หมอสุวิทย์ เสนอรบ.ใหม่-สภาปฏิรูป นำกลไกสมัชชา ไปปรับใช้
มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเสนอ 3 ข้อปฏิรูประบบสุขภาพ กระจายอำนาจ พัฒนาความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างความเข้มแข็งพลเมือง ย้ำเน้นนำกระบวนการกลไกของกลุ่มสมัชชาไปใช้เพราะผ่านการลงฉันทามติอย่างเป็นเอกฉันท์และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล
18 มิถุนายน 2557 คณะกรรมการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) จัดแถลงข่าวภาพรวมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 “ข้อเสนอต่อการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้บริบทการปฏิรูปประเทศไทย” ณ ห้องแซฟไฟร์ 102 อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี
ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 กล่าวถึงการประชุมสมัชชาสุขภาพในครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมมากกว่า 2,000 คน ทั้งนี้ในการสร้างภาคีเครือข่ายยังสามารถขับเคลื่อนวาระสำคัญด้านสุขภาวะได้ถึง 10 ประเด็นที่สำคัญ
ด้านนพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 4 กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวใหญ่ในสังคมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ที่เรียกร้องต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศไทย ดังนั้นในในโอกาสนี้เราเห็นว่า ประเด็นการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้บริบทการปฏิรูปประเทศไทยน่าจะนำมาพิจารณาเป็นระเบียบวาระพิเศษ
ทั้งนี้ข้อเสนอของกลุ่มสมัชชาสุขภาพเห็นว่า 1.อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้นำกลไกกระบวนการสมัชชาสุขภาพและสมัชชาปฏิรูปไปปรับใช้ในการดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย เนื่องจากสมัชชาสุขภาพเป็นกลไกการดำเนินการวางอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลหลักฐานไม่ได้อยุ่บนพื้นฐานของอารมณ์ การดำเนินมีความหนักแน่นและเป็นไปได้ รวมทั้งการดำเนินกิจการต่างๆมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายอย่างกว้างขวาง ที่สำคัญการตกลงไม่เคยมีการโหวตแพ้ชนะ แต่เป็นการลงฉันทามติที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์
2.ให้กลไกการปฏิรูปประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นได้นำมติจากการประชุมสมัชชาสุขภาพร่วมกับมติสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่ผ่านมาทั้งหมด รวมทั้งข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป นำไปพิจารณาร่วมเนื่องจากมติต่างๆอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ผ่านการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์จากเครือข่ายต่าง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่
และ 3. ขอให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้มีการดำเนินการตามข้อหนึ่งและสองเพื่อที่จะได้ร่วมกันติดตามผลของการนำสิ่งที่เสนอไปดำเนินการปฏิรูป
“ภายใต้แนวทางของการปฏิรูประบบสุขภาพ ในการปฏิรูปประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นเน้น การบริหารแบบมีส่วนร่วมลดอำนาจส่วนกลางและให้ทำเพียงหน้าที่สนับสนุน การพัฒนาความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ และต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งของพลังพลเมืองให้เกิดขึ้น”นพ.สุวิทย์ กล่าว
ขณะที่นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เราคงไม่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาในด้านนโยบายสาธารณะได้แบบพลิกฝ่ามือ กลไกต่างๆ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย และก้าวต่อไปของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะเน้นไปในด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เมื่อทุกคนเริ่มเข้าใจและรู้สึกว่า ข้อตกลงหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ เราเป็นผู้กำหนด เขาก็จะรู้สึกเสมือนเป็นเจ้าของและกิจกรรมต่างๆจะขับเคลื่อนไปได้ง่าย