นอกจากการบินไทย "รัฐวิสาหกิจ" แห่งใดที่ พล.อ.อ.ประจิน ยังไม่ลาออก?
"...จากการตรวจสอบพบว่า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นกรรมการ 3 แห่งคือ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน).."
"ส่วนตัวตั้งใจว่า จะยื่นใบลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้ คสช. ได้พิจารณาคนที่มีความรู้ ความสามารถ เข้ามาแทน แต่มีขั้นตอนพอสมควร โดยการลาออก ผมจะยื่นใบลาออกในวันที่ 19 มิ.ย. นี้ และจะแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบในวันที่ 20 มิ.ย. ส่วนจะมีผลเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับ คสช. เนื่องจากการบินไทย อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านในการปฏิรูปและปรับกลยุทธ์เพื่อแข่งขันในตลาดการบิน ในเรื่องนี้ คสช.ได้มอบหมายให้ผมในฐานะหัวหน้าส่วนงานเศรษฐกิจดูแลอีกครั้ง ส่วนผลจะเป็นอย่างไร จะแจ้งให้ทราบในสัปดาห์ถัดไป"
นี่คำยืนยันล่าสุดจาก "พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง" ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำหน้าที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ถึงกระแสข่าวจะยื่นลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) บอร์ดการบินไทย ที่ออกมาก่อนหน้านี้
เป็นการแสดงสปิริต ครั้งสำคัญ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานเจตนารมณ์ของ คสช. ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศไทยทุกด้าน ส่วนรัฐวิสาหกิจเอง ก็มีผลต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงมีการตั้งประเด็นว่า บุคคลที่มาจากกลุ่มการเมือง มีเวลาให้กับองค์กรไม่มากนัก และไม่มีความเชี่ยวชาญงานที่เข้ามาดำเนินการ ก็ขอให้เสียสละพิจารณาตนเอง และเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งแต่งตั้งวันวันรัฐประหารตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 6 จำนวน 6 คน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นั้นมีอย่างน้อย 3 คน มีชื่อเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจในอดีตและปัจจุบัน
1.พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบ
2.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ต่อมาถูกคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมี พล.ต.อ.ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทน)
3.พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
จากการตรวจสอบพบว่า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นกรรมการ 3 แห่งคือ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นกรรมการ 3 แห่งคือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ในเครือ ปตท. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2555 เป็นกรรมการ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท น้ำตาล เอราวัณ จำกัด
ธนาคารไทยพาณิชย์ มี สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 21.30 % กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 11.58% กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 11.58%
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร มิได้ทำธุรกิจส่วนตัวเหมือนนายทหารใหญ่บางคน แต่เป็นบอร์ดอย่างน้อย 1 แห่งคือ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ 7,869,694,600 หุ้น (38.51%) บริษัทธนาคาร ออมสิน 1,950,000,000 หุ้น (9.54%) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (SI) 1,183,796,970 หุ้น (5.79%) มูลค่า หุ้นละ 1 บาทจากทุนจดทะเบียน 20,475 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 6 มี.ค.57)
น่าสังเกตว่า ทั้งสามคนนั่งบอร์ดเครือ ปตท.เหมือนกัน และ เป็นบอร์ด การบินไทย จำนวน 2 คน
ทั้งนี้ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด จดทะเบียนวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท ประกอบธุรกิจ ซ่อมอากาศยานและอุปกรณ์เกี่ยวกับอากาศยาน จำหน่ายอุปกรณ์อากาศยาน ที่ตั้งเลขที่ 171 อาคารหมายเลข 4465 ถนนพหลโยธิน แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ถือ 509,998 หุ้น (50.99%) กองทุนสวัสดิการกองทัพอากาศ โดย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ถือ 489,996 หุ้น (48.99%) มีกรรมการที่เป็นนายทหารอากาศระดับสูง 5 คนและฝ่าย (สสว.) 5 คน
สำนักข่าวอิศรา ยังตรวจสอบพบว่า ในระหว่างปี 2546 - 2556 บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ได้รับว่าจ้างจากหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น 411 ครั้ง วงเงิน 15,401,333,721 บาท ในจำนวนนี้จากกองทัพอากาศ (กรมอิเล็คทรอนิกส์ทหารอากาศ และกรมช่างทหารอากาศ) 388 ครั้ง วงเงินรวม 13,959,565,936 บาท กองทัพบก โดย กรมการขนส่งทหารบก 1 ครั้ง 998,890,000 บาท รวม 389 ครั้ง วงเงิน 14,958,455,936 บาท
บริษัทฯแจ้งผลประกอบการปี 2555 รายได้ 4,126,903,469 บาท กำไรสุทธิ 208,801,233 บาท สินทรัพย์ 3,525,983,735 บาท หนี้สิน 2,362,968,908 บาท กำไรสะสม 1,137,264,827 บาท (อ่านประกอบ:ผ่าขุมทรัพย์ บ.อุตสาหกรรมการบิน ผูกงาน“ทัพอากาศ”1.4 หมื่นล้าน)
คำถามที่น่าสนใจ คือ นอกเหนือจากการลาออกในตำแหน่งกรรมการในบริษัทการบินไทย แล้ว ในส่วนของบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พล.อ.อ.ประจิน จะแสดงสปิริต เช่นเดียวกันหรือไม่ (หรือติดขัดเงื่อนไขอะไรทำให้ลาออกไม่ได้)
และท่าทีของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว , พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร จะตัดสินใจเหมือนกันหรือไม่
"เมื่อท่านพูดคนจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำคนจะเชื่อและศรัทธา"