ย้อนประชานิยม "แม้ว-มาร์ค-ปู" วัดใจ"บิ๊กตู่"ระวังย่ำรอยเดิม"นักการเมือง"
"หลัง จากนี้จึงต้องพิสูจน์ “หัวใจ” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ว่าจะแข็งใจพอไม่เรียกความนิยมจาก “นโยบายประชานิยม” ดั่งคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่ งานนี้ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์ “บิ๊กตู่” อย่างยิ่ง"
ทันทีที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจคืนความสุขให้คนไทยด้วยการประสานไปยัง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” (กสทช.) หารือกับ “บริษัท อาร์เอส” เพื่อถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกทางฟรีทีวีครบทุกแมตซ์
โดย “กสทช.” ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ให้ “อาร์เอส” เป็นเงิน 427 ล้านบาท คำถามที่พุ่งตรงไปยัง “บิ๊กตู่” คือสิ่งที่ “คสช.” ทำถือเป็น “นโยบายประชานิยม” หรือไม่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รวบรวม “นโยบายประชานิยม” ที่มีอิทธิพลสูงต่อสังคมไทย ซึ่งฝ่ายการเมืองนำมาปฏิบัติเพื่อหวังคะแนนนิยม ทั้งยุครัฐบาล “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” “อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ” และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ย้อนอดีตมาฉายภาพให้เห็นกัน
“พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร”ปี 2544-2548
-โครงการรับจำนำข้าว : ประชาชนได้รับประโยชน์จากการนำข้าวมาเข้าโครงการ แต่ราคารับจำนำข้าวที่สูงกว่าราคาซื้อขายข้าวในตลาดโลก ทำให้ไทยไม่สามารถระบายข้าวไปยังตลาดโลกได้ตามปริมาณที่รับจำนำมา
ปัญหาหลักคือเมื่อไม่สามารถระบายข้าวได้ จึงต้องเสียเงินค่าเช่าโกดัง-โรงสี เพื่อกักเก็บข้าวเอาไว้ เพื่อรอให้รัฐบาลนำไปขาย ซึ่งนานวันเข้าข้าวที่กักเก็บไว้เสื่อมสภาพลงจนไม่สามารถนำไปขายได้
หน่ำซ้ำยังเกิดปัญหาการนำข้าวราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านมาเวียนเทียนเข้ามาสวมสิทธิจำนำข้าว แถมยังมีการนำข้าวไปนิ่งเพื่อนำไปขายต่างประเทศ เป็นต้น
กระบวนการทั้งหมดของโครงการรับจำนำข้าวยุครัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ จึงประสบแต่ปัญหา “ชาวนา” ได้รับผลประโยชน์เพียงน้อยนิด
-โครงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเสียค่าใช้จ่าย 30 บาทต่อครั้ง : ถือเป็นนโยบายที่ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ได้ใจชาวรากหญ้าไปเยอะ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางแพทย์
แต่ปัญหาคืองบประมาณในการดำเนินโครงการจำนวนมาก ซึ่งคาดการณ์กันว่าภาครัฐต้องสูญเสียเงินจำนวนดังกล่าวกว่า 100,000 ล้านบาท
-พักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี : เริ่มโครงการตั้งแต่ 1 เมษายน 2544-31 มีนาคม 2547โดยสามารถพักชำระหนี้และลดภาระหนี้กับ “ธ.ก.ส.” ทั้งหมด 2ล้านราย เป็นเงิน 9.4 หมื่นล้านบาท
“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” 2551-2554
-โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ 2,000 บาท (เช็คช่วยชาติ) : เป็นนโยบายแรกที่ “อภิสิทธิ์” เร่งเดินหน้า โดยแจกจ่ายให้ผู้มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ใช้งบประมาณรวม 18,000 ล้านบาท ทางหนึ่งคาดหวังว่าเงินที่แจกจ่ายจะนำไปหมุนในวงรอบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้
ทางหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า “อภิสิทธิ์” ต้องการซื้อใจประชาชนให้หันกลับมาศรัทธานโยบายของพรรคประชาธิปัตย์
ทว่าเม็ดเงินที่ “อภิสิทธิ์” ต้องการให้กระตุ้นให้เศรษฐกิจเดินหน้ากลับไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง แถมยังไม่สามารถซื้อใจประชาชนให้หลงรัก “อภิสิทธิ์” ให้เพิ่มขึ้นได้
-โครงการชุมชนพอเพียง :จัดสรรงบประมาณโดยตรงไปยังชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกชุมชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงบประมาณของภาครัฐอย่างรวดเร็ว แบ่งชุมนุมออกเป็น 7 ระดับ มีเงินสนับสนุนที่ต่างกันออกไป ใช้งบประมาณดำเนินการ 2 หมื่นล้านบาท
ทว่ามีนักการเมืองระดับ-ระดับท้องถิ่น เข้าไปชี้นำ-บังคับ ซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น และซื้อในราคาที่แพงมาก นอกจากนี้ยังมีการล็อคบริษัทที่จะซื้อสินค้าเอาไว้ด้วย เพื่อหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง
-โครงการไทยเข้มแข็ง : มีการอนุมัติงบประมาณจากพ.ร.บ.กู้เงิน 8 แสนล้านบาท เพื่อกระจายให้กระทรวงต่างๆเข้าไปดำเนินการ อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
โฟกัสหลักไปที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับงบประมาณมากกว่า 86,000 ล้านบาท แต่มีการทุจริตในการจัดซื้อยา เครื่องมือทางการแพทย์ เป็นต้น จนเป็นสาเหตุให้นายวิทยา แก้วภราดัย ต้องลาออกจากตำแหน่งรมว.สาธารณสุขและเป็นสาเหตุให้ที่ต้องมีการทบทวนโครงการและสั่งระงับโครงการไทยเข้มแข็งไปในที่สุด
ในส่วนของกระทรวงคมนาคม มีการดำเนินโครงการถนนไร้ฝุ่น และปรับโครงสร้างการคมนาคม แต่ยังไม่เห็นผลที่ปรากฎชัดเจน
“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” 2554-2557
-โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด : โดยรัฐบาลกำหนดราคาที่ตันละ 15,000 บาท ทำให้เกษตรกรนำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าไม่สามารถระบายเข้าออกไปขายในตลาดโลกได้ เพราะราคาจำนำสูงกว่าราคาในตลาดโลก หากขายก็จะขาดทุน
แถมยังประสบปัญหาเหมือนกับรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีการสวมสิทธิ์นำเข้ามาจำนำ การระบุจำนวนข้าวที่เกษตรกรนำมาจำนำเกิดจำนวนข้าวที่มาใช้จำนำจริง การลักลอบนำข้าวไปขาย เป็นต้น
ปัญหาที่รุมเร้าทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินจากธ.ก.ส.กว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้ธ.ก.ส.ขาดสภาพคล่อง จนไม่มีเงินจ่ายให้เกษตรกรอีก และรัฐบาลค้างเงินจำนำข้าวต่อเกษตรกรเป็นเวลานาน
-โครงการรถยนต์คันแรก : รัฐบาลใช้วิธีการคืนภาษี 100,000 บาท สำหรับประชาชนที่ออกรถยนต์คันแรกเท่านั้น ใช้งบประมาณไปกว่า 9 หมื่นล้านบาท
โครงการดังกล่าวทำให้ปริมาณรถยนต์บนท้องถนนเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสามารถจูงใจให้ประชาชนซื้อรถยนต์ ทั้งที่บางคนยังไม่มีขีดความสามารถในการซื้อ
ที่สำคัญเป็นการทำลายระบบการซื้อรถยนต์อย่างสิ้นเชิง รถยนต์มือหนึ่งถูกจองในปริมาณมาก แต่สุดท้ายประชาชนยอมเสียเงินมัดจำจอง ทำให้ปริมาณรถยนต์ค้างอยู่ในสต๊อคจำนวนมาก
หน่ำซ้ำยังทำลายระบบการซื้อขายรถยนต์มือสอง เพราะหากรัฐบาลคืนภาษี 100,000 ราคารถยนต์มือหนึ่งจึงแทบจะใกล้เคียงกับราคารถยนต์มือสองแล้ว
ทั้งหมดคือ “นโยบายประชานิยม” ที่ส่งผลกระทบต่อ “สังคมไทย” เพียงเพื่อต้องการฐานเสียงให้กับ “นักการเมือง-พรรคการเมือง” แข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมือง
ปัจจุบันการบริหารประเทศไทยภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศชัดเจนว่า “การดำเนินการเรื่องจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกับไปดู ซึ่งแผนการดำเนินการอย่างพอดีและพอเพียง ไม่ทำประชานิยม เพราะที่ผ่านมาก็มีการพูดกันว่า ประชานิยมคืนความสุขจนสำลัก”
ทว่าการ “คืนความสุขให้คนในชาติทุกโอกาส” ที่ “คสช.” ถือเป็นนโยบายหลักในช่วงนี้ ได้คืนความสุขด้วยการสั่งให้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านทางฟรีทีวี จนฝั่งตรงข้ามนำไปแซว-โจมตี-กล่าวหา ว่า “คสช.” ทำ “นโยบายประชานิยม” แล้ว
หลังจากนี้จึงต้องพิสูจน์ “หัวใจ” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ว่าจะแข็งใจพอไม่เรียกความนิยมจาก “นโยบายประชานิยม” ดั่งคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่
งานนี้ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์ “บิ๊กตู่” อย่างยิ่ง
เพราะถ้าทำไม่ดี อาจจะกลายเป็นการเดินย่ำรอยเดิม ของ "นักการเมือง" ที่มุ่งหวังซื้อใจประชาชน สร้างฐานเสียงทางการเมือง
จนทำให้ประเทศชาติ เกือบพังพินาศ จากโครงการ "ประชานิยม" ดังเช่นที่ผ่านมาแล้วในอดีต