เพชรคุกกี้รันทำหนี้ 2 เเสน 'หมอลี่' เเนะผู้บริโภคยกเลิกนิติกรรมรอตรวจสอบ
เก็บค่าบริการซื้อเพชรคุกกี้รันสูง 2 เเสนบ. 'ประวิทย์' ตั้งข้อสังเกตเหตุใดไม่จำกัดวงเงินบริการ เเนะผู้บริโภคบอกเลิกนิติกรรม ใช้เหตุอ้างโมฆียะ รอหน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบ
สืบเนื่องจากกรณีมีผู้บริโภคถูกเรียกเก็บค่าบริการเล่นเกมส์คุกกี้รันสูงมูลค่ากว่า 2 เเสนบาท จนสร้างความเดือดร้อนเเละตกเป็นข่าวในเวลาต่อมานั้น
ล่าสุด วันที่ 23 มิถุนายน 2557 นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า การเล่นเกมผ่านแอพพลิเคชั่น โดยมากจะสามารถดาวน์โหลดมาเล่นได้ฟรี แต่หากต้องการอัพเลเวลหรือต้องซื้อชีวิตเพิ่ม ก็ต้องเสียค่าบริการเพิ่ม ซึ่งแรกเริ่มเดิมที การซื้อไอเท็มเหล่านี้จะผูกกับบัตรเครดิตเท่านั้น แต่ปัจจุบันธุรกิจทางด้านนี้ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือในระบบแอนดรอยด์จะผูกกับบริการของ google play store ซึ่งในประเทศไทยมี AWN ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ AIS เพียงเจ้าเดียวที่เป็นตัวแทนหักเงินให้กับ google play เมื่อผู้ใช้บริการซื้อของในเกม AWN ก็จะเรียกเก็บเงินผ่านใบแจ้งหนี้
"กรณีนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุใดไม่มีการจำกัดวงเงินในการให้บริการ เนื่องจากทาง google play เองก็มีการกำหนดเงื่อนไขต้องซื้อบริการไม่เกินขีดจำกัดการใช้บริการต่อเดือนหรือเครดิตลิมิตของผู้ใช้บริการ กรณีนี้จึงน่าประหลาดใจว่า AWN มาเรียกเก็บค่าบริการถึง 2 แสนบาทได้อย่างไร" กรรมการ กสทช. ตั้งข้อสังเกต
นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า โดยปกติถ้าเป็นบริการโทรออกรับสาย ใช้อินเทอร์เน็ต จะถูกควบคุมผ่านระบบเครดิตลิมิตอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อใช้บริการใกล้หมดวงเงิน เมื่อใกล้ครบ บริษัทก็จะแจ้งเตือน สมมติว่าผู้ใช้บริการกำหนดไว้ที่ 5,000 บาท ประมาณ 4,500 บาทก็ต้องแจ้งแล้ว ซึ่งถ้าผู้ใช้บริการไม่ได้ตอบรับการเพิ่มวงเงิน บริษัทก็จะตัดบริการ ซึ่งผู้ใช้บริการจะสามารถรับสายได้อย่างเดียว
แต่กรณีนี้ไม่ใช่ทั้งการโทรออกรับสาย หรือการใช้บริการอินเทอร์เน็ต แต่เป็นการซื้อบริการผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่ทาง google play และ AWN ไม่ได้ประสานงานกัน เลยไม่รู้ว่าได้มีการคิดค่าบริการเกินวงเงินแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ผู้ใช้บริการสามารถหยิบยกมาต่อสู้ได้
กรรมการ กสทช. กล่าวอีกว่า เบื้องต้นได้สอบถามอย่างไม่เป็นทางการไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยถึงข้อกฎหมายและบทบาทในการกำกับดูแล เพราะโดยหลักการแล้วธนาคารต้องเข้ามาควบคุมการทำธุรกิจประเภทนี้ เพราะถือเป็นการรับชำระเงินข้ามประเทศ ซึ่งถ้าหากไม่มีการควบคุมหรือกำกับดูแล เชื่อว่าในอนาคตจะเป็นปัญหาใหญ่
ส่วน กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็ต้องตรวจสอบด้วยเช่นกันว่า การให้บริการในลักษณะนี้ของ AWN ถูกต้องตามกฎหมายของ กสทช. ด้วยหรือไม่ เพราะการให้บริการต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ต การให้บริการโทรออกรับสาย การให้บริการโครงข่าย แต่ได้รวมถึงบริการการรับชำระเงินแทนด้วยหรือไม่
"ตามข่าวระบุว่าเด็กได้ดูวิธีการซื้อเพชรฟรีจากคลิปใน youtube ซึ่งหากเด็กทำตามวิธีการทุกอย่าง คนที่โพสต์คลิปดังกล่าวก็ถือว่ามีความผิดด้วย เพราะถือว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ" นายประวิทย์ กล่าว เเละว่าดังนั้นผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงไอซีทีต้องเข้ามาร่วมตรวจสอบ
กรรมการ กสทช. จึงเเนะนำว่า ผู้บริโภคอย่าเพิ่งไปรับปากว่าจะชดใช้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน รวมถึงเรื่องการผ่อนชำระ เพราะถือว่าเป็นการยอมรับการเป็นหนี้โดยปริยาย สิ่งแรกที่ผู้บริโภคควรทำในกรณีนี้ คือแจ้งบอกเลิกนิติกรรมที่เกิดขึ้นในทันที โดยอ้างว่าเป็นโมฆียะ เพราะนอกจากประเด็นเรื่องผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือคิดค่าบริการเกินวงเงินจำกัดแล้ว ยังมีข้อสงสัยว่าเยาวชนอายุ 12 ปี สามารถทำนิติกรรมลักษณะนี้ได้หรือไม่ โดยผู้บริโภคควรรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกัน สำนักงาน กสทช. ได้เชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่าง ๆ มาร่วมประชุมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยมีนายประวิทย์เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งทางบริษัท AWN ที่เป็นคู่กรณีได้แจ้งว่า ได้เปิดเป็นช่องทางในการชำระเงินตั้งแต่ เม.ย. ที่ผ่านมา แต่พบว่าหลังจากเปิดให้บริการเพียงไม่กี่วันก็ปัญหา ผู้บริโภคบางรายที่สมัครแอคเคาน์กับ google เพียงไม่กี่วัน ก็มีค่าใช้จ่ายเป็นแสน ทางบริษัทจึงตัดสินใจระงับการให้บริการไว้ก่อนตั้งแต่เมื่อ 30 พฤษภาคม 2557 ก่อนที่กรณีของผู้บริโภคคนดังกล่าวจะกลายเป็นข่าว ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการระงับบริการ เพื่อวางมาตรการป้องกันให้แน่ชัดก่อน คงใช้ได้แต่ระบบ prepaid เท่านั้น เนื่องจากระบบจะเปิดให้ซื้อได้ไม่เกินจำนวนเงินที่มีเท่านั้น
ส่วนกรณีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายผู้บริโภค ทางบริษัทยินดีเจรจาเพื่อรับผิดชอบทั้งหมดหากเป็นการซื้อโดยไม่ได้ตั้งใจ ขณะที่ทางด้านบริษัท DTAC มีการให้บริการเช่นเดียวกัน โดยกำหนดมาตรการ 3 ข้อ คือ 1) จำกัดวงเงินการซื้อ 1,000 บาท/ครั้ง 2) วงเงินรวมค่าซื้อสินค้าและบริการต้องอยู่ในวงเครดิตลิมิต และ 3) ใช้ผ่านช่องทาง wifi ไม่ได้ ต้องใช้ผ่านทาง mobile network เท่านั้น เพื่อให้บริษัททำการตรวจสอบได้ ขณะที่บริษัททีโอที, กสท. โทรคมนาคม และบริษัททรู ยังไม่มีบริการ โดยทางทรูอยู่ระหว่างการเจรจากับ google