คำเรียก มลายู มลายูมุสลิม ไทย ไทยมุสลิม ไทยมลายู และ 'แขก' ในสังคมไทย (1)
ทุกวันนี้วงการสื่อมวลชน ราชการ และวงวิชาการบ้านเรา ใช้คำเรียกที่หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศไทยแตกต่างหลากหลายกันไปตามแต่เหตุผลที่ใช้กำกับ จนชาวบ้านอย่างเราๆ รู้สึกสับสนกระไรอยู่เหมือนกัน คำเรียกชื่อที่จั่วหัวข้างต้นอาจจะเป็นคำเรียกชื่อกลุ่มคนกลุ่มเดียวที่หลากหลายมากที่สุดในโลกก็ว่าได้
กลุ่มคนเหล่านี้ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่ใน 4-5 จังหวัดชายแดนภาคใต้รู้จักตัวเองและเรียกตัวเองว่า ‘มลายู’ (คนมลายู) แต่ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนไทยในฐานะที่เป็นพลเมืองไทย (คล้ายคนเชื้อสายจีนในประเทศไทยที่ภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นจีนของตัวเอง แต่ก็ถือว่าตัวเองเป็นคนไทย) ความจริงข้อนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ในการมองปัญหาเกี่ยวกับชนกลุ่มนี้ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม รวมทั้งการกำหนดเรียกชื่อกลุ่มคนชาติพันธุ์นี้อย่างไรในสังคมไทยด้วย
เกริ่นนำ
ในอดีตชื่อเรียก ‘มลายู’ หรือ ‘คนมลายู’ เป็นคำเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งมีจำนวนมากในสังคมอยุธยา โดยทางราชสำนักหรือทางราชการยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์มลายู ศาสนา (ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่) หรือแม้แต่ภาษามลายู (ใช้เป็นภาษากลางในสมัยอยุธยาภาษาหนึ่ง) ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมาจนถึงหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 เอกสารราชการก็เรียกชื่อ ‘มลายู’ มาโดยตลอด ในสมัยรัชกาลที่ 6 สถานภาพความเป็น ‘คนมลายู’ ดูจะดีกว่าคนจีนเสียอีก
ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อันเป็นรัฐบาลสมัยหลังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สถานภาพของคนจีนและคนมลายูตกต่ำหรือต่ำต้อยถึงขีดสุดเมื่อรัฐบาลตัดสินใจเปลี่ยนชื่อประเทศจากประเทศสยามเป็นประเทศไทยเมื่อ 24 มิ.ย.2482 โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้าง ‘มหาอาณาจักรไทย’ [1] เน้นประเทศเป็นสังคมเชื้อชาติเดียว (“รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมให้ใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของประชาชน”)[2]
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยพอสมควรตั้งแต่การประชุม ครม. (คณะรัฐมนตรี) เพื่อขออนุมัติเปลี่ยนชื่อประเทศฯ อีก 2 เดือนต่อมา รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) จึงได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 3 เรื่อง การเรียกชื่อชาวไทยเมื่อ 2 สิงหาคมปีเดียวกันว่า "ด้วยรัฐบาลเห็นว่า การเรียกชาวไทยบางส่วนไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียกก็ดี การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายพวกหลายเหล่า เช่น ไทยเหนือ ไทยอิสาณ ไทยใต้ ไทยอิสลามก็ดี ก็ไม่สมควรแก่สภาพของประเทศไทยซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้ จึงประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้
1. ให้เลิกการเรียกชาวไทย โดยใช้ชื่อที่ไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียก
2. ให้ใช้คำว่า ‘ไทย’ แก่ชาวไทยทั้งมวลไม่แบ่งแยก”[3]
สำหรับพี่น้องส่วนใหญ่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าจะมีประกาศรัฐนิยมออกมาเช่นนี้ แต่ในทางปฏิบัติก็เพียงยอมรับให้ถือสัญชาติไทยแต่คงเชื้อชาติมลายูไว้ จนกระทั่งต่อมาปัญหาภาคใต้รุนแรงขึ้นมาก นโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐทำให้รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มลายูกลายเป็นคนไทย ‘เต็มร้อย’ หรืออย่างน้อยก็เป็น ‘ไทยอิสลาม’ หรือ ‘ไทยมุสลิม’
ปัญหาก็คือว่า การเป็นไทย ‘เต็มร้อย’ นั้นย่อมหมายความว่า ทุกคนจะต้องพูดภาษาไทยหรือใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักทั้งในชีวิตประจำวันและเมื่อเกี่ยวข้องกับทางราชการ รวมทั้งยอมรับขนบธรรมเนียมประเพณีไทย หรือที่ชนชั้นปกครองเห็นดีเห็นงามด้วย ซึ่งในหลายๆ กรณีขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีและหลักการทางศาสนา (กำหนดรัฐนิยมของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในความพยายามดังกล่าวนี้ ในสมัยต่อมามีรายงานวิจัยหลายชิ้นที่มุ่งศึกษาว่ามีวัฒนธรรมและประเพณีอะไรบ้างที่ไทยและมลายูสามารถร่วมหรือกลมกลืนเข้าด้วยกันได้)
อย่างไรก็ตาม ในแวดวงวิชาการแล้วมักอ้างถึงชนส่วนใหญ่ใน 3-4 จังหวัดภาคใต้ว่า ‘มลายูมุสลิม’ ปัจจุบันเกิดความนิยมเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวนี้ว่า ‘มลายูมุสลิม’ อย่างกว้างขวางเพื่อแสดงการยอมรับตัวตนและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนาของพวกเขา แต่ในทางราชการยังคงเรียกว่า ‘คนไทย’ หรือ ‘ไทยมุสลิม’ อยู่อีก
อย่างไรก็ตาม การที่ทางราชการเรียกกลุ่มชนกลุ่มนี้ว่า ‘คนไทย’ ‘ไทยอิสลาม’ หรือ ‘ไทยมุสลิม’ ก็แทบไม่มีผลให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนไทย ‘ร้อยเปอร์เซ็นต์’ แต่อย่างใด เนื่องจากสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและทั่วทั้งประเทศมักเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ‘แขก' ซึ่งแทนที่จะเป็นผลดี กลับเป็นการผลักพวกเขาออกไปจากความเป็นคนไทย อย่างน้อยก็รักษาระยะห่างเอาไว้
ปัจจุบันมีคนจำนวนหนึ่งแม้จะมีจำนวนน้อยที่เรียกคนเชื้อสายมลายูที่เกิดในประเทศไทย (รัฐ-ชาติไทย) ว่า ‘ไทยมลายู’ ทำนองเดียวกับที่เรียกคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยว่า ‘ไทยจีน’ หรือกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ทางภาคเหนือและตะวันตกว่า ‘ชาวไทยภูเขา’ ข้อเขียนนี้จะพยายามอธิบายความหมายหรือที่มาที่ไปของคำเรียกชื่อตามที่จั่วหัวอย่างแตกต่างหลากหลายข้างต้น
คนมลายู กลุ่มชาติพันธุ์มลายู อารยธรรมมลายู
แม้ว่าคำว่า ‘มลายู’ จะปรากฏครั้งแรกในเอกสารของป์โตเลมี (Ptolemy: ค.ศ.90-ค.ศ.168) นักภูมิศาสตร์พลเมืองอียิปต์เชื้อสายโรมัน (แต่ใช้ภาษากรีกในการเขียน-เรียบเรียงเอกสาร) เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เมืองอเล็กซานเดรีย เมืองท่าของอียิปต์โบราณที่คับคั่งด้วยผู้คนและเรือสินค้านานาชาติ ป์โตเลมีได้กล่าวถึงชื่อ Malaiou ในหนังสือ Guide to Geograhy[4] ซึ่งเขารวบรวมข้อมูลมาจากบันทึกและคำบอกเล่าของบรรดาพ่อค้าชาวอาหรับและอินเดียในสมัยนั้นและก่อนหน้านั้น โดยส่วนหนึ่งก็อาจมาจากปากคำของนักเดินเรือชวา-มลายูเอง เนื่องจากปรากฏในหนังสือชื่อ Natural History (ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ) เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันนามว่า Pliny the Elder (ปลีนีผู้พี่ หรือปลีนีผู้อาวุโส) กล่าวว่า มีนักเดินเรือชาวชวา-มลายูเกี่ยวข้องทางการค้ากับชายฝั่งตะวันออกของอาฟริกาในศตวรรษที่ 1 อยู่ก่อนแล้ว[5]
Britannica (สารานุกรมบริตันนิกา) ฉบับเดียวกันนี้สันนิษฐานว่า คำว่า Malaiou และคำที่คล้ายๆ กันนี้อาจหมายถึงดินแดนและอาณาจักรที่อยู่ในคาบสมุทรสุมาตราซึ่งเรียกว่า Malayu (มาลายู) แต่ในปัจจุบันใช้และสะกดรูปคำเป็น Melayu (มลายู) ในขณะที่คำว่า Labadiou ในเอกสารเดียวกันน่าจะหมายถึงเกาะชวา
น่าสนใจที่ว่า อีกพันกว่าปีต่อมา มาร์โคโปโล (Marco Polo มีชีวิตระหว่าง ประมาณ ค.ศ.1254 – ค.ศ.1324) ก็อ้างถึงดินแดนแห่งหนึ่งชื่อ Malauir ซึ่งคล้ายกับ Malaiou ที่ป์โตเลมีเรียก แต่มาร์โคโปโลระบุว่าดินแดนนี้ (ในสมัยมาร์โคโปโล) ตั้งอยู่ทางใต้ของคาบสมุทรมลายู ไม่ใช่บนคาบสมุทรสุมาตรา[6]
แม้ว่าข้อมูลนี้อาจคลาดเคลื่อน จากการตรวจสอบ “บันทึกการเดินทางของมาร์โคโปโล”[7] มาร์โคโปโลกล่าวถึง Malaiur ว่าเป็นเกาะที่ก่อร่างเป็นอาณาจักร ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่า น่าจะเป็นเกาะ ‘ตมาซิก’ (Temasik) หรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน ประเด็นนี้จะกล่าวถึงต่อไป
จากสมัยป์โตเลมีเราต้องรออีกถึงห้าร้อยปีต่อมาจึงพบชื่อ ‘มลายู’ อีกครั้ง คราวนี้ชื่อนี้ปรากฏในบันทึกจีนโดยพระอี้จิง (I-Tsing: ค.ศ.635-ค.ศ.713) และในบันทึกจีนอื่นๆ อีกจำนวนมากเรียกชื่อเมืองเมืองหนึ่งว่า Ma-La-Yu หรือ Mo-louo-yu โดยเชื่อกันว่า น่าจะเป็นดินแดนเดียวกับที่ป์โตเลมีเรียกผ่านคำบอกเล่าของพ่อค้าอาหรับและอินเดียว่า Malaiou แต่เวลานั้น ‘มลายู’ เป็นเพียงชื่อเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่ง อยู่ห่างจากปาเล็มบัง ศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัยบนคาบสมุทรสุมาตราไปทางใต้ประมาณ 300 กิโลเมตร
บันทึกจีนสมัยศตวรรษที่ 7 (ร่วมสมัยกับพระอี้จิง) มีการอ้างถึงน้ำแร่จากอาณาจักร Mo-lo-yeu และมีการอ้างถึงชื่อ Ma Li Yi Er และ Wu Lai Yu ด้วย นอกจากนี้เอกสารจีนยังบันทึกชื่ออื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันนี้อีก อาทิ Mo-lo-yu, Molo-yoou, Mali-yu-eul, Ma-lo-yu, Mo Lou Yu, Mo Lo Yu และ Mo Lou Yuu เป็นต้น
พระอี้จิงที่กล่าวถึงนี้เป็นพระภิกษุจีนนิกายมหายาน ท่านได้เขียนเล่าในบันทึกว่าได้แวะพักที่ Molo-yoou หรือ Ma-La-Yu เป็นเวลา 6 เดือนในปี ค.ศ.671 เพื่อเรียนภาษาสันสกฤต ก่อนเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่เมืองนาลันทา อินเดีย โดยช่วงขากลับนั้น พระอี้จิงได้แวะพักที่นี่อีก แต่คราวนี้ท่านบันทึกว่า Ma-La-Yu หรือ Mo-louo-yu ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของศรีวิชัยเสียแล้ว
อันเนื่องมาจากเมืองที่พระอี้จิงอาศัยเป็นจุดแวะพักทั้งขาไปและขากลับจากเมืองจีนและชมพูทวีปนั้น ปรากฏว่า Mo-louo-yu ขณะนั้นเป็นเพียงชื่อเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำชื่อเดียวกันนี้ จึงมีผู้สันนิษฐานว่า เมืองนี้ตั้งชื่อตามชื่อแม่น้ำดังกล่าว แต่เมื่อดูจากชื่อเสียงของมลายู ซึ่งเป็นที่รู้จักย้อนอดีตไปไกลถึงสมัยของป์โตเลมี คือไม่น้อยกว่าห้าร้อยปีก่อนหน้านั้นอีก คำว่า ‘มลายู’ จึงไม่น่าจะเป็นหรือมีตัวแทนเป็นเพียงเมืองเล็กๆ หรือแม่น้ำสายเล็กๆ ใกล้จัมบี (Jambi) ดังที่ถูกระบุชื่อในสมัยของพระอี้จิง
ในบันทึกการเดินทางของมาร์โคโปโล (The Travels of Marco Polo) เล่ม 3 บทที่ 8 แปลโดย Henry Yule[8] กล่าวถึง Malaiur ว่าเป็นเกาะที่ก่อร่างเป็นอาณาจักร (an Island which forms a Kingdom) เรียกว่า Malaiur มีกษัตริย์ปกครองของตัวเอง ใช้ภาษาที่แปลก เป็นเมืองที่สวยงาม เป็นศรีสง่า การค้าเจริญรุ่งเรือง สามารถหาเครื่องเทศได้ทุกชนิด รวมทั้งมีข้าวของจำเป็นในชีวิตอย่างครบครัน จึงมีคนคิดว่า Malaiur (ในช่วงนั้น) อาจตั้งอยู่บนเกาะสิงคโปร์[8]
ความเห็นเรื่องที่ตั้งของ Malaiou (และชื่ออื่นๆ ที่คล้ายๆ กันนี้) มีทั้งที่กล่าวว่าตั้งอยู่บนฝั่งสุมาตรา บ้างก็ว่าอยู่บนคาบสมุทรมลายู ขึ้นอยู่กับแต่ละยุคแต่ละสมัย เข้าใจว่าชื่อนี้เป็นที่แพร่หลายพอสมควร ตัวอย่างเช่นความเห็นของศาสตราจารย์ชเลเกล ซึ่งเน้นใช้เอกสารจีนใน Geog. Notes, IV ของเขา ชเลเกลพยายามพิสูจน์ว่า Maliur กับ Tana-Malayu (ปัจจุบัน: Tanah Melayu/แผ่นดินมลายู) ไม่ใช่ชื่อเดียวกัน เป็นคนละเมืองกัน
เขากล่าวว่า Maliur อาจจะอยู่บนฝั่งตรงกันข้ามเกาะสิงคโปร์ หรืออาจอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ไปเล็กน้อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของมะละกาในปัจจุบัน ส่วน Tana-Malayu นั้นอาจตั้งอยู่ในเขต Asahan บนฝั่งตะวันออกของสุมาตรา[9]
ในทัศนะของผู้เขียนเชื่อว่า ชื่อทั้งสองและที่ตั้งที่ต่างกันคนละแห่งเป็นไปได้ทั้งคู่อย่างแน่นอน เนื่องจากชื่อ Melayu หรือชื่อที่คล้ายๆ กันนี้เป็นที่แพร่หลายอย่างกว้างขวาง สามารถปรากฏในที่ต่างๆ ได้หลายๆ แห่งพร้อมๆ กัน ทั้งที่ร่วมยุคกันหรือต่างยุคต่างสมัย เนื่องจากชื่อ ‘มลายู’ ได้กลายเป็นวัฒนธรรมร่วมของผู้คนทั้งสองฟากฝั่งช่องแคบมะละกาไปแล้ว ไม่ว่าจะในเรื่องภาษา คติความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งความสัมพันธ์ทางสายโลหิตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏในตำนานและวรรณคดีท้องถิ่นมากมายของดินแดนแถบนั้น
องค์ประกอบเหล่านี้ได้หล่อหลอมกลายเป็นสายวัฒนธรรมที่เป็นหนึ่งเดียว ในขณะที่ลักษณะความเป็นพื้นถิ่นของชนเผ่า (tribes) ไม่อาจต้านทานกระแสใหญ่ของวัฒนธรรมร่วมของความเป็น ‘มลายู’ อันมีพื้นฐานของตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนร่วมกัน ประจักษ์พยานก็คือ อารยธรรมมลายู-พุทธศรีวิชัยอันยิ่งใหญ่นั่นเอง [10] (โปรดอ่านตอนต่อไป)
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง :
[1] http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=11&s_id=8&d_id=7 Retrieved: 30 Jul 2011.
[2] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 1 เรื่อง การใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ โปรดดู http://www.gotoknow.org/blog/bookish/245647 Retieved: 30 Jul 2011.
[3] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 3 เรื่อง การเรียกชื่อชาวไทยโปรดดู http://www.gotoknow.org/blog/bookish/245647 Retrieved: 30 Jul 2011.
[4] และ [5] โปรดดูได้จากแผ่นซีดี Encyclopædia Britannica 2005 ในหัวข้อ Indonesia หรือดูแบบออนไลน์ได้จาก http://www.britannica.com/EBchecked/topic/286480/Indonesia/214196/History?anchor=ref170835 Retrieved: 28/7/2011.
[6] http://www.sabrizain.org/malaya/malays4.htm Retrieved 28/7/2011.
[7] [8] และ [9] http://en.wikisource.org/wiki/The_Travels_of_Marco_Polo/Book_3/Chapter_8 Retrieved: 28 July 2011.
[10] อาณาจักรศรีวิชัย ระหว่างศตวรรษที่ 7-14 เป็นผู้เผยแพร่อารยธรรมมลายู-พุทธศรีวิชัยอย่างกว้างขวาง โปรดดูแผนที่ (2) ประกอบ
บรรยายภาพ :
1 โลกและแผนที่โลก โดย ป์โตเลมี (Ptolomy)
2 อาณาจักรศรีวิชัย (รูปประกอบจาก Wikipedia)
3 เจ้าสาวปาเล็มบังในอารยธรรมมลายู-พุทธศรีวิชัย