ถ่านหินพลังงานทางเลือกหรือทางหลง? ของคนไทย
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้พลังงาน มีความจำเป็นและมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นปัจจุบันภาครัฐจึงพยายามหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ เพื่อนำมาตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในประเทศ
และจากความพยายามของภาครัฐที่จะจัดหาแหล่งพลังงาน สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ในบางพื้นที่ยังมีเสียงคัดค้านจากชาวบ้าน
เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มเสรีนนทรีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดงานเสวนา “ถ่านหิน ทางเลือก หรือทางหลง”ขึ้น ณ ห้องประชุมชั้น 2 ห้อง 213 อาคารเทพศาสตร์สถิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ซึ่งเป็นหัวข้อในด้านพลังงานทางเลือกที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทย พร้อมๆ กับเสียงต่อต้านจากชาวบ้านในจังหวัดกระบี่
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มต้นฉายภาพสถานการณ์พลังงานก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2555 ว่า ปริมาณสำรองก๊าซที่พิสูจน์แล้ว มีจำนวน 9,038.92 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ที่น่าจะพบ 9,573.19 พันล้านลูกบาศก์ฟุต และที่อาจจะพบ 4,671.33 พันล้านลูกบาศก์ฟุต
ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติของไทย ณ เดือนเมษายน 2557 เท่ากับ 1,275.31 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี ทั้งนี้ตามแผนพัฒนาของกระทรวงพลังงานบอกว่า ก๊าซธรรมชาติจะหมดภายใน 7 ปี แต่ขณะเดียวกันปริมาณก๊าซจากแหล่งต่างๆ ยังไม่ลดลงเลย
“หากก๊าซจะหมดอ่าวภายใน 7 ปีจริง ตามที่กระทรวงพลังงานอ้างก็น่าจะเพลาๆ มือในการขุดเจาะลงมาบ้าง" นักวิชาการด้านพลังงาน แสดงความเห็น และว่า แต่ในความเป็นจริงยิ่งเห็นขุดเอามาใช้กันมากหรือว่า กลัวก๊าซจะไม่หมดภายใน 7 ปี
ดร.เดชรัต ระบุว่า หากมองตัวเลข 7 ปีสัมพันธ์กับอะไร ตัวเลข 7 ปีสัมพันธ์กับผู้สัมปทาน ดังนั้นอาจต้องข้อสังเกตุได้ว่า เขาเอาตัวเลขนี้มาสร้างให้ประชาชนตกใจกังวลใจว่า ก๊าซหมดแน่นอน ทั้งๆที่ความจริงอาจจะไม่ใช่
ส่วนการที่ประเทศไทยต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนั้น เขาเห็นว่า อาจเกิดขึ้นจากการประมาณการในเรื่องความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนในประเทศมากเกินกว่าต้องการที่แท้จริง ทั้งนี้อนาคตของการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเร็วหรือช้านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่กรณีที่เราคาดการณ์ความต้องการสูงกว่าความเป็นจริงจะมีผลทำให้เราสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความต้องการ
ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องมุ่งเน้นจริงๆ ต้องเป็นเรื่องการลดใช้พลังงาน หรือการหาพลังงานทางเลือกใหม่ๆ มาแทน เพราะนี่คือสิ่งที่เราต้องทำ
ทั้งนี้ ดร.เดชรัต ได้ยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยอธิบายถึงความแตกต่างว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินต้องลงทุน 40,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1,100 อัตรา มีการนำเข้าถ่านหิน 2.3 ล้านตันต่อปี คิดเป็นเงิน 13,000พันล้านบาท ผลิตไฟฟ้าได้ 6,000 พันล้านหน่วยต่อปี และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทิ้งไว้ในชั้นบรรยาการศ 5.72 ล้านตันในแต่ละปี ยิ่งไปกว่านั้น คือจะค้างอยู่ในชั้นบรรยาการศนานถึง 150 ปี ถ้าเราไม่อยากฝากคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในชั้นบรรยากาศเราก็ต้องหาพื้นที่ปลูกป่ามากถึง 1.35ล้านไร่ เพื่อที่จะดูดซับคาร์บอนไดที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน
"หากเปรียบเทียบกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้พื้นที่เพียง 17,500 ไร่ กับการหาพื้นที่ปลูกป่าจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะพบว่า เราใช้พื้นที่น้อยมาก แม้ต้นทุนในการสร้างจะสูงกว่า แต่หากเปรียบเทียบการนำเข้าถ่านหินแล้วเราจะประหยัดเงินได้ถึง 18 ปี"
"ดังนั้นจึงถือว่าการลงทุนในรูปแบบพลังงานแสงอาทิตย์มีความคุ้มทุนกว่า ลงทุนเยอะ ได้งานเยอะ และไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่สำคัญคือเราไม่ต้องทิ้งหนี้สมบัติไว้ในชั้นบรรยากาศไว้ให้ลูกหลานนานถึง 150 ปี"
ด้านนางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกเล่าถึงผลกระทบของถ่านหินว่า เวลาพูดถึงเรื่องผลกระทบเรามักได้รับการสื่อสารในส่วนของปลายทางมาโดยตลอด ภาพของการมองผลกระทบเรามักจะมองไม่ข้ามพื้นที่ของประเทศตัวเอง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงผลกระทบของถ่านหินนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทาง ทั้งนี้การจะนำถ่านหินขึ้นมานั้นจะต้องมีการตัดถางป่า
ยกตัวอย่าง ประเทศอินโดนีเซีย ติดอันดับใน 1 ใน 3 ของโลกในการสร้างถ่านหินเกาะทั้งเกาะ โล้นหมด เขาลงทุนเพื่อที่จะได้นำถ่านหินขึ้นมา นอกจากการถางป่าแล้ว ปัญหาเรื่องการกัดเซาะดินและสุขภาพก็เป็นปัญหาสำคัญตามมาเช่นกัน
เธอบอกอีกว่า ในระดับโลกนอกเหนือจาก 3 ปัญหาดังกล่าวแล้ว สิ่งที่เขาให้ความสำคัญในเรื่องผลกระทบของถ่านหินที่เมืองไทยยังไม่เคยมีการพูดถึงคือเรื่องถ่านหินกับการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากเวลาเกิดการเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศคือฝนกรดและทำให้ชาวบ้านไม่สามารถนำน้ำมาใช้ได้
นอกจากนี้การขจัดขี้เถ้าของถ่านหินในเมืองไทยก็ไม่มีมาตรการที่ชัดเจนว่าจะต้องเอาไปกำจัดอย่างไรแบบไหน ถึงแม้จะมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมซีเมน แต่ก็ไม่ได้นำไปใช้ทั้งหมด
“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประเทศไทย คือ ตัวอย่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ คือพื้นที่ของแม่น้ำบริเวณนั้นตื้นเขินและน้ำมีกลิ่น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า อย่างไรก็ตามแม้เราจะมีการจัดการปัญหามลพิษ แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งคนที่ต้องทนรับมลพิษก็คือชาวบ้านในพื้นที่"
ดังนั้น การมองสภาพปัญหาและผลกระทบ เธอยืนยันว่า จำเป็นต้องมองภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่ต้นตอการแก้ปัญหาเรื่องขี้เถ้าจากการเผาไหม้ที่ไม่มีวันหมดหรือจะเรียกว่า ไม่มีวันเป็น zero death และถึงที่สุดแล้วจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น คนไทยมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน”
ขณะที่นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา เล่าถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ และต้องขนถ่ายถ่านหินผ่านเส้นทางเกาะลันตาว่า เราได้ทำการสำรวจความเห็นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งทุกคนบอกว่า หากมีการขนถ่ายถ่านหินผ่านเส้นทางเกาะลันตาคงจะไม่กลับมาเที่ยวที่นี่อีก เนื่องจากกลัวความไม่ปลอดภัยและไม่อยากเสี่ยงกับปัญหาสุขภาพ
"หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ทรัพยากรที่สมบูรณ์และความสวยงามของเกาะลันตาก็จะจืดจางลงไป และทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวซบเซา เนื่องจากส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเยี่ยมชมเกาะลันตาเป็นนักท่องเที่ยวระดับ 5 ดาว คือค่อนข้างเข้มงวดกับเรื่องทรัพยากรความสวยงามของธรรมชาติและความสะอาดปลอดภัย"
แม้ภาครัฐจะพยายามหาแหล่งพลังงานทางเลือกมาตอบสนองความต้องการของคนในประเทศ แต่การให้ความสำคัญด้านการศึกษาผลกระทบและการรับฟังเสียงประชาชนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
โรงไฟฟ้าถ่านหินจะเป็นพลังงานทางเลือกหรือทางหลง คงต้องให้โอกาสประชาชนได้ตัดสินใจ...