ปัญหาชนกลุ่มน้อยแดนมังกร...ความรุนแรงที่ยังไร้แววยุติ
บทความชิ้นนี้แปลจาก wsj.com ในค่ายเดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล บอกเล่าถึงความรุนแรงระลอกใหม่ใน "ซินเจียง" เขตปกครองพิเศษของจีน ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม โดยปัญหาในซินเจียงถือเป็นบททดสอบความพยายามของรัฐบาลจีนที่ต้องการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสร้างเสถียรภาพทางสังคมให้กับพื้นที่นี้...
แม้จะย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของการเกิดเหตุรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 ราย ในเวลาเพียงแค่ 2 วัน แต่สถานการณ์ในเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ ของจีน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนั้น ก็ยังไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติ
เหตุนองเลือดในเมืองคาชการ์ ใกล้พรมแดนปากีสถาน และคีร์กิซสถาน ที่เกิดจากการใช้มีดไล่แทง ลอบวางระเบิด และไล่ยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ตอกย้ำถึงความตึงเครียดทางเชื้อชาติ อันเกาะติดกับภูมิภาคนี้มาเป็นเวลานาน และส่งผลกระทบถึงพื้นที่ใกล้เคียง อย่าง มองโกเลียใน และทิเบต
สถานการณ์ข้างต้น ยังเป็นเหมือนบททดสอบความพยายามของรัฐบาลกลาง ที่ต้องการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสร้างเสถียรภาพทางสังคมให้กับพื้นที่บริเวณนี้
ความรุนแรงระลอกใหม่ในซินเจียง-อุยกูร์ เริ่มขึ้นในช่วงกลางดึกคืนวันเสาร์ที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสื่อของรัฐ และเว็บไซต์ของส่วนบริหารท้องถิ่น อ้างว่า ชาวอุยกูร์ 2 คน ดักปล้นรถบรรทุก แทงคนขับเสียชีวิต ก่อนจะขับรถพุ่งเข้าใส่ฝูงชนในตลาดกลางคืน
สำนักข่าวซินหัว ระบุว่า หลังก่อเหตุดังกล่าว ชายทั้ง 2 คนได้กระโดดลงจากรถ ใช้มีดไล่แทงคนเสียชีวิต 6 ราย และบาดเจ็บอีก 28 ราย ก่อนที่จะโดนฝูงชนเข้ารุมประชาทัณฑ์ ทำให้ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 1 ราย และตำรวจสามารถจับกุมอีก 1 คนที่เหลือไว้ได้
ก่อนที่จะเกิดเหตุไล่แทงข้างต้น ชาวเมืองคาชการ์ก็เพิ่งจะตื่นตระหนกกับเสียงระเบิดถึง 2 ครั้งซ้อน โดยครั้งแรกเป็นการระเบิดจากรถมินิแวน ส่วนอีกครั้งเกิดขึ้นที่ตลาดสด
การสูญเสียไม่ได้หยุดอยู่เท่านั้น เพราะเหตุรุนแรงในวันถัดมาทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 4 ราย รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 นาย แต่ทั้งสื่อทางการ และเว็บไซต์ของส่วนบริหารท้องถิ่น ไม่รายงานว่าเหยื่อจากทั้ง 2 วันเป็นชาวอุยกูร์ หรือชาวฮั่น เชื้อสายหลักของแดนมังกร
เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตอีก 4 ราย หลัง "กลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธ" บุกเข้าไปในภัตตาคารแห่งหนึ่ง สังหารเจ้าของร้าน และพนักงานบริการ ตามด้วยการจุดไฟเผาร้าน วิ่งออกมาข้างนอก แทงคนแถวนั้นอีกรายหนึ่ง ก่อนที่ตำรวจจะตัดสินใจสาดกระสุนเข้าใส่
จนถึงขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า ฝ่ายใดเป็นผู้เริ่มต้นก่อเหตุความรุนแรงในคาชการ์ขึ้นมา แต่เหล่านักเคลื่อนไหวอุยกูร์ในต่างประเทศพากันแสดงความวิตกว่า เหตุนองเลือดข้างต้นอาจทำให้เกิดการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยรอบใหม่ หลังทางการจีนมองกลุ่มเคลื่อนไหวอุยกูร์ว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับ "อัล ไกดา" เครือข่ายก่อการร้ายแถวหน้าของโลก
นับเป็นเวลานานหลายทศวรรษแล้วที่ชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ก่อเหตุขึ้นเป็นระยะๆ โดยมีบางครั้งที่บานปลายกลายเป็นความรุนแรงขึ้นมา โดยคนกลุ่มนี้ต้องการแยกตัวเป็นเอกราชจากแดนมังกร และกล่าวหารัฐบาลกรุงปักกิ่งว่า พยายามฉกฉวยผลประโยชน์จากภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมัน ปิดกั้นเสรีภาพในการนับถือศาสนา และพยายามกลืนชนชาติ ด้วยจำนวนชาวฮั่นที่หลั่งไหลเข้ามาตั้งรกรากในซินเจียง
ทางด้านนักวิเคราะห์เตือนว่า จีนมีความเสี่ยงในเรื่องชนกลุ่มน้อยเพิ่มมากขึ้น โดยในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ชาวมองโกเลีย ในเขตมองโกเลียใน ทางตะวันออกของซินเจียง ก็เพิ่งจะรวมตัวประท้วงเหตุคนขับรถบรรทุกชาวฮั่นก่อเหตุชนแล้วหนี ก่อนที่กระแสความไม่พอใจจะบรรเทาลง เพราะมีการจับตัวผู้ก่อเหตุไว้ได้อย่างรวดเร็ว และโดนตัดสินจำคุกตลอดชีวิต
ในเดือน ก.ค. รัฐบาลกรุงปักกิ่งยังต้องดำเนินการเพิ่มมาตรการรักษาความมั่นคง และโฆษณาชวนเชื่อที่ทิเบตครั้งใหญ่ เพื่อรับประกันถึงความปลอดภัยสำหรับการจัดงานฉลองอย่างเป็นทางการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีของเหตุการณ์ที่ทางการจีนอ้างว่าเป็น "การปลดปล่อยอย่างสันติ" ให้กับภูมิภาคนี้ โดยกองกำลังคอมมิวนิสต์ เมื่อปี 2494
จีนระบุว่า ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนตัวเองมานานหลายศตวรรษแล้ว และมอง ทะไล ลามะ ซึ่งลี้ภัยไปอยู่ที่อินเดีย เมื่อปี 2502 ว่า เป็นผู้ที่พยายามแบ่งแยกดินแดน แม้ว่าผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบตจะยืนยันว่า ดำเนินโครงการอย่างสงบเพื่อให้ทิเบตได้สิทธิปกครองตัวเองมากขึ้น และมีเสรีภาพทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม ไม่ได้ต้องการประกาศตัวเป็นเอกราชแต่อย่างใด
เหตุการณ์นองเลือดที่เมืองคาชการ์ ยังเกิดขึ้นเพียงแค่ 2 สัปดาห์ หลังจากที่ตำรวจยิงผู้ประท้วงชาวอุยกูร์เสียชีวิต 14 รายในเมืองโฮตัน หลังจากที่ผู้ก่อเหตุเหล่านี้บุกเข้าไปในสถานีตำรวจ จุดไฟเผา สังหารตำรวจ 2 นาย และพลเรือนอีก 2 ราย
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกล่าวโทษเหตุรุนแรงข้างต้นว่า เป็นฝีมือของชาวอุยกูร์แบ่งแยกดินแดน แต่ "สภาอุยกูร์โลก" ซึ่งมีฐานการดำเนินงานอยู่ที่เยอรมนี ปฏิเสธคำกล่าวอ้างนี้ และกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองโฮตานสังหารผู้ประท้วงที่มีสาเหตุมาจากการกวาดจับชายพื้นเมื่อเร็วๆ นี้ ไปมากถึง 20 คน
สถานการณ์ในเมืองโฮตัน ยังถือเป็นเหตุนองเลือดครั้งร้ายแรงสุด ของเขตปกครองซินเจียงอุยกูร์ นับแต่เกิดเหตุจลาจล จากการปะทะกันระหว่างชาวพื้นเมืองกับชาวฮั่นในอูรุมชี เมืองเอกของดินแดนนี้ เมื่อปี 2552 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน และเป็นความรุนแรงระหว่างเชื้อชาติครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่
ทางด้านสภาอุยกูร์โลก เผยว่า ยังพยายามที่จะติดต่อกับคนท้องถิ่นในเมืองคาชการ์อยู่ เพื่อยืนยันรายละเอียดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้รายงานเบื้องต้นจะบ่งชี้ว่า ชาวอุยกูร์ที่ก่อเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและชาวฮั่นนั้นมีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัว
"ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวถึงสาเหตุของเรื่องดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงที่ทำให้เกิดเรื่องราวทั้งหมดขึ้นมาและทำให้มีคนเสียชีวิตไปนั้น เป็นเพราะการตัดสินและการคุมขังอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องทำให้เกิดความโกรธแค้นขึ้นมา และบางคนก็ต้องการความยุติธรรม" โดลคุน อิซา เลขาธิการสภาอุยกูร์โลก กล่าว และว่า เมื่อผู้คนหาช่องทางที่ถูกกฎหมายเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเองไม่ได้ พวกเขาก็อาจจะพยายามใช้ความรุนแรงรูปแบบนี้
อิซา สรุปว่า เหตุผลหลักที่ทำให้เกิดเหตุเลวร้ายข้างต้นขึ้นก็คือ รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดต่อชาวอุยกูร์!
--------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : wsj.com
แปลโดย : กันยาภรณ์ เผือกวิสุทธิ์ ทีมข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ