ปิโตรเคมีและภาษีที่ไม่ต้องจ่าย
ท่านทราบหรือไม่ว่า ภาคปิโตรเคมีสามารถใช้ก๊าซหุงต้มเป็นวัตถุดิบในการผลิตของตน โดยไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต และภาษีเทศบาล ในขณะที่ภาคครัวเรือนและภาคอื่นๆ ต้องเสียภาษีสรรพสามิต 2.17 บาท/กก. และภาษีเทศบาล 0.217 บาท/กก.
ภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือทางการคลังที่ใช้ในการลดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นพิษต่อสุขภาพ (เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์) แล้วคุณคิดว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่ได้สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่?
ภาษีเทศบาลเป็นเครื่องการกระจายอำนาจทางการคลัง เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการเฝ้าระวังและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แล้วคุณคิดเทศบาลเมืองมาบตาพุดและองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ในพื้นที่รอบนั้น ควรได้รับภาษีมารับมือกับมลพิษที่เพิ่มขึ้นจากปิโตรเคมีหรือไม่? เขาควรได้รับภาษีมารองรับกับประชากร พาหนะ ขยะ และอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่หรือไม่?
แล้วการใช้ก๊าซหุงต้มของครัวเรือนนั้นสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าภาคปิโตรเคมีหรืออย่างไร? สร้างภาระให้กับเทศบาลและท้องถิ่นมากกว่าภาคปิโตรเคมีหรืออย่างไร? รัฐบาลจึงเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีเทศบาลจากภาคครัวเรือน แต่ไม่เรียกเก็บจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแม้แต่บาทเดียว
ถ้าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีถูกเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีท้องถิ่นในอัตราเดียวกับภาคครัวเรือน ประเทศไทยของเราก็จะมีรายได้จากภาษีสรรพสามิตประมาณ 6,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งสามารถนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อการรักษาและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
ขณะเดียวกัน ท้องถิ่นที่ต้องรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในพื้นที่ก็จะมีงบประมาณในการรับมือกับภาระต่างๆ มากขึ้นปีละ 600 ล้านบาท
แล้วทำไม ปิโตรเคมีถึงไม่ต้องจ่ายภาษีเหล่านี้?
เหตุผลที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีชี้แจงคือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่ได้ใช้ก๊าซหุงต้มในฐานะเชื้อเพลิง แต่ใช้เป็น “วัตถุดิบ” สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อเนื่อง อุตสาหกรรมปิโตรเคมีบอกว่า เขาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาล ทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากมาย ดังนั้นเขาจึงไม่น่าจะต้องเสียภาษีทั้งสองประเภทอีก
แต่สำหรับผม การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ระบบเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ดี แต่นั้นมิใช่เหตุผลที่จะไม่ต้องเสียภาษีทั้งสองประเภท ตราบใดที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมียังคงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังคงสร้างภาระทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับท้องถิ่นที่ตนตั้งอยู่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็ควรเสียภาษีทั้งสองประเภทเฉกเช่นเดียวกับผู้ใช้อื่นๆ ในสังคม (ซึ่งอาจสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าด้วย)