เปิดรายงานดับไฟใต้ยุค "ทวี" ยันบูรณาการดี จับมือดัน426โครงการพัฒนา
ในขณะที่หน่วยงานด้านความมั่นคงบางหน่วยมองว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของภาครัฐยังไม่เป็นเอกภาพ โดยเฉพาะบทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ค่อนข้างสวนทางและไม่ค่อยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
อีกทั้งตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.ศอ.บต.) กำหนดอำนาจหน้าที่ให้ ศอ.บต.มีสถานะเทียบเท่า กอ.รมน. แต่แยกรับผิดชอบงานด้านการพัฒนาและอำนวยความยุติธรรม เป็นแท่งการบริหารควบคู่กับ กอ.รมน.ที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง)
ปัญหาดังกล่าวนี้ทำให้มีบางหน่วยเตรียมเสนอโครงสร้างใหม่ในช่วงฝุ่นตลบหลังการรัฐประหาร ยกระดับให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยในระดับพื้นที่ เพื่อให้สามารถควบคุมยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ทว่าหากย้อนไปดูรายงานสรุปสถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2556 ซึ่ง ศอ.บต.จัดทำขึ้นตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ที่กำหนดให้ ศอ.บต.จัดทำสรุปสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีทุกปี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเสนอรัฐสภาเพื่อทราบนั้น กลับปรากฏว่าในรายงานไม่มีการระบุถึงปัญหาความไม่มีเอกภาพระหว่างหน่วยงาน ซ้ำยังยืนยันว่าการแก้ปัญหามีพัฒนาการเชิงบวกหลายประการ ซึ่งเป็นผลจากการบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รายงานฉบับนี้อาจถือได้ว่าเป็นผลงานสุดท้ายของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ก่อนจะถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งย้ายออกจากตำแหน่งเพื่อวันที่ 24 พ.ค. หลังการยึดอำนาจเพียง 2 วัน โดย พ.ต.อ.ทวี ได้ส่งรายงานให้ ครม.รักษาการพรรคเพื่อไทยเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค.
เนื้อหาในรายงานสรุปตอนหนึ่งว่า ในรอบปี 2556 เกิดการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ที่เป็นพัฒนาการเชิงบวกต่อการพัฒนาหลายประการ ที่สำคัญ ได้แก่
1.การลดลงของเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่หมู่บ้าน โดยในปี 2555 มีหมู่บ้านเกิดเหตุความไม่สงบจำนวน 273 หมู่บ้าน จาก 2,917 หมู่บ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดเป็นร้อยละ 9.36 ของหมู่บ้านทั้งหมด และหมู่บ้านเกิดเหตุได้ลดลงในปี 2556 เหลือเพียง 74 หมู่บ้าน หรือลดลงจากปี 2555 ถึงร้อยละ 72.89 โดยพื้นที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นเส้นทางสัญจรของหน่วยกำลังความมั่นคงในการปฏิบัติภารกิจ เช่น การลาดตระเวนเส้นทาง หรือเส้นทางการเข้าออกฐานปฏิบัติการ และพื้นที่ที่หน่วยกำลังใช้เป็นประจำ
เป็นไปได้ว่าเป้าหมายการก่อเหตุรุนแรงมุ่งโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าประชาชน และการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในเขตชุมชนเมืองย่านเศรษฐกิจลดลงด้วย
2.ความสูญเสียลดลง ข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการเยียวยาจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา พบว่า การเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในปี 2556 ในห้วงระหว่างการดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ ได้ลดลงจากปี 2555 และปีอื่นๆ อย่างมาก กล่าวคือในปี 2556 มีประชาชนเสียชีวิต 122 ราย เป็นการสูญเสียน้อยที่สุดในรอบ 10 ปีนับแต่ปี 2547 และลดลงจากปี 2555 ที่มีประชาชนเสียชีวิต 189 ราย หรือลดลงร้อยละ 35.45
การลดลงของเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดในหมู่บ้านและการสูญเสียของประชาชน เป็นผลสืบเนื่องมาจากประชาชนในพื้นที่มีการตื่นตัวมากขึ้น มีความสามัคคี มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ประกอบกับแนวทางการบูรณาการงานด้านความมั่นคง (กอ.รมน.) การบริหารงานของจังหวัด และด้านการพัฒนา (ศอ.บต.) ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสริมสร้างความปลอดภัยและความเข้มแข็งของชุมชน หมู่บ้าน ตำบล โดยสนับสนุนงบประมาณให้กับสถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อใช้ในกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งและร่วมสร้างสันติสุข ภายใต้กรอบแนวคิด "สันติสุขอยู่ที่หมู่บ้าน"
3.กระแสการตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบและการพัฒนาสูงขึ้น โดยภายหลังการริเริ่มกระบวนการสันติภาพตามนโยบายระดับชาติ ได้เกิดกระแสการตื่นตัวของประชาชนในการรณรงค์คัดค้านการใช้ความรุนแรงที่กว้างขวางมากขึ้น มีการเปิดเวทีพูดคุยให้ผู้มีส่วนได้เสียกับสถานการณ์ในพื้นที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่อาจต่างจากมุมมองของรัฐ ได้นำไปสู่ข้อริเริ่มที่หลากหลายในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง ทั้งในมิติการเมือง การปกครอง วิถีวัฒนธรรม การศึกษา และการพัฒนา
ส่วนการบริหารราชการ นโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการที่ดำเนินการในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีความชัดเจนและเป็นเอกภาพ โดยสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบในด้านการพัฒนาให้กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานอื่นของรัฐที่ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 9,525 ล้านบาทเศษ มีการบูรณาการแผนงานและโครงการในด้านการพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการ จำนวน 426 โครงการ
ทั้งนี้ ไม่รวมงบประมาณของฝ่ายทหาร ฝ่ายอัยการ และฝ่ายศาล รวมทั้งไม่รวมงบประมาณของกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานอื่นของรัฐที่เป็นงบบริหารราชการตามปกติ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกแสดงการลดลงของจำนวนหมู่บ้านที่เกิดเหตุรุนแรง และจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เทียบระหว่างปี 2555 กับ 2556 จัดทำโดยทีมกราฟฟิก ดีไซน์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ