12 ส.อุตสฯ ขู่ปลดคน 3 แสน ข้าวแกงจาน 75 ก.แรงงาน สำรวจเอสเอ็มอีกระทบค่าแรง 300
ปลัดแรงงานฯ สั่งสำรวจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบปรับค่าแรง 300 บาท ค่าจ้างตามฝีมือเตรียมขยับตาม ด้าน 12 สภาอุตสาหกรรม แจงผลกระทบปิดกิจการ 1,000 ราย เลิกจ้าง 300,000 คน ต้นทุนค่าแรงเพิ่ม 35-40% ต้นทุนอาหารเพิ่ม 40% เสนอ 3 ข้อเรียกร้องรัฐบาลใหม่ทบทวน
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ค่าจ้างกลาง กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมการรองรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ว่าขณะนี้กระทรวงกำลังสำรวจกลุ่มธุรกิจรายย่อย(เอเอ็มอี)ที่จะได้รับผลกระทว่ามีจำนวนเท่าใด และเตรียมวางมาตรการรองรับ เพื่อเสนอรัฐบาลชุดใหม่ และมอบให้อนุกรรมการค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานไปวิเคราะห์ตัวเลขอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแต่ละสาขาว่าควรอยู่เท่าใด ซึ่งเป็นการเตรียมข้อมูลรอไว้หากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานบางสาขายังต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน
ด้าน นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กลุ่มอุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย ตัวแทน 12 สมาคมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าหากรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท จะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ทำให้อาจต้องมีการปิดกิจการกว่า 1,000 ราย หรือกระทบแรงงานในระบบที่อาจจะต้องปลดออกกว่าร้อยละ 30 หรือ 3 แสนคน ซึ่งการใช้มาตรการในการลดภาษีคงไม่สามารถช่วยผู้ประกอบการได้ เนื่องจากจะเป็นการให้ความช่วยเหลือในกิจการที่ได้ผลกำไรเท่านั้น
นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าหากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จะทำให้ต้นทุนอาหารเพิ่มขึ้น 40% ซึ่งจะส่งผลให้ราคาอาหารทั่วไปเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันจานละ 35-40 บาท เป็น 70-75 บาท เช่นเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน ของแต่งบ้าน ผลิตภัณฑ์ไม้ และของเล่น 12 สมาคม
นายวิศิษฎร์ กล่าวอีกว่าควรปล่อยให้ค่าแรงเป็นไปตามกลไกคณะกรรมการไตรภาคี ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ถ้ารัฐบาลต้องการเพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน ควรช่วยเหลือด้านการเงินโดยตรง ไม่ต้องเป็นภาระเอกชน ทั้งนี้หากขึ้นค่าแรงงานระดับนี้จะทำให้ต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น 35-40% กระทบต้นทุนรวม 12-16% ซึ่งการปรับราคาสินค้าระดับนี้ไม่สามารถทำได้ จึงต้องลดต้นทุนด้วยการลดคนงาน โดยสมาชิกในกลุ่ม 12 อุตสาหกรรมจะต้องเลิกจ้างแรงงานทันที 300,000 คน จาก 900,000 - 72,000 คน และยังทำให้สูญเสียความสามารถแข่งขันด้านราคากับต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้ต้องปิดกิจการในที่สุด
ทั้งนี้สมาคมอุตสาหกรรม เตรียมยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาลใหม่ 3 ข้อ คือ 1.หากมีการปรับขึ้นค่าแรงอยากให้ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป 2.ควรพิจารณาผ่านคณะกรรมการไตรภาคี และ 3.รัฐบาลควรใช้มาตรการอื่นๆในการช่วยเหลือแรงงาน แทนการปรับขึ้นค่าแรงในครั้งเดียว .