื่นๆ ในกรุงเทพฯ เป็นอีกวิถีทางหนึ่งเพื่อการอยู่รอดของชาวนา ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดอาชีพใหม่ๆ ที่ทำให้ชาวนาได้หลั่งไหลไปสู่ทางเลือกใหม่ๆ ด้วย และเป็นอาชีพที่สามารถหาเงินได้ในเวลาสั้นๆ ซึ่งเหมาะมากในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ต้องใช้เงิน
ส่วนสาเหตุที่ชาวนาเลิกอาชีพทำนาเพราะต้นทุนเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นๆ แล้วมันสูง แถมยุ่งยาก อุปสรรคมาก และไม่พอกิน อีกทั้ง ระบบการศึกษามันเปิด มันทั่วถึง ทำให้คนมีโอกาสมากขึ้นในการก้าวไปสู่อาชีพอื่นๆ หลายคนมาอธิบายว่าคนรุ่นใหม่อยากไปอยู่เมือง ทำงานเมือง และเป็นเพราะความสนุก ความหลงไหลในเมือง ความสบายในเมือง นั่นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะมันมีส่วนอื่นที่สำคัญเหมือนกัน และชาวนาสามารถก้าวไปสู่ช่องทางอาชีพใหม่ๆ ได้จริง และที่ชาวนาไม่อยากให้ลูกทำนาเพราะผู้ปกครองพ่อแม่ของเขาซึ่งรู้สภาพชีวิตมาตลอด ว่าเขาเผชิญกับปัญหาอะไร จนเข้าใจ และนอกจากนี้ ผู้ปกครองชาวนาทั้งหลายล้วนแต่เคยออกไปทำงาน รู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก ทำให้เขาเข้าใจวิถีชาวนามากขึ้นและไม่อยากให้ลูกหลานต้องมาผจญปัญหา แต่ก็ไม่ต้องเป็นห่วงหรอกครับ ตราบใดที่เรายังกินข้าว ก็ยังมีคนทำนา และมีคนรับจ้างทำนาปลูกข้าวให้เรากิน สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงยังงี้ มันเกิดขึ้นมานานแล้วหละครับ คนในชนบทในภายหน้าไม่ใช่ชาวนาในความหมายเก่าอีกแล้ว ครับ และผมเรียกว่า สังคมหลังชาวนา ( post peasant society ) เป็นยุคที่สังคมชาวนาเองก็เริ่มแสดงบทบาทอื่นๆ มากขึ้น แม้กระทั่งเรื่องการเมือง ที่เห็นภาพขบวนการคนเสื้อแดงซึ่งเป็นชาวนาจำนวนมากลุกขึ้นมากำหนดจุดยืนแนวคิดตนเอง ผ่านการชุมนุมและล่าสุดผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก ที่ชาวนากล้ารวมตัวกันเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมือง ปัจจุบันนี้ชาวนามีความคิดเรื่องผลประโยชน์จากการเมืองและความชอบธรรมที่เขาควรจะได้รับ ได้ส่วนแบ่งและได้สิทธิจากการเมือง เดี๋ยวนี้ชาวนากล้าที่จะโต้เถียงกับผู้ปกครอง หรือนักวิชาการแบบหัวชนฝา แบบไม่กลัวขนาดชี้หน้าได้เลย จนทำให้ชนชั้นนำในสังคมไทยปรับตัวไม่ได้ ยิ่งมาเกิดการรัฐประหารโดยชนชั้นนำเอง ขบวนการชาวนาลุกขึ้นต่อต้านทันที เพราะชาวนาเสียประโยชน์ จนเกิดความขัดแย้งในสังคมไทยอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ นี่คือจุดเปลี่ยนอีกหนึ่งจุดของชาวนาชนบทที่แสดงออกมาให้รู้ว่า “กูไม่กลัวมึง” ทำให้เห็นคนในกลุ่มชนชั้นปกครองเองที่ปรับตัวตามสังคมไม่ทัน และทำท่าจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในครั้งสองครั้งที่ผ่าน เพราะชาวนาสามารถไปกำหนดการเปลี่ยนแปลงได้ ครับ” อาจารย์ ดร.สมชัย กล่าวสรุป
ส่วนกิจกรรมดำนาซึ่งมีอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมจากรั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคามและนักศึกษาโดยจากชมรมรักษ์อีสาน สาขาพัฒนาชุมชน มาร่วมกันทำกิจกรรมกว่า 30 คน ซึ่ง นายวิทยา แสงปราชญ์ บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ และอดีตนักกิจกรรมชมรมคนสร้างฝัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในแกนนำก่อตั้งโรงเรียนปุกฮัก ได้อธิบายที่มาที่ไปของการก่อตั้งโรงเรียนและการคิดกิจกรรมดำนานี้ว่า
“โรงเรียนปุกฮัก มันเป็นพื้นที่หนึ่งที่ อาจารย์ มณีรัตน์มิตรปราสาท ซึ่งท่านเป็นที่ปรึกษาของชมรมคนสร้างฝัน ในตอนนั้นนะครับ ตอนนั้นเราทำกิจกรรมกับอาจารย์เรื่อยมา ต่อมาอาจารย์ได้มาซื้อที่นาแปลงนี้ไว้ บวกกับพวกเราเคยคุยกันว่า หลังจากเรียนจบ เราอยากมีพื้นที่ทำกิจกรรม เป็นที่สำหรับพบปะ รวมตัวของนักกิจกรรม พอดีนั่นแหละอาจารย์แกให้พื้นที่ ก็เลยมาขอใช้พื้นที่เป็นที่รวมพลกันครับ ก่อนหน้านั้นไม่ได้คิดว่าจะเป็นโรงเรียนหรอกครับ คิดแค่เป็นพื้นที่ในการรวมตัวกัน พบปะกันเฉยๆ แต่มาวันหนึ่ง ก็คิดว่า ถ้าเราทำเป็นโรงเรียน เป็นพื้นที่เรียนรู้ สำหรับพวกเราด้วย ให้น้องๆ ชมรมที่พวกเรารู้จัก ในมหาลัย ด้วย ก็เลยคิดว่า น่าจะทำเป็นโรงเรียน แต่ไม่รู้ว่าจะชื่ออะไร ก็เลย คุยกันมาว่า เรามาสร้างรักกันไหม ? ก็เลยได้คำ ปุกฮัก หมายถึง รักสังคม รักเพื่อน รักพี่น้อง ซึ่งคำว่าปุก หมายถึง ก่อ หรือสร้าง เลยเป็นปุกฮัก หลังจากนั้นก็คุยกันว่า วัตถุประสงค์ของเราเป็นยังไงกัน ก็มีพี่จ้อย ( เรืองฤทธิ์ โพธิพรม..) คิดว่าปุกฮัก น่าจะเป็นพื้นที่ของการเก็บรวบรวมข้อมูลของปัญหาในอีสาน ว่ามีอะไรบ้าง เราก็มีหน้าที่รวบรวมข้อมูล ก็จะเป็นฐานในการต่อสู้ปัญหาของพี่น้องในอีสานด้วยแล้วก็จะเป็น ที่สำหรับให้น้องๆ ศึกษาและคนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ครับ” นายวิทยากล่าวและยังชี้แจงเกี่ยวกับกิจกรรมของโรงเรียนอย่างน่าสนใจ ว่า
“กิจกรรมของเราที่คุยกัน ส่วนหนึ่งก็วางหลักสูตรกิจกรรมในการจะมาแลกเปลี่ยนกัน แต่ว่าที่ผ่านมาต่างคนก็ต่างมีภาระที่จะทำ เลยไม่ได้รวมตัวกันคิดหลักสูตรที่จะทำ แต่ก็คิดว่าช่วงนี้ ต่างคนต่างก็ไม่พร้อมที่จะอยู่ประจำโรงเรียนก็เลย อาศัยว่าใครหมุนเวียนมาได้ ก็มาช่วยกันสร้างกิจกรรมสำหรับ ปุกฮัก ก็ชวนน้องเข้ามาทำกิจกรรม คือใครสนใจที่จะทำกิจกรรมไหนหรือประเด็นไหนเป็นพิเศษ ก็ให้รวมกลุ่มกันมา แล้วก็มาปรึกษากัน ก็จะมีพี่ๆ ที่หมุนเวียนกันอยู่ที่ปุกฮัก มาช่วยกันจัดกิจกรรมให้กับน้องๆ ที่ผ่านมาก็มีน้องๆ นักศึกษาจากกลุ่มแสงเทียน จากโรงเรียนอนุกูลนารีที่กาฬสินทธุ์ ที่เขาเข้ามา สรุปการทำกิจกรรมของกลุ่ม แล้วก็มีน้องๆ คนสร้างฝันเข้าไป ร้องรำทำเพลงกัน สำหรับกิจกรรมล่าสุด คือ กิจกรรมดำนา ซึ่งโรงเรียนปุกฮักเป็นพื้นที่มีนาด้วย เราก็เลยคิดว่า การที่จะให้น้องๆ เข้ามาดำนาเฉยๆ คงไม่พอ เลยอยากให้มาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชาวนา การต่อสู้ของชาวนา ก็เลยจัดกิจกรรมนั้นขึ้นมา เพื่อให้น้องๆ เข้ามาเรียนรู้กัน และอีกอย่าง ก็อยากให้น้องๆ ที่สนใจทำกิจกรรมได้เข้ามาทำความรู้จักปุกฮักด้วย ซึ่งนับว่านี่เป็นกิจกรรมแรกเลยของปุกฮักจริงๆ นอกนั้น ปุกฮุกจะเป็นพื้นที่ให้เพื่อนๆ น้องๆ มาใช้มากกว่า อีกด้านหนึ่งโรงเรียนปุกฮัก ก็ทำงานกับเครือข่ายคนรุ่นใหม่ภาคอีสานด้วย ก็จะมีคนรุ่นใหม่ที่ทำงานแล้ว หรือทำงานเอ็นจีโอบ้าง งานเคลื่อนไหวกับชาวบ้านบ้าง ต่างก็เข้ามาร่วมงานกัน เข้ามาใช้พื้นที่ส่วนนี้ร่วมกัน พูดคุยกันเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และส่วนใหญ่ก็จะเน้นปัญหาในภาคอีสาน ครับ” นายวิทยากล่าว