ขยายผล 4 จังหวัด 'เเม่ฮ่องสอนโมเดล' เชื่อมข้อมูลเด็กพิการด้อยโอกาส
สสค. จับมือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และจ.แม่ฮ่องสอน ขับเคลื่อนต้นแบบ ‘แม่ฮ่องสอนโมเดล’ พัฒนาระบบสารสนเทศเชื่อมโยงส่งต่อข้อมูลเด็กด้อยฯ ทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน
เร็ว ๆ นี้ ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 34 อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมสำนักงานการศึกษาพิเศษ องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเวทีเสวนาบทเรียนการขยายผล ‘แม่ฮ่องสอนโมเดล’
ซึ่งเป็นระบบการช่วยเหลือเด็กพิการด้อยโอกาส โดยอาศัยระบบสารสนเทศเชื่อมต่อส่งข้อมูลพิการเด็กด้อยโอกาสให้ได้รับการดูแล จาก 4 หน่วยงานหลักในพื้นที่ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานพยาบาล ศูนย์การศึกษาพิเศษ และหน่วยงานสังกัดพ.ม.เพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ซึ่งล่าสุดได้ขยายผลไปยัง 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พิษณุโลก อำนาจเจริญ และน่าน
“จ.แม่ฮ่องสอนมีเด็กพิการในวัยเรียน ประมาณ 1,000 คน และมีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเดือนละ 2 คน ซึ่งหมายถึงการสูญเสียคนอย่างน้อย 3-5 คนในการดูแลเด็กเพียงคนเดียว ซึ่งปัจจุบันมีเยาวชนเพียง 1 ใน 3 ของจังหวัดเท่านั้นที่เข้ารับบริการขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดให้ได้” สุทธา สายวาณิชย์ รองผู้ว่าราชการ จ.แม่ฮ่องสอน อธิบายถึงที่มาการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กพิการด้อยโอกาส จ.แม่ฮ่องสอน
ผู้ว่าฯ จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวต่อว่า จังหวัดใช้อ.แม่สะเรียงเป็นพื้นที่นำร่อง ภายใต้ชุดโครงการวิจัยหลักประกันโอกาสทางการศึกษา โดยมี สสค.และมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้ามาจุดประกาย จนเป็นที่มาของการขยายผลยกระดับสู่ ‘แม่ฮ่องสอนโมเดล’ ซึ่งปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดศูนย์ดังกล่าวที่อ.ปายแล้ว
ทั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันทั้งในระดับท้องถิ่น และจังหวัด มิใช่เพียงภาพความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ในช่วงข้ามคืน โดยมีการระดมทุนขั้นต่ำจำนวน 1.5 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างแรงบันดาลใจแก่พื้นที่อื่นให้ลุกขึ้นมาช่วยเหลือเด็กเยาวชนของตนในพื้นที่
พะโยม ชิณวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เปิดเผยผลประมวลล่าสุดของดร.นิโคลัส เบอร์เนตต์ อดีตผู้บริหารระดับสูงของ UNESCO และธนาคารโลกพบว่า หากเราช่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่หลุดออกจากระบบการศึกษาคืนสู่ห้องเรียนได้ จะช่วยให้ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GPD) สูงขึ้นราว 3% ซึ่งเท่ากับการเติบโตของประเทศไทยในแต่ละปี
ซึ่งในปัจจุบันมีเด็กนักเรียนพิการในการดูแลจำนวน 340,000 คนทั่วประเทศ ประกอบด้วยเด็กพิการด้านต่าง ๆจำนวน 3 แสนคน และเด็กด้อยโอกาสที่ได้รับการสงเคราะห์จำนวน 4 หมื่นคน ซึ่งครอบคลุมเด็กพิการได้ร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการที่ยังไม่ครอบคลุม
ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ระบุต่อว่า การเปิดศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กพิการด้อยโอกาสที่ตั้งขึ้นที่อ.แม่สะเรียง อ.ปาย และอ.ปางมะผ้าจึงเป็นนวัตกรรมท้องถิ่น ซึ่งมีเป็นความพยายามร่วมกันหาทางออกให้เด็กพิการด้อยโอกาสที่ยังเข้ารับบริการไม่ทั่วถึง โดยจะมีความพยายามขยายศูนย์ให้ครบทุกอำเภอทั่วประเทศ จำนวน 787 แห่ง เพื่อตั้งให้เป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้ 1 ศูนย์ 1 อำเภอ’ โดยมี ‘แม่ฮ่องสอนโมเดล’ เป็นต้นแบบในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น
“หากในหน่วยงานในพื้นที่มีความเข้มแข็ง สถานศึกษาในพื้นที่ก็จะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว นับเป็นนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อสำนักบริหารงานศึกษาพิเศษในการขับเคลื่อนขยายผล และการตั้งงบประมาณสนับสนุนในระบบได้อย่างเหมาะสมต่อไป” ผอ.พะโยม ทิ้งท้าย
ขณะที่ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. มองการเปิดศูนย์ที่ปางมะผ้าเป็นการเน้นย้ำว่า ทั้งองค์กรในระดับประเทศ และองค์กรระดับนานาชาติ มีความมั่นใจในทิศทางการทำงานในลักษณะที่ดึงเด็กที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษา เข้ามาสู่ระบบให้ได้ โดยที่ใช้ท้องถิ่นเป็นฐานในการสนับสนุนการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ผ่านสำนักการบริหารงานพิเศษ ที่มีศูนย์การศึกษาพิเศษดูแลอยู่ 77 ศูนย์ทั่วประเทศ
ซึ่งเป็นการประกาศให้เห็นว่า ถ้าจังหวัดใดที่สนใจขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กเยาวชนในพื้นที่ของเขา ก็สามารถลุกขึ้นมาทำได้เอง เพราะกลไกทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระเบียบกฎหมายทุกอย่างเอื้ออำนวยให้สามารถทำได้ เพื่อขยายผลสร้างโอกาสในการเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆได้ในอนาคต .