จัดยิ่งใหญ่! มอบ 4 พื้นที่ 'สมัชชาอวอร์ด' เเบบอย่างปฏิรูปนโยบายสาธารณะ
มอบ 4 พื้นที่ '1 จังหวัด-1 พื้นที่่-1 กรณีศึกษา' รางวัลสมัชชาสุขภาพเเห่งชาติ ครั้งที่ 6 ยิ่งใหญ่ ต้นเเบบใช้เครื่องมือ โชว์โครงการโดดเด่น ชุมชนมีส่วนร่วม
วันที่ 17 มิถุนายน 2557 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) จัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีนางศิรินา ปวโรฬารวิทยา เป็นประธาน พร้อมแขกผู้มีเกียรติคับคั่ง
โดยภายในงานมีการมอบรางวัล ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ (สมัชชาอวอร์ด) เพื่อต้องการยกย่อง เชิดชูเกียรติ สร้างกำลังใจกับคนทำงานในพื้นที่ให้เป็นตัวอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคีเครือข่ายที่สนใจนำเครื่องมือตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 จำนวน 3 เครื่องมือ ได้แก่ สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment:HIA) ไปใช้ขับเคลื่อนปฏิรูปนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพส่วนรวม ซึ่งผลการตัดสินรางวัล มีดังนี้
รางวัล 1 จังหวัด มอบให้จังหวัดที่นำสมัชชาสุขภาพไปดำเนินการ ได้แก่ สมัชชาสุขภาพ จ.ปัตตานี
รางวัล 1 พื้นที่ มอบให้จังหวัดที่จัดทำธรรมนูญสุขภาพในชุมชน ได้แก่ ธรรมนูญสุขภาพ อ.สูงเม่น จ.แพร่ และธรรมนูญสุขภาพ ต.เปือย อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ
รางวัล 1 กรณี มอบให้จังหวัดที่มีการนำเครื่องมือ HIA ไปดำเนินการ ได้แก่ กรณีการสร้างท่าเรือน้ำลึกและการพัฒนาอุตสาหกรรม อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
นพ.แสงชัย พงศ์พิชญ์พิทักษ์ ผอ.รพ.สูงเม่น จ.แพร่ กล่าวว่า อ.สูงเม่นเป็นพื้นที่แรกที่มีการจัดตั้งธรรมนูญสุขภาพในชุมชนขึ้น โดยยอมรับระยะแรกของการขับเคลื่อนนั้นค่อนข้างยากและลำบากใจ แต่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งเกิดจากแพทย์ในรพ.มีแนวคิดสุขภาพควรเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนักถึง มิใช่จำกัดเฉพาะแพทย์หรือพยาบาลเท่านั้น ประกอบการมีการออกพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 จึงได้ศึกษาและร่วมมือกับทีมสาธารณสุขและชุมชนทำงานร่วมกัน
“สมมติคนไข้ต้องรับการผ่าตัดจากการประสบอุบัติเหตุ เราได้ไล่ดูจนพบว่าเกิดจากการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว ทำให้ต้องดื่มสุราจนมึนเมา และขับรถจักรยานยนต์โดยไม่ใส่หมวกป้องกันนิรภัย ซึ่งการรักษาพยาบาลเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ” ผอ.รพ.สูงเม่น กล่าว และว่า หากเราจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุต้องเกิดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด สร้างความเข้มแข็งในครอบครัว ก็จะไม่มีผู้ป่วยเพิ่มขี้น
ด้านนายสมบัติ ไกยสิทธิ์ ผอ.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านเปือย กล่าวยกตัวอย่างความสำเร็จของโครงการว่า เกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะร่วมกัน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากภาครัฐ แต่ชุมชนดำเนินการเอง เช่น โครงการงานบุญปลอดเหล้า, งานศพปลอดเหล้า-การพนัน, หน้าบ้านสวย หลังบ้านสวน, รั้วกินได้, ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารปลอดสารพิษ เพื่อสุขภาวะภายในชุมชนได้ จากแนวคิดทั้งหมดส่งผลให้จากเดิมคนในชุมชนต่างคนต่างอยู่กลับมามีเป้าหมายทำงานร่วมกันจากธรรมนูญสุขภาพ
นายสุพร โต๊ะเสน กรณีศึกษา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ประกาศยุติการสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ หนึ่งในโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยแล้ว แต่ยังไม่ถอนใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เชฟรอนยกเลิกโครงการเกิดจากความเข้มแข็งในชุมชนที่มีการต่อสู้เกี่ยวกับข้อมูลวิชาการโดยใช้กระบวนการของสมัชชาสุขภาพเก็บข้อมูลจากชาวประมงในพื้นที่ จนพบว่าอ่าวท่าศาลามิได้เป็นอ่าวร้างและมีเรือประมงชายฝั่งเพียง 19 ลำ ตามที่บริษัทกล่าวอ้าง แต่มีสัตว์น้ำถึง 260 สายพันธุ์อาศัยอยู่ รวมถึงมีเรือประมงชายฝั่ง 2,000 ลำ
ขณะที่นายนิรพงศ์ สุขเมือง สมัชชาสุขภาพ จ.ปัตตานี กล่าวว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพให้แนวคิดคนในพื้นที่ต้องจัดการปัญหาเองอย่างมีส่วนร่วม เพื่อผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะและได้รับการแก้ไขจากองค์กรพื้นที่ มีกิจกรรมโดดเด่น คือ โครงการลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เนื่องจากในอดีตพื้นที่ประสบปัญหาทารกและแม่เสียชีวิตขณะทำคลอด จึงสืบค้นผ่านกระบวนการต่าง ๆ ช่วยกันแก้ปัญหาระดับท้องที่ผ่านระบบกองทุนสุขภาพตำบล เทศบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเวทีประชาคมของผู้นำศาสนามาถือปฏิบัติ
“ความสำเร็จเกิดจากทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนานโยบายสาธารณะ ดังเช่นกรณีอ่าวท่าศาลามีการพัฒนางานวิชาการจนสามารถต่อสู้กับบริษัทดังกล่าวได้ ฉะนั้นชุมชนต้องพึ่งพานักวิชาการจัดทำข้อมูลเชิงวิชาการเช่นนี้ไว้เพื่อยืนยันว่าเกิดผลกระทบต่อชุมชนจริง” นายนิรพงศ์ กล่าว .