4 นักเศรษฐศาสตร์ วางกรอบ “ประชานิยมที่พึงประสงค์”
“ความเหลื่อมล้ำทางสังคม-ความยากจนเชิงโครงสร้าง” ถูกหยิบยกมากล่าวทุกรัฐบาล ตามด้วยนโยบายแก้ปัญหาที่ถูกวิจารณ์ว่าฉาบฉวยหวังผลการเมือง รวมทั้งบรรดา “ประชานิยม”ว่าที่รัฐบาลใหม่ วงอภิปราย “ประชานิยมอย่างไร เศรษฐกิจไทยจึงจะแข็งแกร่ง” โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มี 4 มือเศรษฐศาสตร์มาช่วยกันชี้ทางออกอีกครั้ง
...................................
ประชานิยม “เป็นดอกไม้หรือดาบ” อยู่ที่ “วินัยการคลัง”
“ประชานิยมไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เป็นหลักการที่เอื้อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นคนด้อยโอกาส”
ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในวงอภิปราย “ประชานิยมอย่างไร เศรษฐกิจไทยจึงจะแข็งแกร่ง” ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติว่า ประชานิยมจะมีปัญหาหรือไม่อยู่ที่ว่ารัฐบาลใดจะนำมาใช้ในลักษณะไหนมากว่า ดังมีบทเรียนให้เห็นแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะลาตินอเมริกาซึ่งมีสภาพปัญหาคล้ายไทย ทั้งการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม และความขัดแย้งทางสังคม ซึ่งประชาชนขานรับนโยบายประชานิยมเป็นอย่างดี
ประธานแบ๊งค์ซีไอเอ็มบี บอกอีกว่าประชานิยมมีความจำเป็นในกรณีที่ประเทศมีการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม ช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำ ลดความขัดแย้งในสังคม และควรใช้กรณีที่เกิดความล้มเหลวในระบบตลาด ให้ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเป็นผู้รับประโยชน์
“แต่ต้องใช้ควบคู่กับวินัยทางการคลังที่เคร่งครัด จึงรองรับวิกฤติได้ ซึ่งนอกจากการกระจายรายได้ไปสู่คนด้อยโอกาสแล้ว ควรมีนโยบายกระจายรายได้จากคนรวยสู่คนจนในรูปแบบภาษีด้วย ไม่เช่นนั้นช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็จะไม่ลดลง”
ดร.บันลือศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า จากสถิติผลผลิต หรือ รายได้ต่อหัวรายจังหวัด(จีพีพี) ปี 2553 พบว่า จังหวัดที่มีจีพีพีต่ำสุดคือ อำนาจเจริญ 35,986 บาท ส่วนจีพีพีสูงสุดคือระยอง 1,052,575 บาท มากกว่าอำนาจเจริญ 30 เท่า และมีความเจริญกระจุกตัวในกรุงเทพ- ปริมณฑล 40 % สะท้อนว่านโยบายสาธารณะ เช่น นโยบายการศึกษา นโยบายสาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน เอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นกลางเป็นหลัก
3 นโยบายประชานิยมที่รัฐบาล “ควรทำ”
เช่นเดียวกับ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด ชี้ว่านโยบายพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ลดปัญหาความยากจนจาก 22 ล้านคนเหลือ 5 ล้านคน แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้หายไป จากสถิติการกระจายรายได้ปี 2553 พบว่า 20 % ของคนรวยสุดได้ 54 % ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) 80 % ของคนจนสุดได้ 46% ของจีดีพี และ 10% ของคนจนที่สุดได้แค่ 4 % ของจีดีพี
“คนจนลดลง แต่ช่องว่างการกระจายรายได้ก็เพิ่มขึ้น คนจนที่สุดมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,000 บาทต่อปี ส่วนคนรวยมีรายได้เพิ่ม 10,000 บาท” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
ดร.กอบศักดิ์ บอกว่า“ประชานิยมที่ประสบความสำเร็จ” ต้องดูไปถึงระยะยาวว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้ประชาชนและประเทศชาติมีความเข้มแข็ง ยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้หรือไม่ เพราะถ้าลงทุนไปแล้ว แต่ประชาชนกลับพึ่งตัวเองไม่ได้ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็มาขอเงินรัฐอีก ถือเป็นนโยบายที่ล้มเหลว เช่น นโยบายลดหนี้เพื่อก่อหนี้ใหม่ จนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่ช่วยทำให้กินดีอยู่ดี หรือมีการกระจายรายได้
“นโยบายเบี้ยคนชราเดือนละ 500 บาท ถือเป็นภาระของรัฐตกปีละ 4 หมื่นล้านบาท ถ้ารัฐบาลปัจจุบันเพิ่มเป็นเดือนละ1,000 บาท ก็สูงถึงแสนล้านบาท ถือเป็นการลงทุนไม่คุ้มค่า เพราะสามารถกระจายไปทำประโยชนน์ส่วนอื่นได้ ในเม็ดเงินเดียวกัน”
นายแบ๊งค์กรุงเทพฯ บอกว่าประชานิยมที่รัฐบาลควรทำเพื่อให้ “ได้ใจชาวบ้าน” และ “ได้ประโยชน์ระยะยาว” ไปพร้อมกันได้แก่ 1.พัฒนาด้านการเกษตร และเทคโนโลยีการเกษตร เพราะเกษตรกรคือกลุ่มคนจน 20 % แรกของไทย ต้องพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งจะส่งผลต่อนโยบายบัตรเครดิตชาวนา เพราะผลผลิต คือ เครดิตของชาวนา ตลอดจนเพิ่มระบบประกันผลผลิตจากสภาพดินฟ้าอากาศ
2.ปฏิรูปคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกัน 3.การออมระดับชุมชน เช่น ธนาคารหมู่บ้าน สหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนหมู่บ้าน เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินออม
“แก้กลไกตลาดให้เป็นธรรม” ดีกว่า “ให้เงินฟรีอย่างไม่สมเหตุผล”
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง บอกว่าสถิติการกระจายรายได้ปี 2553 ข้างต้น แสดงปัญหาความเหลื่อมล้ำว่า รายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่กับเจ้าของทุน เพราะการพัฒนาประเทศของไทยต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศเป็นหลักโดยใช้กลไกลการตลาดและรัฐบาลเป็นตัวหมุนระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้มีรายได้สู่แรงงานและประชาชน แต่ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาได้ผลน้อยมาก
“เมื่อเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ก็เกิดแนวทางใหม่ คือ ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลลงมาแก้ปัญหาโดยตรง ไม่ผ่านกลไกตลาด แต่ใช้นโยบายประชานิยม นอกจากนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ที่เริ่มมีการทำซีเอสอาร์ (โครงการรับผิดชอบต่อสังคม) เข้าถึงชุมชนได้มากขึ้นด้วย”
ดร.คณิศ ยังตั้งข้อสังเกตุว่า หลายนโยบายเป็นผลมาจากการที่ประชาชนออกมาเรียกร้อง ไม่ใช่นโยบายหาเสียงจากพรรคการเมืองเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีการให้ตรงผ่านนโยบาย 3 แบบ คือ 1.รัฐสวัสดิการให้เปล่า 2.ให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อย เช่น บัตร 30 บาท หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3.การจ่ายแบบมีเงื่อนไข เช่น การให้สินเชื่อระดับท้องถิ่นกองทุนหมู่บ้าน
ผอ.สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เสนอแนวทางแก้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจว่า ประการแรก-ต้องเอากลไกการตลาดเป็นตัวตั้ง ดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร หากเกิดจากความสามารถในการหารายได้ที่ไม่เท่ากัน ก็ไม่ควรเข้าไปแทรกแซง
ประการที่สอง-ถ้าปัญหาเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของระบบ ก็ต้องเข้าไปเติมเต็มให้สมบูรณ์ เช่น การประกันความเสี่ยงพืชผล การให้สินเชื่อแก่คนรากหญ้าและชุมชน ประการที่สาม-ควรมีระบบการโอนรายได้ส่วนเกินจากคนรวยผ่านระบบภาษีมาสู่ผู้มีรายได้น้อย เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มคนยากจน โดยเฉพาะการลงทุนด้านการศึกษา และสาธารณสุข ประการสุดท้าย-ระบบสวัสดิการรองรับเมื่อเกิดปัญหาที่ไม่คาดการณ์มาก่อน เช่น การว่างงาน ภัยธรรมชาติ ผู้ชราและผู้ด้อยโอกาส
“กลไกการแก้ปัญหา คือการแก้กลไกลตลาด ไม่ใช่การแจกเงิน เพราะจะทำให้คนอยู่ได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี การวางเงื่อนไขจะทำให้คนปรับตัวให้อยู่ในระบบได้ มากกว่าการที่รัฐบาลให้เงินฟรีอย่างไม่มีเหตุผล” ดร. คณิศ ย้ำชัด
ต้องเป็น “ประชานิยมแบบเลิกได้” ให้ครั้งเดียว ไม่ผูกพัน
ด้าน ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงคนชนบทไทยว่า ปัจจุบันมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง เพราะระยะหลังเริ่มหายจนแล้ว มีเวลา และมีความพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เช่น กลุ่มคนเสื้อแดง การที่คนชนบทหายจนส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเม็ดเงินลงไปในชุมชนผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) และ พ.อ.ช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) และหน่วยงานอื่นๆ ในบางพื้นที่มากขึ้น รวมไปถึงกองทุนหมู่บ้านที่มีแต่เดิมด้วย
“เมื่อมีเงินลงไปในชุมชน โดยมอบอำนาจหน้าที่ให้คนในท้องถิ่นบริหารจัดการ ทำให้ชาวบ้านตื่นตัว มีส่วนร่วมทั้งในแง่การบริหารและการตัดสินใจ ทำให้เกิดจิตสำนึกทางการเมืองตามมา” ดร.สมชัย กล่าว
ด้านนโยบายประชานิยมที่รัฐบาลควรทำ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เสนอว่า ควรมีลักษณะ 1.จิ๋วแต่แจ๋ว กล่าวคือ ใช้เงินไม่มากแต่ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดี เช่น นโยบายการศึกษา และการฝึกฝีมือแรงงาน 2.เป็นประชานิยมเลิกได้ ไม่ผูกพัน กล่าวคือ ไม่ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น กองทุนหมู่บ้านแม้จะใช้เงินสูง แต่เป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียว และก่อให้เกิดระบบเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น ส่วนนโยบายจำนำข้าวจะทำให้รัฐบาลเสียงบประมาณมากตลอดระยะเวลาโครงการ
3. ต้องแปลงร่างได้ คือ แปลงไปสู่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้ถ้วนหน้า ซึ่งอาจเก็บเพิ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ได้
……………………..
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท, จำนำข้าวตันละ 15,000 บาท พ่วงบัตรเครดิตชาวนา, เงินเดือนปริญญาตรี 15,000, แจกแท็ปเลตนักเรียน ป.1, งดเว้นภาษีบ้านหลังแรก–รถยนต์คันแรก และ ฯลฯ
ประชานิยมนโยบายไหนเข้าคอนเซ็ปต์ ของ 4 มือเศรษฐศาสตร์กันบ้าง เชิญหาคำตอบกัน!!….