เปิดรายละเอียด 8 โครงการ “คตร.” ไล่เช็คบิลล็อตแรก
เปิดรายละเอียด 8 โครงการ “คตร.” ไล่เช็คบิลล็อตแรก "รฟท." โดน 2 โครงการ จัดหารถเชิงพาณิชย์รุ่นใหม่-จัดหาหัวรถจักร 3 จี ทีโอที ไม่รอด ยกเลิก "แท็บเล็ต"
ตั้งแต่ปฏิบัติการยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้เวลาเกือบ 1 เดือน ในการบริหารจัดการสถานการณ์ความรุนแรง-ความขัดแย้ง ให้เข้ารูปเข้ารอย
นับจากนี้ไปคงถึงเวลาปฏิบัติการ “เช็คบิล” โครงการในยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ซึ่งมีหลายโครงการที่ส่อไปในทางทุจริต
“บิ๊กตู่” แต่งตั้ง “พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์” ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) โดยสามารถใช้อำนาจตรวจสอบได้ทุกโครงการ
เมื่อตรวจสอบแล้ว “คตร.” จะส่งไม้ต่อให้องค์กรอิสระ อาทิ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไล่เช็คบิลอีกทอดหนึ่ง
ล่าสุด “คตร.” จะเข้าตรวจสอบ 8 โครงการที่ส่อไปในทางทุจริตล็อตแรก ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน โดยการไล่ตรวจทั้งพยานบุคคล-เอกสาร อย่างถี่ถ้วน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รวบรวมรายละเอียดของ 8 โครงการ ที่ “คตร.” เข้าไปตรวจสอบ เพื่อให้เห็นทิศทางแนวโน้มดังนี้
1.โครงการจัดหารถรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
ถือเป็นหนึ่งในแผนงานตามโครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ตามร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กู้เงินประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 45,862 ล้านบาท โดยขณะนี้รฟท.ได้เปิดประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีอ๊อกชั่น) และได้ผู้ชนะแล้ว แต่ยังไม่สามารถลงนามอย่างเป็นทางการ เพราะต้องรอการตรวจสอบรายละเอียดเอกสาร และระเบียบต่าง ๆ อีกครั้งก่อนลงนาม
2.โครงการจัดหารถจักร จำนวน 126 คันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
รฟท.อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยขณะนี้เพิ่งเซ็นสัญญาการจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าน้ำหนักกดเพลา 20 ตันต่อเพลา จำนวน 20 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงิน 2,130 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 โดยลงนามกับบริษัท ป่าไม้สันติ จำกัด และเริ่มทยอยรับหัวรถจักรรอบแรก 1 – 2 หัว ในเดือนกรกฎาคม 2557 จนถึงสิ้นปี เพื่อนำไปใช้บริการรับขนสินค้า ส่วนโครงการที่เหลือจะมีการประกวดราคาจัดซื้อหัวรถจักรใหม่อีก 50 คัน โดยขณะนี้กำลังตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประกวดอยู่
3.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 (ปี 2554 – 2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)
เป็นโครงการเพื่อพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มงานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 2.กลุ่มงานอาคารผู้โดยสาร และ 3.งานออกแบบและก่อสร้างสาธารณูปโภค โดยขณะนี้ ทอท.ได้ลงนามในสัญญาจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา EPM Consortium เป็นผู้บริหารจัดการโครงการนี้ โดยมีระยะสัญญาการดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 – 2561 ด้วยงบประมาณ 809.9 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 6 ปี
4.โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบ และคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้าของ ทอท.
เป็นโครงการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายที่เป็นจุดอ่อนของประเทศ รวมถึงแก้ไขสภาพความคับคั่งของการตรวจสอบผู้โดยสารของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าวถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งหนังสือถึง ทอท. ระบุว่า มีข้อพิรุธในโครงการนี้ โดยเฉพาะประเด็นไม่มีการกำหนดเงื่อนไขหลักประกันซองประกวดราคา หรือการกำหนดราคากลาง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หาก ทอท.ดำเนินการประมูลไปแล้วเกิดความผิดพลาดจะต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหาย
5.กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
เป็นกองทุนที่อุดหนุนงบประมาณการวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยขณะนี้เห็นชอบอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จำนวน 6,524 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการภายใต้ 3 แผนงาน ได้แก่ แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แผนพลังงานทดแทน และแผนบริหารทางกลยุทธ์
6.โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
เป็นการจัดซื้อแท็บเล็ตให้กับนักเรียน อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าวพบพิรุธหลายประการ เช่น กรณีบริษัท เซิ่นเจิ้น อิงถัง อิเทลลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัด ที่ชนะการประมูลจัดซื้อแท็บเล็ตชั้นป.1 และม.1 โซนภาคกลางและภาคใต้ ได้ทำหนังสือแจ้งขอยกเลิกสัญญา จนกระทั่งมอบของล่าช้า และถูกเรียกค่าปรับ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องสเป็กของแท็บเล็ต และกระบวนการตรวจรับแท็บเล็ตอีกด้วย
7.โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
เป็นโครงการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อใช้ในเครือข่าย 3G โดยโครงการดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการส่อทุจริตในการประมูล ราคาตั้งต้นการประมูลไม่เหมาะสม รวมไปถึงการแข่งขันที่ไม่เกิดขึ้นจริง เป็นต้น
8.โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช.
เป็นโครงการแจกคูปองแลกซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิตอลให้กับประชาชน 25 ล้านครัวเรือน อย่างไรก็ดีโครงการนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า กสทช.ไม่มีสำนักงานกระจายอยู่ทุกหย่อมหญ้า การแจกคูปองจำนวนมากดังกล่าวด้วยวิธีทางไปรษณีย์อาจทำให้เกิดช่องให้มีการทุจริตได้ และยังไม่มีวิธีการตรวจสอบว่าใครรับไปแล้วหรือไม่ เอกสารหลักฐานต่าง ๆ จะตรวจสอบกันอย่างไร เป็นต้น
ทั้งหมดคือรายละเอียดของ 8 โครงการที่ “คตร.” เตรียมลงดาบตามนโยบายของ “บิ๊กตู่” ที่เตรียมรื้อทุกโครงการที่ส่อไปในทางทุจริต