เจาะประเด็น! เด้ง“สุวิจักขณ์-อรรถพล-สุรชัย”เข้ากรุ
เปิดเบื้องหลัง “สุวิจักขณ์ – อรรถพล – สุรชัย” ทำไม “คสช.” สั่งโยกย้ายเด้งเข้ากรุ มีข้าราชการคนไหนอีกบ้างที่ถูก “คสช.” จับตาอยู่ ?
ถึงคิวไล่ “เช็คบิล” ข้าราชการ !
ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 62/2557 สั่งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง 3 ราย ประกอบด้วย
1.นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาปฏิบัติหน้าที่ ที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และให้รองเลขาธิการสภาฯที่อาวุโสสูงสุดปฏิบัติหน้าที่แทน
2.นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด มาปฏิบัติหน้าที่ ที่สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี และให้นายตระกูล วินิจนัยภาค รองอัยการสูงสุด รักษาราชการแทน
และ 3.นายสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) มาปฏิบัติหน้าที่ ที่สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี และให้นางเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงไอซีที รักษาราชการแทน
(อ่านประกอบ : "พล.อ.ประยุทธ์" สั่งเด้ง "อัยการสูงสุด-เลขาฯสภา-ปลัดไอซีที" เข้ากรุ )
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงรวบรวมเส้นทางชีวิตข้าราชการของทั้ง 3 คน มานำเสนอ เพื่อให้เห็นภาพว่าเหตุไฉน "คสช." จึงสั่งเด้งสายฟ้าแลบ
“สุวิจักขณ์” นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ก็ถูกโจมตีด้านลบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการใช่งบประมาณของรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นงบการเดินทางไปต่างประเทศ หรือปรับปรุงอาคารสถานที่
ประเด็นร้อนสุดหนีไม่พ้น กรณีการจัดซื้อจัดจ้างนาฬิกาแขวนผนังจำนวน 200 เรือน รวมมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท ที่ถูกมองว่าราคาดังกล่าวสูงเกินจริง แถมยังไม่มีราคากลางอีกด้วย
นอกจากนี้ยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นปล่อยให้ "นักการเมือง" แต่งตั้ง "เครือญาติ-คนสนิท" เข้ามาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ในหลายชุด ซึ่งในแต่ละชุดจัดการประชุมหลายครั้งต่อสัปดาห์ จนทำให้ได้รับเบี้ยเลี้ยง-เบี้ยประชุม กันหลักแสนบาทต่อเดือน
“อรรถพล” ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดแทน "จุลสิงห์ วสันตสิงห์" อดีตอัยการสูงสุดที่เกษียณอายุราชการ โดย "จุลสิงห์" ขึ้นดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโสแทน
ผลงานชิ้นโบว์แดงของ "อรรถพล" หนีการสั่งฟ้อง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ในคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ทั้งที่สำนวนจาก "กรมสอบสวนคดีพิเศษ" (ดีเอสไอ) ถูกทักท้วงจากหลายฝ่ายว่าสำนวนยังอ่อนอยู่หลายจุด
ซึ่ง "อรรถพล" โดนโจมตีอย่างหนัก เพราะสั่งฟ้อง "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ในวันที่ 28 ตุลาคม 2556 ทั้งที่ในช่วงตลอดเดือนตุลาคม พรรคเพื่อไทยพยายามผลักดัน "พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ฉบับสุดซอย ให้มีผลบังคับใช้ให้ได้
"อรรถพล" จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจรับใบสั่งจากใครบางคน ฟ้องเพื่อบีบให้ "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ยอมรับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อนิรโทษกรรมให้บุคคลทุกกลุ่ม-ทุกสี ก็เป็นได้
ซึ่ง "อรถถพล" ถูกมองว่ามีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับ “ชัยเกษม นิติสิริ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอดีตอัยการสูงสุด นั่นเอง
เหตุผลหลักที่ "คสช." เด้ง "อรรถพล" เพราะต้องการให้คดีความที่จะมีการฟ้องร้อง "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" เดินหน้าอย่างสะดวกโยธิน ไม่ติดกั๊ก-ข้อมูลไม่รั่ว ซึ่งหากจะมีย้าย "อรรถพล" หลังองค์กรอิสระชงคดีถึงมือ "อัยการ" คงจะสายเกินไป
“สุรชัย” ถูกโยกห้ามห้วยจากกระทรวงมหาดไทย ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ให้ดำรงตำแหน่ง "ปลัดไอซีที" ซึ่ง "ครม.ยิ่งลักษณ์" ให้เหตุผลว่า "สุรชัย" มีผลงานด้านเทคโนโลยี เพราะสามารถทำให้จังหวัดนครนายก เป็นจังหวัดนำร่องโครงการสมาร์ทไทยแลนด์ได้
แต่อาจจะเป็นเพียงเหตุผลที่ใช้อ้างเพื่อความชอบธรรม วิจารณ์กันหนักว่า "สุรชัย" เป็นเด็กในคาถาของ "เจ๊กทม." ของ "พรรคเพื่อไทย" ซึ่งสนิทรักใคร่กันอย่างดีกับ “อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที)
เหตุผลหลักที่ "คสช." ตัดสินใจเด้ง "สุรชัย" ชนิดสายฟ้าแลบ เพราะ "สุรชัย" พยายามผลักดันโครงการวางโครงข่ายโทรคมนาคมทั่วประเทศ โครงการระบบอินเตอร์เน็ตไร้สาย (ไวไฟ) หมู่บ้าน เป็นต้น ซึ่งใช้งบประมาณหลายพันล้าน โดยไม่ปรึกษา "คสช."
เหตุผลรองอีกข้อที่ คสช. จำเป็นต้องเด้ง "สุรชัย" ออกจากตำแหน่ง อาจเป็นเพราะ "คสช." ต้องการคนที่ไว้ใจได้-ทำงานเป็น มานั่งคุมกระทรวงไอซีที เนื่องจากที่ผ่านมายังมีความเคลื่อนไหวของ "กลุ่มต่อต้านรัฐประหาร" ผ่านทางโซเซี่ยลอยู่มากมาย รวมถึงความเคลื่อนไหวของ "กลุ่มหมิ่นสถาบัน" ด้วย
"คสช." จึงจำเป็นต้องเช็กบิล ล้างบางกระทรวงไอซีทีเพื่อนับหนึ่งจัดวางระบบกระทรวงไอซีทีเสียใหม่ทั้งหมด
หลังจากนี้ต้องจับอย่างใกล้ชิดว่าคสช.จะเด้งบิ๊กข้าราชการสายอำนาจเก่าคนไหนเพิ่มเติมอีก เพราะยังมีคนที่อยู่ในลิสต์อีกหลายคน แต่ยังสงวนท่าทีเพื่อรอดูผลงาน-รอดูความเคลื่อนไหวก่อน
ถูกจับตามองมากที่สุดก็คือ “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่ถูก “พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและความยุติธรรมของ คสช. ที่สั่งการให้เร่งดำเนินการปราบปรามยาเสพติด โดยขีดเส้นตายเตรียมประเมินผลงานใน 1 เดือน
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปลัดกระทรวงต่าง ๆ เช่น "รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์" ปลัดกระทรวงการคลัง เด็กในคาถา "นายใหญ่" และบรรดา "บิ๊กกระทรวงคลัง" อธิบดีกรมต่างๆ ในสายของ "เบญจา หลุยเจริญ" อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึง "ศรีรัตน์ รัษฐปานะ" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คนในสนิทชิดเชื้อของ "ยรรยง พวงราช" อดีตรัฐมนตรช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นับจากนี้ต้องจับตาดู ใครจะถูกเชือดรายต่อไป?
อ่านประกอบ : อัยการสูงสุด ยังงงอยู่! ถูก "คสช." สั่งเด้งเข้ากรุ ยันเป็นคนไม่มี "ค่าย-สี"