ส่งตรง คสช. ข้อเสนอ "ความปลอดภัย" คู่ "จัดระเบียบ" รถโดยสารสาธารณะ
ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เสนอ คสช. เพิ่มมาตรการความปลอดภัยผู้โดยสารควบคู่จัดระเบียบรถสาธารณะ "นพ.ธนะพงศ์" ชี้ดอยรวกเสี่ยงอุบัติเหตุสูงสุด เร่งตั้งระบบความปลอดภัยทางถนน 85 เส้นทางเสี่ยงทั่วประเทศ
ปัจจุบันสถานการณ์อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะมีมากขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พบระหว่างเดือนตุลาคม 2555 – กันยายน 2556 มีอุบัติเหตุทั้งสิ้น 4,230 ครั้ง หรือเฉลี่ย 11.5 ครั้ง/วัน ส่วนใหญ่เป็นรถโดยสารขนาดเล็ก (รถตู้ แท๊กซี่ จักรยานยนต์) ร้อยละ 80 และอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง (รถทัศนาจร รถรับส่งพนักงาน รถนักเรียน) 829 ครั้ง
ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จากการเฝ้าระวังอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เฉพาะที่เป็นข่าวในสื่อต่าง ๆ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ตุลาคม 2554-พฤศจิกายน 2556) ก็พบว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นถึง 301 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 4,660 ราย เสียชีวิต 417 ราย หรือเฉลี่ยจะเกิดอุบัติเหตุ 12.5 ครั้ง/เดือน และเสียชีวิต 17 ราย/เดือน (ในแต่ละครั้งที่เกิดเหตุ จะมีผู้เสียชีวิต 1.4 คน)
จากข้อมูลข้างต้นล้วนมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่เอง ทั้งขับรถเร็ว หลับใน หรือไม่ชำนาญเส้นทาง ประกอบกับยานพาหนะถูกดัดแปลงสภาพ บรรทุกผู้โดยสารเกิน รวมถึงสภาพถนนที่ไม่ได้มาตรฐาน
ล่าสุด แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีนโยบายจริงจังที่จะจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะ แต่มาตรการด้านความปลอดภัยของผู้โดยสาร กลับยังไม่มีการพูดถึง
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการแผนงาน ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มองถึงการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะปัจจุบันเหมาะสมแล้ว แต่หากอนาคตจะมีการยกระดับเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร ระบบการกำกับความเสี่ยง และระบบติดตามกำกับ ลงโทษ เข้าไปด้วย ก็จะทำให้ประชาชนรู้สึก คสช.มิได้มองข้ามเรื่องเหล่านี้
กรมการขนส่งทางบก หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงนั้น นพ.ธนะพงศ์ บอกว่า จำเป็นต้องเพิ่มหลักเกณฑ์ “เงื่อนไขด้านความปลอดภัยทางถนน” สำหรับผู้ประกอบการขนส่งที่ยื่นขอใบอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาต พร้อมทั้งกำหนดระบบติดตามกำกับ และลงโทษที่ชัดเจน สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน “เงื่อนไขด้านความปลอดภัย” ที่กำหนดไว้ด้วย
รวมไปถึงการผลักดันให้มีการนำระบบ GPS และ ระบบสำหรับกำกับติดตาม (monitoring and control system) มาใช้กับรถโดยสารสาธารณะ ให้ครอบคลุม ทั้งรถประจำทางและไม่ประจำทาง (รถทัศนาจร รถนักเรียน)
"มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถตู้ ล้วนแต่ขับเร็ว และยิ่งทำรอบวิ่งรถมากก็ยิ่งอ่อนเพลียและหลับใน ซึ่งมักพบคนขับหลับในได้ง่ายในเส้นทางกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จึงต้องติดตั้ง GPS ศูนย์ติดตามความเร็ว หรือมีจุดจอดรถ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีติดตาม กำกับ ลงโทษ และจัดเก็บข้อมูลผู้กระทำความผิดเอาไว้ด้วย"
ในส่วนภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจสนับสนุนด้านงบประมาณ เช่น การลดภาษีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เช่น เข็มขัดนิรภัย เครื่อง GPS กล้อง speed camera, CCTV บนรถ, เก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็ก หมวกนิรภัย ฯลฯ หรือแม้กระทั่ง กสทช. อาจมีแนวทางสนับสนุนค่าเช่า Internet รายเดือน (Air time) เช่น การงดเว้นหรือปรับลด สำหรับผู้ประกอบการหันมาใช้ GPS ในการติดตามกำกับพฤติกรรมเสี่ยงของคนขับรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น
จุดจอดรถที่ดีต้องให้ผู้โดยสารเดินทางสะดวก
สำหรับ นโยบายการจัดระเบียบรถตู้สาธารณะของ คสช.ที่จะนำร่อง ย้ายวินรถตู้โดยสารจากอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปที่จุดจอดรถแอร์พอร์ตลิงต์ นั้น
จุดจอดรถที่ดี นพ.ธนะพงศ์ ชี้ว่า จะต้องให้ผู้โดยสารเดินทางสะดวก เชื่อมต่อไปยังเส้นทางอื่นได้ง่าย ไม่ส่งผลกระทบการจราจรติดขัด มิเช่นนั้นจะพันกันเป็นงูกินหาง
"กฎหมาย ได้บังคับให้รถโดยสารสาธารณะระหว่างจังหวัดมีจุดจอดในสถานีขนส่งเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการอนุโลมให้จอดชั่วคราวได้ ซึ่งสถานีขนส่งมีประโยชน์ในแง่การจัดระบบการบริหาร คนขับรถได้รับการตรวจสุขภาพและพักผ่อน ฉะนั้น คาดหวังว่าจุดจอดรถชั่วคราวมักกะสันจะนำระบบนี้มาปรับใช้"
'ดอยรวก' เสี่ยงสุดอุบัติเหตุ จี้สร้างระบบปลอดภัยถนน
ผู้จัดการแผนงาน ศวปถ. ระบุถึงข้อเสนอให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เร่งผลักดันให้มีระบบตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Audit) โดยเริ่มจาก เส้นทางที่มีความเสี่ยงสำหรับรถโดยสาธารณะ และถนนสาย Asian Highway ว่า เส้นทางเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดมี 85 เส้นทาง ซึ่งล้วนมีลักษณะความลาดชันสูงเกิน 7% (ลากเส้นแนวนอน 100 เมตร-สูง 7 เมตร) และลงเขาเกิน 3 กิโลเมตร
เส้นทางเหล่านี้จึงควรอยู่ภายใต้การกำกับตรวจสอบ
“ถนน สายตาก-แม่สอด จุดดอยรวก ควรมีการผลักดันให้เกิดระบบความปลอดภัยทางถนนมากที่สุด เนื่องจากเป็นเส้นทางลงเขายาว 5 กิโลเมตร บางจุดไม่มีแท่งแบริเออร์ ราวกันตก หรือทางออกฉุกเฉินยังไร้มาตรฐาน รวมถึงเส้นทาง Asian Highway เกือบ 6,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อเส้นทางกับประเทศเพื่อนบ้าน มิเช่นนั้นอาจนำมาสู่อุบัติเหตุในอนาคตได้"
ส่วนการผลักข้อเสนอให้นำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ผู้จัดการแผนงาน ศวปถ. บอกว่า บางเรื่อง คสช.ทำได้เลย เพราะไม่ต้องรอเเก้กฎหมายจากรัฐบาลใหม่
ทีดีอาร์ไอเเนะใช้กม.เคร่งครัด เเก้รถโดยสารเถื่อน
ด้านดร.สุเมธ องกิตติคุณ นักวิชาการฝ่ายวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้มุมมองถึงการออกมาจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะของคสช.ว่า เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจังและต่อเนื่อง เปรียบได้กับไฟไหม้ฟาง ทำให้เกิดปัญหาเดิมบ่อยครั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ผู้ประกอบการนอกระบบมักไม่รับผิดชอบ และผู้โดยสารก็ไม่สามารถร้องเรียนเอาผิดได้
เมื่อถามถึงมาตรการปราบรถโดยสารสาธารณะเถื่อน นักวิชาการทีดีอาร์ไอ บอกว่า รู้สึกเห็นใจผู้โดยสารส่วนใหญ่เกิน 60% ไม่ทราบอะไรถูกหรือผิดกฎหมาย รู้แต่เพียงว่าใช้บริการได้ ทั้งที่ความจริงรัฐไม่อนุญาต
"มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องมีป้ายทะเบียนสีเหลืองและเสื้อแสดงสัญลักษณ์ โดยแต่ละวินจะมีการกำหนดจำนวนผู้ขับขี่ ส่วนรถตู้สาธารณะต้องวิ่งในระยะทางที่กฎหมายกำหนดไม่เกิน 300 กิโลเมตร เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องวิ่งไม่เกิน จ.นครราชสีมา หรือภาคเหนือต้องวิ่งไม่เกิน จ.นครสวรรค์" ดร.สุเมธ อธิบาย และว่า ปัจจุบันกลับพบมีการวิ่งรับส่งผู้โดยสารเกินระยะทางไกลขึ้นเรื่อย ๆ กรณีรถตู้ผีจะวิ่งร่วมในเส้นทางถูกกฎหมายก็มักรับส่งผู้โดยสารถึงบ้าน แต่จะไม่มารับที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถามว่าจะมีมาตรการจับกุมอย่างไร
ฉะนั้น ดร.สุเมธ เห็นว่า ต้องแก้ที่ต้นตอของปัญหาโดยให้กรมการขนส่งทางบกจัดการเคร่งครัด และรณรงค์ให้ผู้บริโภคเลิกใช้บริการรถโดยสารเถื่อน
องค์ประกอบของสาเหตุ และ ปัจจัยเสี่ยง สำคัญ