"1 เดือน คสช.เสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ” ความอหังการยังมีอยู่หรือไม่?
"..สื่อฯ ยังไม่มีสมาพันธ์วิชาชีพที่มีการควบคุมกันเองอย่างเข้มแข็ง ซึ่งเมื่อถึงวันที่มีการรัฐประหารก็พิสูจน์แล้วว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อย เมื่อสื่อฯ จำนวนมากถูกปิด เขาร้องเฮ ในแง่ที่ว่าเขาสบายหูมากขึ้น จึงนำไปสู่การตั้งคำถามว่า วันนี้ เสรีภาพสื่อฯ ไม่เท่าเสรีภาพประชาชนแล้วหรือ.."
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดงานเสวนา หัวข้อ “1 เดือน คสช.เสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ” ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการมีเดียมอนิเตอร์, ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย, นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.นายพสิล จารุจินดา กรรมการผู้จัดการ บ.ไทยมงคล มัลติมีเดีย จำกัด, นายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล, นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และนายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย
ดำเนินรายการโดยนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ดร.มานะ กล่าวถึงสถานการณ์และบทบาทของสื่อมวลชน ว่า ที่ผ่านมามีการคุยเรื่องปัญหาสื่อมวลชน กันเป็นระยะๆ สื่อยังไม่มีสมาพันธ์วิชาชีพที่มีการควบคุมกันเองอย่างเข้มแข็ง
"เมื่อถึงวันที่มีการรัฐประหารก็พิสูจน์แล้วว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อย เมื่อสื่อจำนวนมากถูกปิด เขาร้องเฮ ในแง่ที่ว่า เขาสบายหูมากขึ้น จึงนำไปสู่การตั้งคำถามว่า วันนี้ เสรีภาพสื่อ ไม่เท่าเสรีภาพประชาชนแล้วหรือ ขณะที่ตอนเฟซบุ๊คถูกปิด 45 นาทีนั้น ประชาชนไม่พอใจ มีเสียงสะท้อนมากมายทำให้ เฟซบุ๊คต้องแก้ไขโดยเร็ว"
“คำถาม คือ ทำไมประชาชนจำนวนไม่น้อย มองว่าสื่อควรถูกจัดระเบียบ” ดร.มานะระบุ
ดร.มานะ ยกตัวอย่างกรณีผู้ประกอบกิจการทีวีดาวเทียม ที่จัดรายการด้วยถ้อยคำรุนแรง หยาบคาย
“กสทช.ทำอะไรบ้าง.. เงียบ.. บอกว่า อยู่ในระเบียบ รายการวิทยุ หลายรายการ ใช้คำหยาบ ตัวสัตว์ ต่างๆ เลื้อยเต็มไปหมด คำหยาบที่ยั่วยุ ให้เกิดการฆ่าฟันกัน ก่ออาชญากรรมกัน ในรายการวิทยุ ในรายการทีวีดาวเทียม กสทช. บอกว่า ทำอะไรไม่ได้ ขณะที่ ประชาชนจำนวนไม่น้อย อึดอัด ดังนั้น เมื่อ คสช. เข้ามาจัดระเบียบ กสทช. ส่วนหนึ่งก็ดีใจ ที่ทำอะไรได้มากขึ้น คำถามคือเรารอให้เป็นแบบนี้หรือ ที่ต้องรออำนาจเบ็ดเสร็จ แต่คุณถูกจำกัดการแสดงความคิดเห็น"
"เราต้องกลับมาทบทวนว่าที่ผ่านมา สื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐบาลที่ไม่ว่ารัฐบาลไหน ล้วนใช้สื่อมวลชนประเภทนี้ เป็นเครื่องมือในการประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม ไม่เปิดโอกาสหรือให้พื้นที่แก่ฝ่ายต่างๆ ที่เห็นไม่ตรงกัน เช่น สื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ถามว่าเปิดโอกาสให้พรรคที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลทุกรัฐบาลได้แสดงความเห็นหรือไม่"
"คำถามคือ เมื่อไม่เปิดพื้นที่ให้มีความคิดเห็นที่แตกต่าง คนจำนวนหนึ่งจึงหาทางออก ผ่านการแสดงความคิดเห็น ผ่านทีวีดาวเทียม เมื่อฝ่ายหนึ่งออกทีวีดาวเทียมได้อีกฝ่ายก็ออกบ้าง เมื่อแต่ละฝ่ายเป็นรัฐบาล ก็ใช้วิธีดำเนินการปิดฝ่ายตรงข้าม"
นักวิชาการรายนี้ กล่าวด้วยว่าเพราะเหตุนี้ สื่อทีวีดาวเทียมของค่าย สีต่างๆ จึงเกิดขึ้น สื่อเหล่านี้จึงเป็นเครื่องมือในการรบฝ่ายตรงข้าม เมื่อเป็นการรบ จึงเป็นข้อมูลแบบจิตวิทยาสงคราม
ดร.มานะ เสนอด้วยว่าสื่อควรหันมาใช้วิธีการควบคุมดูแลกันเอง ไม่ใช่ดูแลโดยสภาวิชาชีพรวมขององค์กรสื่อ ที่จำกัดอยู่เฉพาะสื่อประเภทเดียวกัน เช่น วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ แต่เสนอให้ในองค์กรสื่อแต่ละองค์กรต้องมีหน่วยงานที่เปิดให้มีผู้ร้องเรียนกันมาถึงบทบาทการทำงานของสื่อนั้นๆ ได้โดยในองค์กรต้องมีการจัดการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ก่อนจะเสนอสู่สมาพันธ์วิชาชีพ เช่น โทรทัศน์บางช่อง ถ้ามีผู้ร้องเรียนว่าใช้ภาษาที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง องค์กรนั้น ต้องตั้ง คณะกรรมการขึ้นมา และองค์กรต้องชี้แจงสื่อสารกับผู้ร้องเรียนด้วยว่า การตรวจสอบไปถึงไหนแล้ว
นอกจากนี้ ต้นสังกัด ก็ควรมีกรอบให้ชัดเจน ว่าทิศทางการนำเสนอเป็นอย่างไร คืออะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ส่วนคนทำงานสื่อก็ต้องมีการพัฒนา เช่น มีการฝึกอบรม เน้นเรื่องจรรยาบรรณ ไม่ใช่แค่ว่าใครจบปริญญา ก็มาทำได้เลย แต่ต้องผ่านหลักสูตรการอบรมเรื่องจรรยาบรรณของสื่อมวลชนอย่างเข้มข้น ส่วนภาคประชาสังคมต้องเน้นเรื่อง มีเดีย ว็อทช์ มีเดียมอร์นิเตอร์ คือตรวงจสอบ รู้เท่าทันสื่อให้มากขึ้น
ขณะที่ ผศ.ดร. เอื้อจิต กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่เกิดตอนนี้มีการครองสิทธิ์ข้ามสื่อ เช่น หนังสือพิมพ์ กลายมาเป็นประกอบการธุรกิจสื่อโทรทัศน์ดิจิตอล กลายเป็นเรื่องที่หากตรวจสอบหรือวิจารณ์กันเอง ก็กลายเป็นหยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ
ผศ.ดร.เอื้อจิต ยังตั้งคำถามถึงความอหังการในการยืนหยัดทำหน้าที่ของสื่อมวลชนวันนี้ด้วย
ขณะที่ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า เสรีภาพและความรับผิดชอบต้องอยู่คู่กันในตอนนี้อาจมีความโกลาหล และต้องมีการจัดระเบียบ เชื่อว่าการปฏิรูปสื่อครั้งใหม่ จะประเด็นนี้ต้องมีความชัดเจน เป็นความอิสระที่ชัดเจนในบทบาทหน้าที่
“ที่ผ่านมา ปัญหาหนึ่งคือเราถูกปิดครอบโดยกลุ่มธุรกิจสื่อ เราต้องมาทบทวนกันเรื่องการทำข่าวสืบสวน เราจะต้องทำข่าวเชิงลึกมากขึ้น” นายประดิษฐ์ระบุ
นายฐากรได้กล่าวชี้แจงตอนหนึ่งว่า หลังจากที่มีการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีประกาศที่เกี่ยวพันกับการกำกับดูแลของ กสทช. ถึง 12 ฉบับ ในวันพรุ่งนี้ คือวันที่ 23 มิถุนายน คาดว่าน่าจะมีประกาศเพิ่มขึ้นอีก 1 ฉบับ ที่มีเนื้อหาปลดล็อคกรณีวิทยุชุมชน ซึ่งตนได้เสนอเรื่องดังกล่าว ต่อ คสช. แล้ว
นายฐากร ยังกล่าวด้วยว่าในภาพรวมของสื่อวิทยุโทรทัศน์ ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร ปัจจุบันนี้โทรทัศน์ที่ออกอากาศในระบบทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง อยู่ในภาวะเป็นปกติแล้ว
ส่วนสถานะของโทรทัศน์ดาวเทียม นายฐากรกล่าวว่า ตอนนี้มี 13 ช่องทีวีดาวเทียมที่อยู่ในอำนาจ คสช. พิจารณาความเหมาะสม ซึ่ง กสทช. จะทำข้อมูล เสนอต่อ คสช. ต่อไป ซึ่งในจำนวนนี้ เมื่อทีนิวส์ ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศได้แล้ว ก็จะเหลือ 12 ช่อง
“12 ช่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นช่องที่เป็นเนื้อหาการเมืองเป็นส่วนใหญ่ เช่น เอเชียอัพเดท เอเอสทีวี และบลู สกาย” นายฐากรระบุ
นายฐากรระบุด้วยว่า ในส่วนของช่องทีวีดาวเทียมที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นการเมืองดังเช่น 12 ช่องนี้ แต่เป็นช่องรายการที่เกี่ยวพันกับการโฆษณาเกินจริงหรือมีการร้องเรียน ตรวจสอบมาจาก อ.ย. และอยู่ภายใต้การพิจารณาอนุญาตของ กสทช. ตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐประหารนั้น ปัจจุบัน เหลืออยู่ 140 ช่อง ที่ยังไม่ได้ออกอากาศในจำนวนนี้มีประมาณ 60 กว่าช่อง ที่ได้รับอนุญาตแล้ว และเหลืออีกประมาณ 80 กว่าช่อง ที่ยังไม่ได้รับอนุญาต
ส่วนมุมมองที่มีต่อบทบาทของสื่อ นายฐากร ระบุว่า “ผมแบ่งเป็น สองช่วง ช่วงแรก ช่วงที่อยู่ในคำสั่ง คสช. และต้อง ปฏิบัติการตามคำสั่งนั้น ส่วนยุคหลัง คสช. ผมเห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์ ควรทำได้ และเราจะเดินหน้าต่อในการอนุญาต 80 กว่าช่องที่ยังเหลืออยู่ แต่ที่โดนระงับอยู่ 80 กว่าช่อง ในตอนนี้ เขาโดนเรื่องการโฆษณาเกินความเป็นจริง โดยทุกคนอ้างว่าได้รับอนุญาตจาก อ.ย. แล้ว"
"ในส่วน 80 กว่าช่องนี้ ผมยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกับ 12 ช่อง ที่อยู่ใต้ประกาศของ คสช. คือ 80 กว่าช่องดาวเทียมนี้ เกี่ยวกับโฆษณา เกินจริง ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในอำนาจ ของ กสทช. นะครับ โทรทัศน์ดาวเทียมทั้งหมด ยกเว้น 12 ช่อง ที่ คสช. ยังต้องขอดู" นายฐากรระบุ
...
เหล่านี้ คือเสียงสะท้อนหลากหลาย ทั้งจากตัวแทนหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลสื่อฯ และเสียงจากนักวิชาการที่ตรวจสอบบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน ขณะเดียวกัน ก็ตั้งคำถามถึงนิยามความหมายของ "จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ" และความอหังการ มุ่งมั่นยืนหยัดในอุดมการณ์
กล่าวได้ว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ภายใต้อำนาจ คสช. มุมมองที่แต่ละคนในวงเสวนานี้มีต่อสถานะของ "สื่อมวลชนไทย" ล้วนมีแง่มุมน่าสนใจแตกต่างกัน